ชุมพรแล้งหนักสุดในรอบหลายปี กระทบผู้ปลูกทุเรียนกว่า 88 หมู่บ้าน

ภัยแล้ง ชุมพร
รูปภาพสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร

ชุมพรเตรียมตั้งศูนย์ฝนหลวงกู้วิกฤตภัยแล้งหนักสุดในรอบหลายปี กระทบเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ในเขตพื้นที่อำเภอสวี จำนวน 88 หมู่บ้าน

วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร่วม 3 เดือน ทั้งลำห้วย คลองสาธารณะ หลายสายน้ำแห้งขอด ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และในภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวหนักที่สุดในรอบหลายปี

โดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนในเขตพื้นที่อำเภอสวีเดือดร้อน 10 ตำบล จำนวน 88 หมู่บ้าน หนักสุดตำบลทุ่งระยะ นาสัก เขาค่าย เขาทะลุ และอำเภอท่าแซะ ต้นทุเรียนขาดน้ำยืนต้นแห้งตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น

นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำแรงต่ำคลองวิสัย ของหน่วยบริการสวี การประปาส่วนภูมิภาคสาขาหลังสวน ต.วิสัยใต้ อ.สวี จ.ชุมพร ตั้งอยู่ริมคลองวิสัย ติดถนนสายเอเชีย 41 พร้อมด้วย นายพิศิษฐ์ ฤทธิพิชัย นายอำเภอสวี, นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้, นายสมเดช ใจสมุทร ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาชุมพร, ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าสำรวจตรวจสอบสถานการณ์

ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ตอนนี้พื้นที่การเกษตรขาดน้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้จะระดมกำลังมาตั้งฐานที่ชุมพร เพื่อเร่งแก้ปัญหา ในส่วนของจังหวัดได้มีการประชุมคณะกรรมการ และได้เซ็นอนุมัติงบฯเติมน้ำให้ระบบประปาจำนวน 2 โครงการ เนื่องจากว่าปีนี้ฝนหยุดตกและทิ้งช่วงนานมาก ทำให้แหล่งต้นน้ำแห้ง ส่งผลให้ทุเรียน มังคุด ซึ่งกำลังออกผลจำเป็นต้องใช้น้ำมาก เกษตรกรต้องใช้รถบรรทุกน้ำขนจากแหล่งน้ำต่าง ๆ

ขณะที่แหล่งน้ำก็เริ่มแห้งขอด จังหวัดจึงใช้วิธีบริหารจัดการน้ำเป็นเวลาและแบ่งกันใช้ พร้อมกับการทำฝนเทียม และรอฝนตามฤดูที่จะมาถึง ส่วนท้องถิ่น ก็ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา โดยร่วมกับทหาร สาธารณสุข จังหวัด กรมชลประทาน ดำเนินการสูบน้ำ ขุดลอกหน้าฝาย ขุดน้ำแจก ซึ่งได้ระดมกำลังอย่างเต็มที่

โดยพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจนน่าห่วงที่สุดคือ พื้นที่อำเภอสวีและท่าแซะ โดยอำเภอสวี น้ำประปาเริ่มขาดแคลน และอำเภอพะโต๊ะบางส่วน ขณะที่ ชลประทานชุมพร ก็ได้นำรถน้ำเข้าไปช่วยเหลืออำเภอท่าแซะแล้วเช่นกัน

ด้านนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ กล่าวว่า เครื่องบินฝนหลวงขึ้นบินมาหลายช่วงแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสภาพอากาศและพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ฝนที่ตกไม่ตรงกับพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งหลังจากนี้ได้ปรับแผนใหม่ โดยเพิ่มรอบบินมากขึ้นต่อเนื่อง จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ และคาดว่าทางฝนหลวงจะตั้งศูนย์อำนวยการฝนหลวงที่สนามบินปะทิว

ที่ผ่านมาจังหวัดชุมพรไม่เคยประสบภัยแล้งช่วงยาวขนาดนี้มาก่อน จึงเป็นประสบการณ์นำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องมีมาตรการขยายบ่อกักเก็บน้ำของเกษตรกรเองเพิ่ม ส่วนบ่อกักเก็บน้ำสาธารณะรวมในแต่ละพื้นที่ ให้พูดคุยทำประชาคมหาข้อสรุปกับพี่น้องประชาชน ส่วนราชการมีงบฯที่จะช่วยสนับสนุนพิจารณาโครงการเพื่อความเหมาะสม

ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นต้องสำรวจลำน้ำต่าง ๆ ถ้าสามารถเพิ่มความลึกได้ ให้เตรียมดำเนินการไว้รอรับน้ำ เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะได้อยู่ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มากพอ ที่ผ่านมายอมรับว่าแหล่งน้ำตื้นมาก มีน้ำไหลผ่านไปเหลือเพียงเล็กน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเข้าที่ประชุมจังหวัด มอบเป็นภารกิจให้เตรียมการไว้ในระยะยาว

ภัยแล้ง ชุมพร
รูปภาพสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร
ภัยแล้ง ชุมพร
รูปภาพสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร