ชุมพรวิกฤตเอลนีโญแล้งหนัก “ทุเรียน” ขาดน้ำ-ผลผลิตวูบ

ภัยแล้ง-ทุเรียน

ชุมพรวิกฤตเอลนีโญ อากาศร้อน แล้งหนัก สภาพอากาศแปรปรวน ทำน้ำกักเก็บไม่พอ น้ำในคลองธรรมชาติแห้ง กระทบ “ทุเรียน-มังคุด” ขาดน้ำ ทำผลผลิตโค้งสุดท้ายวูบจาก 4 แสนตันเหลือ 3.3 แสนตัน ทำเกษตรกรวิ่งหาน้ำรดกันจ้าละหวั่น ก่อนถึงกำหนดวันเริ่มตัดทุเรียน 4 จังหวัดภาคใต้ “ชุมพร-นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี-ประจวบคีรีขันธ์” ในฤดูผลไม้ปีนี้ 10 มิถุนายน 2566

นางพจณีย์ ริยาพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดการณ์ผลผลิตทุเรียนในฤดูผลไม้ของจังหวัดชุมพรล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 จะมีผลผลิตประมาณ 337,376 ตัน ลดลงจากที่คาดการณ์ครั้งแรกจากดอกที่ออกมาเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ว่าจะมีประมาณเกือบ 4 แสนตัน

โดยสาเหตุที่ผลผลิตลดลงเนื่องจากช่วงเดือนเมษายน สภาพภูมิอากาศร้อน แห้งแล้งมาก และเกษตรกรขาดแคลนน้ำ

ที่จะไปรดต้นทุเรียน ทำให้ดอกหลุดร่วง บางพื้นที่ติดผลแล้ว แต่ผลก็หลุดร่วงอีก ทั้งนี้ ตามขั้นตอนจะมีการคาดการณ์ตัวเลขทุเรียนรอบสุดท้ายกันอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยวช่วงต้นเดือนมิถุนายน แต่ตัวเลขคงไม่แตกต่างกันมากนัก หากเทียบปี 2565 มีผลผลิตทุเรียนเพียง 261,232 ตัน ถือว่าปี 2566 ผลผลิตสูงกว่าปีที่ผ่านมา

“ปี 2565 ฝนตกชุก ทำให้ดอกร่วงในปริมาณ ผลผลิตลดลงจากที่คาดการณ์ ปี 2566 ผลผลิตออกมาก แต่ดอกร่วง สถานการณ์เอลนีโญมากระทบสภาพอากาศร้อนมากกระทบการปลูกไม้ผลและพืชทุกชนิด แม้เกษตรกรจะรดน้ำปกติ ความร้อนทำให้ต้นไม้ปรับตัว การเจริญเติบโตของต้นไม้เกิดการเปลี่ยนแปลง การดูดธาตุอาหารไปเลี้ยงลำต้นไม่เหมือนปกติ เช่น กรณีการเปิด-ปิดปากใบเร็วเกินไป

เนื่องจากอุณหภูมิภายในต้นร้อน ทำให้พืชต้องปรับตัว ทำให้ดอกหลุดร่วง บางทีติดผลแล้ว ผลก็หลุดร่วง พอมีฝนตกบางช่วงได้น้ำมาก็แตกยอด พัฒนาการของต้นจะเติบโต แต่จะสลัดลูกทิ้งเพื่อให้เจริญเติบโตได้ ทำให้ผลผลิตที่เหลืออยู่น้อยลงกว่าที่คาดการณ์ ช่วงเดือนมิถุนายนจะประเมินผลผลิตกันอีกครั้ง แต่คิดว่าจะไม่หนีห่างจากนี้แล้ว”

นางพจณีย์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้เกิดขึ้นเร็วจนเกษตรกรหลายคนตั้งตัวไม่ทัน คลองธรรมชาติบางคลองไม่เคยแห้ง ปีนี้น้ำในคลองธรรมชาติก็แห้ง ทำให้หลายพื้นที่น้ำที่กักเก็บไว้ใช้ไม่เพียงพอ ต้องไปบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในแหล่งอื่น ๆ บางคนไปหาซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน หลายพื้นที่ต่อคิวรถขุดเจาะบาดาล บางสวนนำรถแม็คโครมาขยายพื้นที่สระเพื่อเตรียมเก็บน้ำเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือมีแนวโน้มจะเกิดภัยแล้งหนักต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตอนนี้อยากให้เกษตรกรเตรียมหาแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับไว้ใช้ในสวน ขณะเดียวกันต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

“ตอนนี้เกษตรกรต้องพยายามติดตามข่าวสาร จากที่เรื่องปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนในต่างประเทศว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้สภาพอากาศแปรปรวนต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทย และเกิดขึ้นในจังหวัดชุมพรแล้ว” นางพจณีย์กล่าว

ตาราง ข้อมูลผลผลิต

ข้อมูลการปลูกไม้ผลใน 8 อำเภอ จังหวัดชุมพร แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนรวม 279,254 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 221,768 ไร่ มีผลผลิตรวม 337,376 ตัน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,521 กิโลกรัมต่อไร่ ได้แก่ 1.อำเภอสวี มีพื้นที่ปลูก 63,550 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 71,949 ตัน 2.อำเภอท่าแซะ มีพื้นที่ปลูก 61,723 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 74,639 ตัน 3.อำเภอพะโต๊ะ มีพื้นที่ปลูก 40,174 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 56,786 ตัน

4.อำเภอหลังสวน มีพื้นที่ปลูก 35,790 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 32,176 ตัน 5.อำเภอทุ่งตะโก มีพื้นที่ปลูก 31,072 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 34,577 ตัน 6.อำเภอเมือง มีพื้นที่ปลูก 30,007 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 53,063 ตัน 7.อำเภอละแม มีพื้นที่ปลูก 9,077 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 8,457 ตัน และ 8.อำเภอปะทิว มีพื้นที่ปลูก 7,861 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 5,729 ตัน

แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกมังคุดรวม 47,276 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 46,987 ไร่ มีผลผลิตรวม 53,670 ตัน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,142 กิโลกรัมต่อไร่ ได้แก่ 1.อำเภอหลังสวน มีพื้นที่ปลูก 16,444 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 18,899 ตัน 2.อำเภอพะโต๊ะ มีพื้นที่ปลูก 14,480 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 23,035 ตัน 3.อำเภอสวี มีพื้นที่ปลูก 5,417 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 2,979 ตัน

4.อำเภอทุ่งตะโก มีพื้นที่ปลูก 4,634 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 3,707 ตัน 5.อำเภอเมือง มีพื้นที่ปลูก 3,427 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 3,750 ตัน 6.อำเภอละแม มีพื้นที่ปลูก 1,779 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 1,067 ตัน 7.อำเภอท่าแซะ มีพื้นที่ปลูก 900 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 135 ตัน และ 8.อำเภอปะทิว มีพื้นที่ปลูก 195 ไร่ ปีนี้มีผลผลิต 98 ตัน

นางพจณีย์กล่าวต่อไปว่า ปีนี้แต่ละจังหวัดกำหนดวันเริ่มตัดทุเรียนในฤดูกาลของจังหวัดระนองวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ส่วนจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ กำหนดเริ่มตัดในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 และจังหวัดยะลาเริ่มตัดทุเรียนในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 คาดการณ์ว่าทุเรียนของจังหวัดชุมพรจะมีผลผลิตออกมากที่สุดช่วงระหว่างวันที่ 21-30 มิถุนายน ประมาณ 127,613 ตัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลผลิตของทุเรียนชุมพรไม่ได้มีเฉพาะในฤดูกาล แต่ที่ผ่านมามีเกษตรกรส่วนหนึ่งมีการพัฒนาผลผลิตทุเรียนนอกฤดูกาล ทำให้จังหวัดชุมพรมีทุเรียนออกตลอดทั้งปี