ผวา “เอลนีโญ” ลากยาวถึง 3 ปี กรมชล-ฝนหลวงกางแผนตั้งรับเก็บน้ำ

ผวาคาดการณ์ “เอลนีโญ” ถล่มเอเชีย ไทยรับผลกระทบตั้งแต่กลาง พ.ค. 66 ส่อเค้าลากยาว 3 ปี “กรมชลฯ-กรมฝนหลวงฯ” เร่งปรับแผนเชิงรุกผ่าน 4 มาตรการ เติมน้ำในเขื่อนอ่างให้มากที่สุด เล็งใช้เทคโนโลยี Ground Based Generator ทำฝนหลวงเฉพาะจุดแม่นขึ้น ยังมั่นใจ น้ำเก็บเหลือ 20,000 ล้าน ลบ.ม.

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และแนวทางเตรียมรับมือด้านน้ำ ว่า กรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนเชิงรุกในการบริหารจัดการน้ำ

จากมีการพยากรณ์และคาดการณ์ไว้ว่า เอเชียจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่าปกติ หรือเอลนีโญ ซึ่งจะยาวนานข้ามไปถึงปี 2567 และยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ดังนั้นการวางแผนบริหารจัดการน้ำระยะกลางและยาวเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด

รับมือเอลนีโญลากยาว 3 ปี

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ถึง 30 เม.ย. 2566 เป็นการจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง และช่วงวันที่ 1 พ.ค. 2566 สิ้นสุด 31 ต.ค. 2566 จะเป็นการจัดการน้ำช่วงฤดูฝน

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ บริหารจัดการน้ำตามแผน ส่งผลให้มีน้ำเหลืออยู่ ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566 ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ามีน้ำเพียงพอที่จะจัดการในช่วงก่อนฤดูต้นเดือน พ.ค. แล้งปีนี้ 2566 จึงถือว่าผ่านพ้นไปแล้ว

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล
ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

สำหรับเอลนีโญที่กำลังจะเกิดในประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า จะเริ่มแสดงผลช่วงกลาง พ.ค.-ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ฝนตกต่ำน้อยกว่าคาดการณ์ ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 1,500-1,600 ลูกบาศก์เมตร แม้ว่ากรมอุตุฯจะพยากรณ์ว่า ปี 2566 นี้ ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. และจะสิ้นสุดกลางเดือน ต.ค. แต่ปริมาณฝนจะตกต่ำกว่าค่าปกติ 5% ซึ่งจะสอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญ่

ขณะเดียวกัน ช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย. จะมีพายุหมุนเขตร้อน พัดผ่านทางภาคอีสาน ภาคเหนือ จำนวน 1-2 ลูก เพราะฉะนั้น หากดูรายละเอียดของแต่ละเดือนจะเห็นว่าช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ฝนจะตกประมาณ 40-60% ของพื้นที่โดยประมาณ ส่วนช่วงกลางเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะสอดรับกับปรากฏการณ์เอลนีโญตามที่คาดหมายไว้ และเมื่อเข้าเดือน ส.ค. ฝนจะตกชุกและหมดช่วงกลางเดือน ต.ค.

เตรียมเดินหน้า 4 มาตรการ

การวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 35 ล้านไร่ จะใช้ 4 มาตรการ คือ 1.บริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคตลอดทั้งปีให้เพียงพอ 2.ลำธารและคลองต่าง ๆ ใช้อาคารชลประทานเป็นเขื่อน หรือฝายทดน้ำขึ้นมา เพื่อนำน้ำเข้าสู่แปลงนา หรือพื้นที่เกษตรของเกษตรกรทุกพื้นที่ 3.ส่งเสริมใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำนาปี ส่วนกรณีฝนทิ้งช่วงจะใช้น้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมาเสริม สอดรับการบริหารจัดการน้ำช่วงเอลนีโญ

4.กักเก็บน้ำให้มากที่สุดในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ อ่างขนาดกลาง 430 แห่ง แก้มลิง บ่อยืม หรือแม้แต่คลองระบายตามแหล่งต่าง ๆ เพื่อที่จะเก็บน้ำให้มากที่สุด เพื่อรับมือกับช่วงฤดูแล้งหน้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2566-30 เม.ย. 2567 เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญจะไปกระทบในช่วงนั้นหนักที่สุด

“หากเอลนีโญต้องอยู่กับเราอีก 2 ปี 3 ปี การดูแลการใช้น้ำในระยะกลางและยาวได้เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) วางไว้ 12 มาตรการที่จะบูรณาการแต่ละหน่วยงานร่วมกัน เนื่องจากปีนี้บางพื้นที่ฝนตกชุก

ทำให้น้ำท่วมซ้ำซาก บางพื้นที่แล้งมาก แต่สถานการณ์ปัจจุบันแผนคือ ฤดูฝน จะเก็บน้ำไว้ที่ 100% เต็ม จากเดิม 80-90% และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนต่อเนื่องและถี่ขึ้น โดยมีชลประทานจังหวัดและหัวหน้าฝ่ายส่งช่วยดำเนินการในแต่ละพื้นที่”

เปิดแผนปฏิบัติการฝนหลวง

ด้านนายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น 2 เขื่อนใหญ่ที่เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนของประเทศไทย โดยอาศัยการทำภารกิจตามศาสตร์พระราชา ด้วยการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกน้อย

สำหรับกรมฝนหลวงฯมีแผนการปฏิบัติการดัดแปลงสภาพอากาศปี 2566 ในช่วงภัยแล้ง หรือ เม.ย.ที่ผ่านมา กรมได้เติมน้ำต้นทุนสำรองเก็บไว้กับทุกเขื่อนแล้ว ขณะเดียวกันได้ปรับกลยุทธ์ภารกิจเชิงรุก จากเดิมการทำฝนหลวงจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ เช่น สภาพอากาศที่เหมาะสม ความชื้นสัมพัทธ์ 60% จึงจะรวมเมฆปั้นให้อ้วนแล้วโจมตี

แต่จากนี้ ณ ปัจจุบันความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60% เมื่อกรมประเมินแล้วว่าครบองค์ประกอบก็จะขึ้นบิน อย่างน้อยสามารถก่อเมฆได้ ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยทั่วประเทศปฏิบัติการทุกครั้งที่มีโอกาส

วีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์
วีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์

“เรามีเครื่องบินทำฝนหลวง 32 ลำ และได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ ในการเสริมเครื่องบินให้หากไม่เพียงพอ อยากให้มั่นใจว่าเอลนีโญครั้งนี้กรมมีแผนและเครื่องมือพร้อมในการรับมือ ทั้งเครื่องบิน บุคลากร สารเคมีที่ใช้ทำฝนหลวง”

โดยมี 10 มาตรการที่จะเตรียมแก้ปัญหาภัยแล้ง คือ เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท จัดหาแหล่งน้ำสำรองปฏิบัติการเติมน้ำ จัดสรรน้ำพื้นที่เพาะปลูกพืชภัยแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร น้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สร้างความเข้มแข็งการจัดการน้ำของชุมชน สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนจัดการน้ำ ติดตามและประเมินผลงานเพื่อรายงานต่อ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

อัพเกรดเทคโนโลยีใหม่

ล่าสุดได้นำเทคโนโลยี Ground Based Generator หรือการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ ซึ่งจะเป็นการทำฝนหลวงในลักษณะที่กำหนดให้ฝนตกตรงจุดมากขึ้น เพราะกำกับจากภาคพื้นดิน ขณะนี้ได้เริ่มทำทดลองที่เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนแม่กวงแล้ว

“ที่ผ่านมากรมได้บรรเทาปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ไฟป่า การยับยั้งลูกเห็บตกในพื้นที่ต่าง ๆ และในอนาคตอยู่ระหว่างการทำวิจัยที่จะยับยั้งความรุนแรงของพายุดีเปรสชั่นและไต้ฝุ่น หรือสลายพายุ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่”

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 8 พ.ค. 2566 มีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 43,103 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% (ใช้ได้ 19,165 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งมากกว่าปีก่อน 55 ล้าน ลบ.ม.