วิกฤตเอลนีโญปะทุรอบ 8 ปี โลกร้อนพ่นพิษสินค้าเกษตร

เอลนีโญ

GISTDA เตือนรับมือเอลนีโญในรอบ 8 ปี ชี้ภาวะโลกร้อนกระทบความเร็วรอบถี่และรุนแรงขึ้น อีสานหนักสุด หวั่นฉุดผลผลิตข้าวนาปี 66/67 รอประเมินหลังเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน สมาคมอาหารสำเร็จรูป ห่วงวัตถุดิบพืชไร่ “ข้าวโพดหวาน-สับปะรด” ลด-ราคาพุ่งแน่ กระทบต้นทุนโรงงานจ่อขึ้นราคา

อากาศร้อนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ได้ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือโลกร้อนขึ้น ซ้ำเติมด้วยการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญตามแบบจำลองภูมิอากาศ ซึ่งเชื่อกันว่ากำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

เอลนีโญระดับกลาง-แรง

ดร.ประเมศ แก้วมีศรี นักพัฒนานวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ International Research Institute for Climate and Society (IRI) และ The European Centre for Medium-Range Weather Forecasts ECMWF ทางฝั่งยุโรปมาใช้ประกอบการคาดการณ์พบว่า ปีนี้มีโอกาสที่จะเกิดเอลนีโญ (อุณหภูมิกลางมหาสมุทรร้อนขึ้นมากกว่าปกติ) อีกครั้งในรอบ 8 ปี นับจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015-2016

               

โดยการวิเคราะห์พบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญมีโอกาส 60% ที่จะเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม และมีโอกาส 80% จะเกิดในเดือนสิงหาคม-กันยายน-ตุลาคม 2566 ส่วนความรุนแรงในการเกิดขึ้นครั้งนี้

ดร.ประเมศ แก้วมีศรี
ดร.ประเมศ แก้วมีศรี

หากคิดตามดัชนีเอลนีโญคาดว่า ปีนี้จะเกิดเอลนีโญ่ในระดับปานกลาง หรือระดับ 0.5-1.0 ไปจนถึงรุนแรงมากที่ระดับ 1.5 จากทั้งหมดตามดัชนีที่มี 4 ระดับตั้งแต่ 0-2 แบ่งเป็น ระดับเอลนีโญอ่อน ประมาณ 0.0-0.5 ระดับปานกลาง 0.5-1.0 ระดับรุนแรง มากกว่า 1.5 และระดับรุนแรงมาก มากกว่า 2.5 โดยเอลนีโญ่ระดับรุนแรงมากเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2015-2016 ความแม่นยำในการคาดการณ์จะมากขึ้น ๆ ในช่วงใกล้ ๆ เดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะเกิดเอลนีโญ 100% หรือไม่

“สามปีก่อนหน้านี้คือ ในปี 2019-2022 ประเทศไทยเผชิญภาวะลานีญาหรือฝนตกมาก ซึ่งจะต่างจากเอลนีโญคือ ภาวะฝนทิ้งช่วง ถามว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะรุนแรงขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า จะเกิดเอลนีโญยาวนานขนาดไหน หากเกิดนาน 6-7 เดือนก็มีภาวะฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น

โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับการเกิดเอลนีโญรอบที่แล้ว ซึ่งทาง GISTDA ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมสำรองน้ำที่กักเก็บให้เพียงพอ เพราะอาจจะสร้างความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจในภาคอีสานได้ เช่น พวกข้าวนาปี หรือพืชไร่อื่น ๆ”

มีข้อน่าสังเกตว่า การที่อุณหภูมิโลกมีความการเปลี่ยนแปลง ร้อนขึ้น จะมีผลทำให้เกิดความถี่ในการเกิดเอลนีโญมากขึ้น และยาวนานขึ้น โดยปกติความเร็วรอบของการเกิดเอลนีโญจะอยู่ที่ประมาณ 10 ปี แต่ตอนนี้รอบการเกิดเร็วขึ้นหรือเกิดในช่วง 8 ปี ซึ่งหากภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงก็มีโอกาสที่จะเกิดถี่ขึ้น

4 เขื่อนหลักมีน้ำแค่ 55%

ล่าสุด ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่าในช่วง 1 สัปดาห์ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 44,960 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ของความจุอ่างรวมกันลดลงจากเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่เคยมีปริมาณน้ำรวมกัน 45,874 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 60% ของความจุอ่าง

โดยปริมาณน้ำใช้การได้ 21,020 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,638 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 55% ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,942 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2565/2566 ทั้งประเทศไปแล้ว 24,363 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88% ของแผน (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.)

เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,794 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.36 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว ประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน

“แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 24-26 เม.ย. 66 ในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในส่วนของภาคใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วงนี้

ทำให้มีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่องในบางพื้นที่ ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตาม สภาพอากาศแนวโน้มปริมาณฝนจากสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด” ดร.ธเนศร์กล่าว

ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าการเกษตร

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคต และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปี 2566 ไทยจะเผชิญปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” หลังจากที่ผ่านการเกิดลานีญ่ามา 3 ปีก่อน ซึ่งหมายถึง ความเสี่ยงที่จะเจอภัยแล้ง-ร้อนผิดปกติในช่วงปี 2566-2569 หรือจะเป็นการเกิด “ภัยแล้ง” ในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2566 ที่มีระดับอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส

“ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคเกษตรไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างอุตสาหกรรมอาหาร เพราะอาจจะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง จากปัจจุบันที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนช่วงนี้หายไประมาณ 10% ซึ่งจะทำให้ราคาผลผลิตวัตถุดิบสูงขึ้น บวกกับค่าไฟที่ปรับขึ้นก็กระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าส่งออกปีละ 7.88 แสนล้านบาท จนอาจจะต้องมีการปรับราคาจำหน่ายในการรับออร์เดอร์ต่อไปในช่วงอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า” นายวิศิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเกิดเอลนีโญในปี 2559 (2016) สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมอาหารในปริมาณ 39,574 ตัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรเสียหายไป 14,532 ตัน “เราต้องเตรียมความพร้อม โดยต้องวางแผนการผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่โรงงาน เกษตรกรต้องวางแผนการผลิตและกักเก็บสำรองน้ำสำหรับการเพาะปลูกด้วย”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผลผลิตพืชไร่ที่เป็นวัตถุดิบจะเสียหาย ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมได้ประสานขอความอนุเคราะห์จาก ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยพิจารณาจัดทำฝนหลวงมาช่วยในแหล่งปลูก เช่น สับปะรด ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะแล้งรุนแรง ทำให้พื้นที่ปลูกสับปะรดได้รับผลกระทบอย่างมากนับจากปลายปี 2565 เสียหายประมาณ 40% ส่วนปี 2566 คาดว่าสับปะรดจะมีปริมาณ 1.2 ล้านตัน หรือลดลง 20%

ส่วนข้าวโพดหวาน ทางสมาคมได้ประสาน กรมฝนหลวง เพื่อขอให้มีการจัดทำฝนเทียม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้พร้อมสำหรับฤดูการผลิตต่อไปในช่วงกลางปี เพราะแม้ว่าจะคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีปริมาณ 6.7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2565 ที่มีผลผลิต 4.3 แสนตัน เพราะได้รับผลจากภาวะอุทกภัยช่วงกลางปี 2565 ทำให้ผลผลิตออกมามาก โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานแล้ว 1.7 แสนตัน แต่ก็คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 จากเอลนีโญจะทำให้ฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหาย

กระทบข้าวนาปีแน่

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะกระทบต่อการผลิตข้าวนาปี เนื่องจากอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก หากไม่มีน้ำก็จะกระทบผลผลิต แต่การประเมินว่าจะกระทบต่อการผลิตมากน้อยแค่ไหนยังมองว่า เร็วไป จะต้องรอประมาณ 2-3 เดือนจากนี้ถึงจะสามารถคาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปีได้

“พื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวนาปีมากสุดก็คือ ภาคอีสาน โดยอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก หากน้ำไม่มีก็เชื่อว่าจะกระทบ โดยภาวะปกติแล้วผลผลิตข้าวนาปีจะออกปีละประมาณ 24 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวนาปรังปีละ 8 ล้านตันข้าวเปลือก สำหรับข้าวนาปรังนั้นไม่มีความน่ากังวลเนื่องจากน้ำในเขื่อนมีปริมาณเพียงพอ แต่ภาวะนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ประเทศไทย ประเทศคู่แข่งในการส่งออกข้าวอย่างเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน” นายชูเกียรติกล่าว

สำหรับสถานการณ์ด้านการตลาด พบว่า จีน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, อิรัก, มาเลเซีย ยังมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มสต๊อกภายในประเทศ เนื่องจากกังวลสถานการณ์ปัญหาโลกร้อนและผลผลิตน้อย โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 498 เหรียญสหรัฐ/ตัน ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 1,074 เหรียญ/ตัน การส่งออกสินค้าข้าว 3 เดือนแรกมีมูลค่า 38,066 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.26% (8,616 ล้านบาท) มีปริมาณ 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.48% (321,625 ตัน)

โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อิรัก คิดเป็น 16.38% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (13.08%) สหรัฐอเมริกา (8.62%) แอฟริกาใต้ (8.24%) และเซเนกัล (5.86%)

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวถึงผลกระทบจากเอลนีโญมองได้ 2 ด้าน ด้านแรก คือ ผลผลิตคู่แข่งลดลงทำให้การส่งออกข้าวไทยดีขึ้น ด้านที่สอง คือ ผลผลิตข้าวนาปีไทยจะได้รับความเสียหายจากเอลนีโญมากน้อยเพียงใด โดยขณะนี้สถานการณ์การผลิตอยู่ในช่วงปลายเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังในภาคอีสาน คาดว่าจะใช้เวลาอีก 15 วันเก็บเกี่ยวเสร็จ ปรากฏ “ผลผลิตนาปรังดีมาก” เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่าง ๆ ดี ประกอบกับภาวะการส่งออกดีเพราะหลายประเทศผลิตข้าวได้ลดลง น่าจะมาจากเอลนีโญ

ทำให้ภาพรวมการส่งออกดีขึ้น และราคาส่งออกต่อตันเพิ่มขึ้น 70-80 เหรียญสหรัฐโดยเฉลี่ย เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดีเพิ่มจากปีก่อน ตันละ 1,000 กว่าบาท เช่น ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ปีก่อน 8,000 บาทต่อตัน ปีนี้ได้ 9,000-10,000 บาทต่อตัน ก็จะเป็นแรงหนุนให้มีการเพิ่มการปลูกข้าวนาปี ซึ่งหากในช่วงจังหวะที่เริ่มปลูกเกิดปัญหาเอลนีโญตามที่คาดการณ์ของจิสด้าก็ยังคาดว่า ชาวนาน่าจะยอมลงทุนสูบน้ำบาดาลมาปลูกข้าวเพิ่ม ส่วนความเสียหายต่อผลผลิตหากเกิดฝนทิ้งช่วงในช่วง มิ.ย.-ต.ค. ก็ต้องมาประเมินอีกครั้งว่า จะเกิดหลังจากปลูกได้แล้วหรือไม่

ทุเรียนเริ่มกินน้ำถัง

นางทิพากร นิชานุรักษ์ เกษตรกรชาวสวนทุเรียน จ.จันทบุรี กล่าวว่า ได้เช่าที่ดินขนาด 50 ไร่ ปลูกทุเรียนที่ ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ปลูกทุเรียนประมาณ 1,000 ต้น ตัดผลผลิตไปแล้ว 30 ตัน เหลือผลผลิตอีก 50 ตันที่จะตัดปลายเดือนเมษายนและต้นพฤษภาคม แต่ปรากฏตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนได้ประสบภาวะแห้งแล้ง ต้องซื้อน้ำรดทุเรียนเที่ยวละ 800 บาท (ขนาด 9,000 ลิตร ถ้าบรรทุกน้ำเองจะต้องจ่ายค่าน้ำเที่ยวละ 250 บาท) หมดเงินไป 200,000 กว่าบาท และคาดว่าจะต้องซื้อน้ำต่อไปจนกว่าจะตัดผลผลิตได้

ทางด้าน นายกฤษนล รัตนพันธ์ เกษตรกร ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมากทั้ง อ.ท่าใหม่ และ อ.อื่น ๆ ใน จ.จันทบุรี โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จะเริ่มเห็นภาพต้นทุเรียน “กินน้ำถัง” จากรถบรรทุกน้ำกันแล้ว และในบางพื้นที่ในลุ่มน้ำวังโตนดที่ระบบน้ำยังไปไม่ถึงก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ด้านเกษตรกรพากันแห่ขุดบ่อบาดาลที่จะต้องเจาะลึกถึง 150-200 เมตรจึงจะได้น้ำ ค่าขุดบ่อเพิ่มสูงขึ้นลูกละ 60,000-80,000 บาท

“โซน ต.เขาบายศรี ไม่มีท่อน้ำดิบ แต่กรมชลประทานมีแผนการดำเนินการก่อสร้าง โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในลุ่มน้ำวังโตนด เมื่อปี 2560-2565 ได้อนุมัติโดยหลักการให้ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบการขนส่งน้ำบ้านวังพอก ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็น 1 ใน 15 โครงการ งบประมาณ 250 ล้านบาท หากดำเนินการได้จะแก้ปัญหาภัยแล้งใน อ.ท่าใหม่ได้ และหากไม่เตรียมไว้ ปี 2567-2568 วิกฤตภัยแล้งจะรุนแรงมากกว่านี้” นายกฤษนลกล่าว