
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“การทำ OEM ผลไม้ส่งออกเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำ” คือมุมมองของ “ณธกฤษ เอี่ยมสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท : MA Management Middlesex University สหราชอาณาจักร ได้เข้ามาช่วยบริหารกิจการของครอบครัว
ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกผลไม้มานานกว่า 30 ปี ในนาม “บริษัท ตองแปด ผักผลไม้ จำกัด” จนกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกผักผลไม้
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
ตั้งเป้ารายได้ 6 พันล้านบาท
“ณธกฤษ” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากบริหารธุรกิจของครอบครัวจนประสบความสำเร็จ ตัดสินใจก่อตั้ง “บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด” เพื่อส่งออกผลไม้คุณภาพสูงไปยังต่างประเทศในปี 2553 เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว สู่ตลาดทั่วโลก อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ยุโรป และขยายตลาดส่งออกสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ทุกอย่างตอนนี้ถือว่าดี เราเตรียมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2567 ตั้งใจว่าจะขายหุ้นเพียง 25% เพื่อเพิ่มยอดขาย เพิ่มตลาด และความน่าเชื่อถือ โดยจะลง R&D ในสวนของเกษตรกร ทำให้ได้ผลผลิตเกรด A-B ที่เป็นเกรดส่งออกที่มีจำนวนมากขึ้น ส่วนมาร์จิ้นในปัจจุบันอยู่ที่ 5-7% ตั้งเป้าไว้ที่ 10%
“ปริมาณส่งออกผลไม้รวมเฉลี่ยอยู่ที่ 18,000 ตันต่อปี ล่าสุดยอดขายปี 2565 รวมประมาณ 5,200 ล้านบาท ผลไม้หลักมี 4 อย่าง คือ ทุเรียน 3,300 ล้านบาท ลำไย 1,100 ล้านบาท มังคุด 250 ล้านบาท มะพร้าว 350 ล้านบาท ที่เหลือเป็นอื่น ๆ ประกอบกัน
และในปี 2566 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 6,000 ล้านบาท โดยต้องรักษาคุณภาพไว้ด้วย เราจะทำยอดขายให้มากกว่านี้ก็ได้ เพราะลูกค้าเก่าขอให้เพิ่มปริมาณการส่งออก แต่เราไม่สามารถหาสินค้าที่มีคุณภาพส่งออกให้ลูกค้าได้ ผมคิดว่าจะค่อย ๆ เติบโตขึ้นไป โดยรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มลูกค้าใหม่อย่างมีคุณภาพดีกว่า
บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่จัดหาสินค้าเกษตรโดยมีการทำข้อตกลงกับเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายพันธมิตร และให้ความสำคัญกับคุณภาพ คัดเลือกผลผลิตจากสวนผลไม้ที่มีมาตรฐาน GAP และ Global GAP รับรอง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการของโรงงานที่มีใบรับรองมาตรฐานการผลิต อาทิ HACCP, GMP, GHP, DOA และ Halal
“เมื่อเราส่งออกมากขึ้น ทำให้มีปัญหาด้านการขนส่ง ทำให้ต้องติดต่อประสานงานหารถบรรทุก ติดต่อระวางเรือต่าง ๆ เอง จนรู้ขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ และเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าระบบการขนส่งโลจิสติกส์ผลไม้เริ่มไม่พอ ในปี 2556 ผมจึงแตกไลน์มาให้บริการด้านโลจิสติกส์ควบคุมการจัดส่งแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย”
ปัจจุบันมีบริษัทลูก 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ตองแปดผักผลไม้ จำกัด (888 Fruits & Vegetables) ดำเนินธุรกิจส่งออกผัก ผลไม้ ไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน, ไต้หวัน, ยุโรป 2.บริษัท ตองแปดโลจิสติกส์ จำกัด (888 Logistic) ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ
พร้อมลานโหลดสินค้า มีระบบ ISO 9001 : 2015, ระบบ cold chain 3.บริษัท สกาย ชอร์เทรดดิ้ง จำกัด (Sky Shore Trading) ให้บริการ shipping ระหว่างประเทศ บริการจัดทำเอกสารและเป็นตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร โดยมี certificate ของศุลกากรโลกรับรอง และ 4.บริษัท สกายชอร์ ดีโปท์ จำกัด (Sky Shore Depot) ให้บริการลานรับฝากตู้คอนเทนเนอร์กับผู้ให้บริการด้านการเดินเรือขนส่งสินค้าชั้นนำระดับโลก
“ในจันทบุรีบอกไม่ได้ว่าเราเป็นผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ เพราะสู้ผู้ประกอบการที่เป็นทุนจีน ที่รวมกลุ่มกันมาซื้อผลผลิตไม่ได้ แต่หากนับเป็นบริษัทเดี่ยว ๆ เราเป็นผู้นำในการส่งออกทุเรียนและลำไยอันดับต้น ๆ ของประเทศ โรงงานหรือล้งที่รับซื้อผลไม้ของเรามี 10 แห่งทั่วประเทศ
แบ่งเป็นที่ จ.จันทบุรี 2 แห่ง จ.ระยอง 1 แห่ง จ.ราชบุรี 1 แห่ง จ.ชุมพร 1 แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง จ.ลำพูน 1 แห่ง จ.เชียงใหม่ 2 แห่ง และกำลังสร้างที่ จ.สระแก้วอีก 1 แห่ง เราครองตลาดส่งออกผลไม้ไปประเทศอินโดนีเซียเกือบ 50% ของตลาดส่งออกผลไม้จากไทย และในปี 2555 ได้ขยายมาส่งออกตลาดจีน ที่ความต้องการผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนสูงมาก
ส่งทุเรียนไปจีนตลอดปี
“ณธกฤษ” บอกว่า ตลาดส่งออกทุเรียนไทยได้รับความนิยมสูงในประเทศจีน แต่ละปีที่บริษัทจะเริ่มส่งทุเรียนไปจีนในฤดูผลไม้ภาคตะวันออก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผลผลิตมาจาก จ.ตราด เมื่อถึงกลางเดือนมีนาคมเป็นผลผลิตจาก จ.จันทบุรี หลังจากนั้นผลผลิตมาจากระยอง และเดือนมิถุนายนเป็นทุเรียนใต้ ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทำให้สามารถส่งออกทุเรียนได้ตลอดทั้งปี
เราทำแบรนด์สินค้าของตัวเองกว่า 20 แบรนด์ ในนามบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต เพื่อให้ซัพพลายเออร์แต่ละรายขายแต่ละแบรนด์แยกกันไป จะทำให้เกิดการแข่งขันกระตุ้นยอดขายได้ดี
และในแต่ละเมืองจะกินหรือชอบเนื้อทุเรียนไม่เหมือนกัน ต่อให้มีทุเรียนสดจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่งเข้าไปขายในจีนได้แล้ว เราสามารถส่งออกได้ เพราะทุเรียนไทยยังคงคุณภาพเป็นที่ชื่นชอบของคนจีน ขอแค่ 1.ชาวสวนไม่ผลิตทุเรียนอ่อน และ 2.อย่าโดนกีดกันทางการค้าก็พอ
เรามีแบรนด์ผลไม้เป็นของตัวเอง 1 ลูกค้าต่อ 1 แบรนด์ ซึ่งผมจะไม่รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้กับบริษัทอื่นเด็ดขาด การทำ OEM ผลไม้ส่งออกเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำ เพราะนั่นคือ การฆ่าตัวตาย ! หมายถึงคุณไม่ใช่เจ้าของกิจการ แต่เป็นแรงงานให้คนอื่น
ซึ่งผู้ส่งออกในประเทศไทยหลายรายทำ OEM เป็นจำนวนมาก หากวันหนึ่งเขารู้วิธีการ คุณก็จะหมดความหมาย เพราะเขาจะซื้อผลผลิตที่ไหนก็ได้ ซึ่งคนจีนก็อยากจะขายทุเรียนเหมือนกัน
ด้านช่องทางการส่งออกผลไม้ของบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต มีอยู่ 2 ช่องทางคือ ทางบกโดยรถขนส่ง 20% และทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าต่าง ๆ 80% ซึ่งเป็นช่องทางที่ถูกที่สุด ถูกกว่าทางรถประมาณ 20%
ขณะที่ทางรถไฟจีน-ลาว ก็เคยลองส่งออกไปแล้ว ถือว่ารวดเร็วและราคาดี แต่การเคลื่อนย้ายสินค้าจากรถไฟไทย เพื่อไปขึ้นรถไฟที่ สปป.ลาว เพื่อส่งไปยังปลายทางจีน ต้องเสียเวลาถ่ายโอนสินค้าและทำให้สินค้าเสียหาย
มุ่งพัฒนาคุณภาพ
“ณธกฤษ” เล่าว่า ในอดีตการซื้อขายผลผลิตระหว่างชาวสวนกับโรงงานที่คัดบรรจุและส่งออก ชาวสวนจะส่งผลผลิตด้วยตัวเองตามความพอใจของราคาที่โรงงานกำหนดไว้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นการซื้อขายในลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ชาวสวนไม่ต้องทำอะไรเลย
นอกจากสร้างผลผลิต ทางโรงงานจะมีทีมไปหาถึงสวนเพื่อเจรจาซื้อขายเอง พิจารณาผลผลิตที่มีคุณภาพในระดับเกรดส่งออกให้ พร้อมทั้งตั้งราคาที่สูงกว่าท้องตลาด รวมถึงจ้างแรงงานเข้าไปตัดให้ชาวสวนด้วย
เรามีคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งเป็นจำนวนมาก รวมผลผลิตเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 12,000 ตัน ถ้าชาวสวนไม่มีความรู้ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เราก็มีทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) เข้าไปช่วย คล้ายกับเราร่วมกันพัฒนาคุณภาพไปกับชาวสวนด้วย
ซึ่งทำลักษณะนี้มา 2 ปีแล้ว และสามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิตในการส่งออกได้ดีขึ้น เกรดตกไซซ์ก็น้อยลง โดยราคาจะอิงตามท้องตลาด ณ วันนั้น ถ้าเรากำหนดราคาซื้อไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิต หากราคาตลาดสูงกว่าที่ตกลงกันไว้ เราพร้อมปรับราคาให้เทียบเท่ากับราคาตลาด
สำหรับเงื่อนไขชาวสวนที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับบริษัท ขั้นต่ำในการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องเฉลี่ย 10 ตัน/ครั้งขึ้นไป หรือพื้นที่ปลูกประมาณ 60-80 ไร่ ทางบริษัทสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพได้ โดยเฉพาะการควบคุมเรื่องน้ำให้เพียงพอ และเรื่องดิน เรื่องปุ๋ย
ส่วนเกษตรกรรายเล็กที่เข้ามาเป็นพันธมิตรก็มีบ้าง และแผนงานในอนาคตจะมีกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนที่รวมตัวกันหลาย ๆ ไร่เข้ามาเพิ่ม จะทำให้เราได้ผลผลิตส่งออกเพิ่มขึ้น