“กรีนบัส” แตกไลน์ 4 ธุรกิจ ดัน “กรีน แคปปิตอล” เข้าตลาด mai

สมชาย ทองคำคูณ
สมชาย ทองคำคูณ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

3 ปีนับจากนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “กรีนบัส” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ ภายใต้การบริหารของตระกูล “ทองคำคูณ” เริ่มจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวครั้งใหญ่ ตั้งบริษัทแม่ บริษัท เครือ ชัย พัฒนา เชียงใหม่ จำกัด (Holding Family) แตกบริษัทในเครือใน 2 ฐานธุรกิจหลักหนึ่งคือ ธุรกิจขนส่ง

โดยตั้งบริษัท กรีน แคปปิตอล จำกัด เพื่อเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ (mai) โดยมี 4 บริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด, บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด, บริษัท โชครุ่งทวีทัวร์ จำกัด และบริษัท แฟร์แฟร์ จำกัด

สองคือ แตกไลน์สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการนำที่ดินที่มีอยู่ทั่วภาคเหนือมาเพิ่มมูลค่า โดยจัดตั้ง 3 บริษัทมารองรับได้แก่ บริษัท คำพรพัฒนา จำกัด, บริษัท คำพรแอสเสท จำกัด และบริษัท คำพรเรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งนำร่องเปิดธุรกิจค้าปลีกคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งแรกโครงการ “Greenpark Community Mall” มูลค่าลงทุน 100 ล้านบาท บนที่ดิน 5 ไร่ บนถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงราย

ดันกรีนแคปปิตอลสู่ตลาดหุ้น

นายสมชาย ทองคำคูณ ประธานคณะกรรมการบริหาร และรักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีน แคปปิตอล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังปรับโครงสร้างบริษัทมีความชัดเจนใน 2 ส่วน คือ 1.ธุรกิจขนส่ง และ 2.ธุรกิจใหม่ที่จะนำ สินทรัพย์ของตระกูลมาเพิ่มมูลค่า โดยทางกลุ่มจะนำ “กรีน แคปปิตอล” จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ คาดว่าจะยื่น filing ราวไตรมาส 4 ปี 2568

โดยบริษัท เครือ ชัย พัฒนา เชียงใหม่ จำกัด จะถือหุ้นรายใหญ่ 70% ของกรีน แคปปิตอล ส่วนอีก 30% จะเปิดเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป ซึ่งการระดมทุนจะทำให้สามารถขยายการลงทุนต่อยอดจากรถโดยสารได้มากขึ้น

“การเข้าตลาด mai ถือเป็นจุดเริ่มต้นทั้งที่ยอดรายได้ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท/ปี เราจะเริ่มก้าวเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ก้าวสู่ SET ในอนาคต โดยปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ในส่วนธุรกิจเดินรถโดยสาร 300 ล้านบาท ปี’67เพิ่มเป็น 400 ล้านบาท และปี’68 ต้องทำให้ถึง 500 ล้านบาทก่อนเข้าตลาด”

กรีนบัส

รุกธุรกิจขนส่งทุกมิติ

นายสมชายกล่าวว่า นับจากปลายปี 2565 หลังโควิดคลี่คลาย ธุรกิจขนส่งเดินรถโดยสารประจำทางมีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น อัตราการบรรทุกผู้โดยสารทั้ง 25 เส้นทางอยู่ที่ 70-80% ทั้งเส้นทางภาคเหนือ ภาคกลางและเส้นทางภาคเหนือเชื่อมโยงไปภาคใต้และอีสาน ยอดขาย 25 ล้านบาท/เดือนคาดว่าปี 2566 ยอดขายประมาณ 300 ล้านบาทให้บริการมากกว่า 50,000 เที่ยว/ปี มีผู้โดยสารประมาณ 1,000,000 คน/ปี

โดยแผนงานในการเพิ่มรายได้กลุ่มธุรกิจขนส่งให้ถึง 500 ล้านบาทภายในปี 2568 คือ การเพิ่มธุรกิจขนคนและขนของ ได้แก่

1.การเจาะตลาดขนส่งพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน คาดว่าจะเริ่มในปีนี้

2.บริการรถเช่า รุกเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่เดินทางเป็นหมู่คณะ ทั้งท่องเที่ยว ทัศนศึกษา

3.ธุรกิจ “old care service” บริการดูแลและรับส่งผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล บริการพาท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง พาไปเดินเล่น รับประทานอาหาร รวมถึงบริการรับส่งนักเรียน กรณีพ่อแม่ไม่มีเวลารับส่ง-ติดประชุม เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มปี 2567

4.ธุรกิจ hop-on hop-off มุ่งเข้าสู่ไลน์ธุรกิจท่องเที่ยวเต็มตัว หลังจากชะลอแผนในช่วงโควิด เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวโดยใช้รถบัสบริการนำเที่ยวซิตี้ทัวร์ (hop-on hop-off) ในจังหวัดเชียงใหม่ และแหล่งท่องเที่ยว eco เปิดขายแพ็กเกจพิเศษตั๋วบุฟเฟต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมเตรียมซื้อรถบัสใหม่ (EV) เป็นรถกึ่ง low-floor

ซึ่งจากแนวโน้มของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง (FIT) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นโอกาส โดยเฉพาะแนวโน้มของนักท่องเที่ยวกลุ่ม back pack และกลุ่ม MICE มีมากขึ้น คาดว่าจะเริ่มปลายปี 2566

โดยการทำตลาดทั้งหมด จะดำเนินการโดยบริษัท แฟร์แฟร์ จำกัดเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกรีน แคปปิตอล ซึ่งเป็น segment ที่แตกไลน์มาทำธุรกิจ OTA หรือ online travel agency ให้บริการจองที่พักทั้งโรงแรม รีสอร์ต บ้านพักวิลล่า

รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งบริษัทแฟร์แฟร์จะทำหน้าที่ดูแลการตลาดทั้งระบบของธุรกิจขนส่งในเครือบริษัทกรีน แคปปิตอล พร้อมเป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจบริการที่พัก-ท่องเที่ยว-สายการบิน-รถบัสโดยสารประจำทางกับลูกค้า ซึ่งถือเป็น OTA รายแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะผลักดันให้ยอดขายของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้

ธุรกิจขนส่งยอดพุ่ง 60 ล้าน

นายสมชายกล่าวต่อว่า ธุรกิจขนของ มี green express ให้บริการรับ-ส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัดภาคเหนือและภาคใต้

โดยสินค้าจะถูกส่งไปพร้อมกับรถโดยสารประจำทางของกรีนบัส วันเดียวถึงโดยมีบริการแบบ point to point ที่ลูกค้าต้องมารับสินค้าเองที่สถานีหรือจุดจอดของกรีนบัส ณ ปลายทาง และมีบริการขนส่งสินค้าถึงประตูบ้านลูกค้าแบบ point to door โดยกรีนบัสได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือ บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ที่ให้บริการรับ-ส่งสินค้าภายในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมเป็นพันธมิตรกับ CargoX ซึ่งเป็นบริการขนส่งพัสดุผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งสินค้าหรือพัสดุจากภาคเหนือสามารถส่งไปได้ทุกเส้นทางทั่วประเทศ โดยกรีนบัสใช้โครงข่าย CargoX ส่งต่อสินค้าและพัสดุให้ถึงปลายทาง ปัจจุบันยอดขายในกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้า-พัสดุของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 60% ยอดขายปี 2565 อยู่ที่ 60 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้

งัดที่ 100 ไร่ ปั้น Rest Area

นายสมชายกล่าวต่อว่า อีกแผนงานสำคัญคือ การสร้างธุรกิจใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับรถโดยสาร โดยจะนำ assets โดยเฉพาะที่ดินเก่าเก็บที่มีอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือมากกว่า 100 ไร่ มาต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ โดยโครงการ rest area และ station คือธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนบนที่ดินที่มีอยู่ในภาคเหนือ คาดว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ จะดูความเหมาะสมของที่ดินแต่ละแปลงว่ามีศักยภาพที่จะทำโครงการประเภทใด เช่น ที่ดินที่ “แม่ขะจาน” อาจทำเป็นจุดแวะพักรถโดยสารระหว่างทาง (rest area) ที่จะให้บริการรถโดยสารของกรีนบัส และบริการสำหรับคนทั่วไป มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านของฝากครบวงจร หรือที่ดิน “ในตัวเมืองเชียงราย” อาจทำเป็นสถานี (station+plaza)

ที่ดิน “ที่อำเภอเชียงของ” อาจทำเป็นคลังสินค้าเพื่อรอการกระจายไปยังเส้นทาง R3A ขณะเดียวกันก็มีแผนนำโมเดล “Greenpark Community Mall” ขยายไปในทำเลที่ตรงกับความต้องการของตลาดและมีศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งยังมีที่ดินอีกหลายแปลงที่เชียงใหม่ น่าน ลำปาง และแม่สาย ที่จะต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสมกับธุรกิจประเภทใด รูปแบบการลงทุนจะมีทั้งที่บริษัทลงทุนเอง หรือร่วมลงทุน กับปั๊มน้ำมันแบรนด์ดัง

ทุ่ม 150 ล้าน ซื้อ EV Bus

นายสมชายกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีรถบัสโดยสารประจำทาง (green bus) จำนวน 124 คัน โดยปี 2567 เตรียมนำร่องลงทุนซื้อรถ EV bus หรือรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 20 คัน มูลค่าการลงทุนราว 120-150 ล้านบาท (เฉลี่ยคันละ 6.9 ล้านบาท) เพื่อแทนที่รถที่ใช้น้ำมัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งก๊าซเรือนกระจก และ PM 2.5 โดยบริษัทตั้งเป้าซื้อรถ EV bus ปีละ 20 คัน ส่วนรถบัสเดิมจะไปใช้ขนส่งพนักงานในนิคมลำพูน หรืออาจจะขายออกไป