“กรีนบัส”หยุดเดินรถ 4 เส้นทางหนีโควิดขาดทุนวันละ 1 ล้าน-ผู้โดยสารหาย 90%

SONY DSC

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (Green Bus) ได้แจ้งหยุดให้บริการเส้นทางเดินรถ 4 เส้นทางข้ามภูมิภาค จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในวันที่ 26 มีนาคม 2563 เส้นทางเชียงใหม่-ภูเก็ต ต้นทางจาก จ.เชียงใหม่, เชียงราย-ภูเก็ต ต้นทางจาก จ.เชียงราย, แม่สาย-บึงกาฬ ต้นทางจาก อ.แม่สาย,พิษณุโลก-ดอนสัก (จ.สุราษฏร์ธานี) ต้นทางจาก จ.พิษณุโลก

และในวันที่ 28 มีนาคม 2563 เส้นทางภูเก็ต-เชียงใหม่ ต้นทางจาก จ.ภูเก็ต, ภูเก็ต-เชียงราย ต้นทางจาก จ.ภูเก็ต, บึงกาฬ-แม่สาย ต้นทางจาก จ.บึงกาฬ, ดอนสัก-พิษณุโลก ต้นทางจาก อ.ดอนสัก

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทฯเริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง และเห็นผลกระทบชัดเจนที่สุดในเดือนมีนาคมที่จำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 90% เฉลี่ยมีผู้โดยสารใช้บริการต่อวันไม่ถึง 10 คนต่อเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการให้ผู้ประกอบการเดินรถฯ ทำการลดจำนวนที่นั่งลง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด จึงทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องหยุดเดินรถทั้ง 4 เส้นทางข้ามภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงหยุดการขายตั๋วจองล่วงหน้า (Booking) เข้ามาใหม่ด้วย

โดยขณะนี้บริษัทฯ ยังคงให้บริการเดินรถเฉพาะผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนกว่า 8,000 ใบ (ในเส้นทางภาคเหนือตอนบน) ซึ่งได้แจ้งให้ผู้โดยสารรีบทยอยเดินทางให้เร็วขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง หรือยกเลิกตั๋วโดยสารและคืนเงินให้ โดยพบว่ามีจำนวนการคืนตั๋วโดยสารมากกว่า 50% ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นด้านสุขอนามัยสำหรับรถกรีนบัสทุกเที่ยวที่ให้บริการด้วยการทำความสะอาดภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เว้นระยะห่างของที่นั่ง 1 แถว นั่งได้เพียง 2 คน ก่อนผู้โดยสารขึ้นรถจะทำการวัดไข้ตรวจอุณหภูมิร่างกาย และระหว่างการเดินทางจะมีด่านตรวจ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องลงจากรถเพื่อให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ผลกระทบครั้งนี้ถือว่าหนักมาก ซึ่งบริษัทฯมีค่าใช้จ่ายประจำทุกเดือนคือ ค่าจ้างพนักงานและเงินกู้ธนาคาร เป็นจำนวนเงินราว 50 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีพนักงานรวมมากกว่า 600 คน และจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงถึง 90% ส่งผลให้บริษัทฯเกิดภาวะขาดทุนวันละ 1 ล้านบาท ล่าสุด ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางทั่วประเทศ ได้ทำหนังสือด่วนถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ผู้ประกอบการหยุดเดินรถชั่วคราวในช่วงนี้ เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ โดยเบื้องต้นบริษัทฯ ได้ชี้แจงให้พนักงานทั้งหมดทราบแล้วว่าหากจำเป็นต้องหยุดการเดินรถชั่วคราว พนักงานก็ต้องหยุดงานชั่วคราว และจะได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม และทางบริษัทจะสมทบให้อีกส่วนหนึ่งราว 20-30%