ชาวสวนเฮทุเรียนโลละ 200 ดีมานด์ทะลักจีนรับซื้อไม่อั้น

ทุเรียนตะวันออกราคาพุ่งแรงดีไม่มีตก ทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี ตลาดจีนดีมานด์ทะลัก ต้น พ.ค.เกรด A พุ่งกิโลละ 180-200 บาท กระทั่งทุเรียนตกไซซ์ ราคา 125-140 บาท “ล้ง” แหยงหวั่นเจ็บตัว เบรกรับซื้อรอฤดูกาลทุเรียนภาคใต้ มั่นใจเปิดตลาดราคางาม เหตุผลผลิตน้อย เพราะเจอแล้ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์ราคาทุเรียนในช่วงปลายเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นทุเรียนลอตใหญ่ที่จะเริ่มหมดรุ่น ก่อนที่ทุเรียนรุ่นใหม่จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงกลางเดือน พ.ค.-มิ.ย. โดยราคาทุเรียนทุกเกรดได้ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดมีดีมานด์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตลาดในจีน

เช่น หมอนทองเกรด A-B ราคา กก.ละ 160-170 บาท จากช่วงกลางเดือน เม.ย.ราคาอยู่ในระดับ กก.ละ 135-140 บาท จากการเร่งส่งออกไปตลาดจีนในวันแรงงานที่หยุดยาว ประกอบกับช่วงต้นเดือน วันที่ 1-8 พ.ค. เป็นช่วงที่ทุเรียนขาดรุ่น ทำให้ราคาพุ่งขึ้นมาค่อนข้างแรง คือ กก.ละ 180 บาท และหากเป็นทุเรียนปิดตู้ (ทุเรียนที่เร่งส่งออก) อาจสูงถึง 200 บาท

ขณะที่ทุเรียนตกไซซ์ราคาก็สูงถึง 125-140 บาท จากปีที่ผ่านมาที่ราคาอยู่ที่ระดับ 90-120 บาท ซึ่งราคาที่ค่อนข้างสูงดังกล่าวทำให้โรงงานแปรรูปไม่สามารถรับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปได้ ขณะที่ล้งบางรายต้องหยุดรับซื้อเพราะสู้ราคาไม่ไหว

และรอซื้อทุเรียนรุ่นใหม่ที่จะเริ่มออกมาในช่วงกลางเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป หรือรอซื้อทุเรียนภาคใต้ที่จะทยอยออกมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่คาดว่าปริมาณทุเรียนที่ลดลงส่งผลให้ราคาเปิดตัวสูงในระดับ กก.ละ 140-150 บาท

ราคาดีเป็นประวัติการณ์

นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัมฟรุ๊ต จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ส่งออกทุเรียน และโลจิสติกส์ครบวงจร เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาทุเรียนไทยถือว่าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุเรียนไทย ราคาเกรดส่งออกปีที่แล้วซื้อจากสวนเฉลี่ย กก.ละ 90 บาท

แต่ปีนี้ราคาเฉลี่ย 130 บาท ปัจจัยหลักมาจากผู้ส่งออกค่อนข้างควบคุมคุณภาพของทุเรียนมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา และชาวสวนก็ให้ความร่วมมือดีมาก ซึ่งปีนี้ยอดส่งออกทุเรียนของจันทบุรีในฤดูกาลก็มากกว่าปีที่แล้วถึง 20%

ทุเรียนไทยที่ส่งออกไปยังประเทศจีนยังได้ผลตอบรับที่ดี และยังสามารถขยายตลาดไปได้อีกมาก เพราะตอนนี้ชาวจีนเข้าถึงทุเรียนไทยมีเพียงกว่า 300 ล้านคนจากประชากรจีน 1,400 ล้านคน

ขณะที่นายสมศักดิ์ เลิศสำโรง ผู้จัดการ บริษัท เคเอเอฟ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด สาขาจันทบุรี ผู้ส่งออกทุเรียนทั้งผลสดและแช่แข็ง กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ราคาทุเรียนต้นเดือน พ.ค.ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หมอนทองเกรด A-B กก.ละ 170-180 บาท ล้งบางรายที่ต้องการทุเรียนปิดตู้อาจให้ราคาถึง 200 บาท

ส่วนทุเรียนตกไซซ์ราคาอยู่ในระดับ 130-140 บาท ส่วนหนึ่งมาจากตอนนี้เป็นช่วงทุเรียนหมดรุ่น ไม่มีปริมาณผลผลิตทุเรียนแล้ว ซึ่งปีนี้ราคาทุเรียนสูงมาก ชาวสวนเน้นขายผลสด ทุเรียนส่วนใหญ่มีคุณภาพทำตลาดจีนได้ดี ทำให้ปริมาณการทำทุเรียนแช่แข็งลดลง เพราะทุเรียนผลสดราคาสูง

“บริษัทจะรับซื้อไปจนหมดฤดูกาล โดยช่วงหลังสงกรานต์รับซื้อผลสดลอตใหญ่วันละมากกว่า 300 ตัน ราคา กก.ละ 130-140 บาท แต่ช่วงต้นเดือน พ.ค.ผลผลิตน้อยลง รับซื้อผลเพียงวันละ 30-50 ตัน ราคา กก.ละ 160-170 บาท ทุเรียนตกไซซ์ที่ซื้อทำแช่แข็งวันละ 200-300 ตัน ราคา กก.ละ 55-75 บาท

เมื่อหมดรุ่นราคาสูงถึง 75-80 บาท ราคาแช่แข็งจะทำได้ไม่เกิน กก.ละ 75 บาท ราคาสูงถึง 80 บาทจะทำตามออร์เดอร์เท่านั้น ห้องเย็นตอนนี้ไม่มีสินค้า ราคาทุเรียนที่สูงมากนี้ ทำให้บางรายหยุดรับซื้อ เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการขาดทุน และเตรียมรับซื้อในรุ่นถัดไป หรือรอซื้อทุเรียนทางใต้”

นายสัญชัย โกสัลส์วัฒนา เจ้าของเพจทำสวนเอาเงินไม่ได้เอาเงินทำสวน กล่าวว่า ต้นเดือน พ.ค.ราคาทุเรียน กก.ละ 170-190 บาท เป็นราคาที่พีกสุด เป็นราคาดีมาก เพราะตลอด 2 เดือนมานี้ทุเรียนเวียดนามไม่มีในตลาดจีน มีแต่ทุเรียนไทยทำตลาดเกือบ 900 ตู้ ยาวนานนับ 10 วัน

ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ทุเรียนไทยมีคุณภาพดี รสชาติอร่อย เป็นที่ชื่นชอบของตลาดจีน ทำให้ล้งมีการแข่งขันกันสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.เป็นต้นไป ราคามีแนวโน้มจะลดลง ราคาน่าจะอยู่ที่ 140-150 บาท หรือเฉลี่ย 120 บาท เพราะทุเรียนในหลาย ๆ ภาคเริ่มออกสู่ตลาด ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งทุเรียนเวียดนาม

ทุเรียนใต้เจอแล้ง-ราคาดี

นายศิริ เห่าสกุล นายกสมาคมทุเรียนใต้ เปิดเผยว่า คาดว่าปีนี้ราคาทุเรียนใต้จะราคาดีเหมือนทุเรียนภาคตะวันออก คาดว่าราคาน่าจะเปิดที่ 140-150 บาท เพราะปริมาณทุเรียนมีน้อยและการแข่งขันของล้งที่สูง เพราะตลาดในจีนยังมีความต้องการมาก และปีนี้คุณภาพทุเรียนไทยดีมาก รวมทั้งการขนส่งที่คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งทุเรียนภาคใต้จะเริ่มเปิดฤดูประมาณปลายเดือน มิ.ย.-ต้นเดือน ก.ค. และทยอยไปถึงเดือน ก.ย. ต่อด้วยทุเรียนนอกฤดูหรือทวาย ซึ่งผลผลิตทุเรียนภาคใต้ไม่กระจุกตัว มีทยอยออก 3-4 รุ่น

“สภาวะอากาศและประสบกับฝนทิ้งช่วงนาน โดยฉพาะพื้นที่อำเภอ ทุ่งตะโก พะโต๊ะ จ.ชุมพร พื้นที่ที่ปลูกปริมาณผลผลิตลดลง จากที่คาดการณ์ตอนนี้ต้องซื้อน้ำรดต้นทุเรียนเพื่อรักษาต้นไว้ตัดลูกทิ้ง พยุงไว้รอฝน” นายศิริกล่าว

นายดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2564 สาขาทำสวนของจังหวัดชุมพรและภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้คาดว่าผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรจะลดลง เพิ่มจากปี 2565 ไม่เกิน 200,000 ตัน และมีการกระจายตัวถึง 3 รุ่นคือ เดือน มิ.ย.เล็กน้อย เดือน ก.ค.-ส.ค. 30% และ ก.ย.-ต.ค. 30% ทำให้ได้ราคาดี

ผลผลิตที่เริ่มออกเดือน มิ.ย.จะเป็นช่วงสั้น ๆ ราคาดีกว่าปีก่อน เช่น หมอนทองราคาหน้าล้ง กก.ละ 140-150 บาท จากปีที่ผ่านมา กก.ละ 90-100 บาท เป็นช่วงที่ทุเรียนเวียดนามยังไม่ออก และช่วงต้น ๆ เดือน ก.ค.ที่ทุเรียนภาคใต้ขาดรุ่น ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นถึง กก.ละ 200 บาทเช่นเดียวกับปีก่อน

รายงานข่าวจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกทุเรียนตั้งแต่ 1 ก.พ.-7 พ.ค. 66 มีจำนวน 25,377 ตู้ หรือ 456,786 ตัน หรือประมาณ 58% ของผลผลิตที่คาดการณ์ของภาคตะวันออกปี 2566 จำนวน 782,942 ตัน