“ทุเรียนฤดูใหม่” ส่งออกทะลัก ทุบสถิติระดมขนส่งทุกทิศทาง

ทุเรียน

ยอดส่งออกทุเรียนตะวันออกฤดูใหม่ พีกทะลักไปตลาดจีนวันละกว่า 800-900 ตู้คอนเทนเนอร์ 2 เดือนดันยอด 1.3 หมื่นตัน ทุบสถิติขนส่งสูงกระจายทุกระบบ ทั้งเรือ-รถบรรทุก-เครื่องบิน รถไฟความเร็วสูงผ่านลาวทะลุจีน ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์บุกขนไปจีน อเมริกา ยุโรป ผู้ค้าชี้ปีนี้ไม่มีตรวจเข้มโควิด ส่งออกฉลุย ราคาดีดสูง 130-135 บาท/กก. jd.com บุกซื้อผลไม้สดตรงจากสวนกว่า 5 พันล้านบาท พร้อมแห่จ้างโรงงานบรรจุ (ล้ง) ถึงใจกลางตลาดจันทบุรี

นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ทุเรียนล่าสุดต้นเดือนเมษายน 2566 แจ้งว่า ผลผลิตทุเรียนจะออกกระจุกตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงก่อนกลางเดือนพฤษภาคม โดยทุเรียน 3 จังหวัดภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง ตราด มีปริมาณผลผลิตรวม 782,942 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 805,707ตัน ลดลง 22,765 ตัน หรือ 2.83% โดยช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีผลผลิตออกมากประมาณ 60%

ขณะที่รายงานตัวเลขสถานการณ์ส่งออกทุเรียน และมังคุด ณ วันที่ 19 เมษายน 2566 สูงถึง 944 ตู้ แบ่งเป็นการส่งออกทุเรียน 873 ตู้คอนเทนเนอร์ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกทางบก 301 ตู้ ทางเรือ 531 ตู้ ทางอากาศ 17 ตู้ และทางรถไฟ 24 ตู้ และการส่งออกมังคุดเพียง 71 ตู้ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการส่งออกทางบก 55 ตู้ ทางเรือ 15 ตู้ และทางอากาศ 1 ตู้ โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนถือว่าทุบสถิติการส่งออกปีก่อน ๆ รวมปริมาณการส่งออกทุเรียนนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงปัจจุบัน ประมาณ 13,781 ตัน หลังจากนี้ปริมาณจะเริ่มลดลง เพราะทุเรียนมีการกระจายตัวถึง 4 รุ่น และจะยาวไปถึงเดือนมิถุนายน ส่วนราคาน่าจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย เพราะทุเรียนภาคตะวันออกจะไม่ชนกับทุเรียนเวียดนาม

ทางด้านนายสมพล ช่างบุ หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี ให้ความเห็นว่า ปีนี้ทุเรียนออกปริมาณมาก และเร็วเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 66 มากกว่าวันละ 800-900 ตู้ คิดเป็น 95% ของการส่งออกผลไม้รวมภาคตะวันออก เทียบกับปี 2565 ปริมาณตู้ส่งออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และเกิน 800 ตู้ เพียง 1- 2 วันเท่านั้น ปีนี้ถึงจะส่งออกปริมาณมาก แต่ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมการรองรับมาดีมาก และกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดี เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ไม่มีการตรวจเข้ม ทำให้สินค้าระบายได้ค่อนข้างดี ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางเรือประมาณ 60% ทางรถยนต์ประมาณ 34%

“โดยการขนส่งทางเรือมีตู้คอนเทนเนอร์รองรับปริมาณมากพอ และปรับลดราคาค่าใช้บริการลง ส่วนการขนส่งทางบกเส้นทางที่นิยมใช้กันมากผ่านทางด่านนครพนมและด่านเชียงของ จ.เชียงราย ปีนี้ได้เตรียมการแก้เรื่องปัญหาการจราจรติดขัด ส่วนการขนส่งทางรถไฟมีหลายบริษัทแข่งขันเปิดให้บริการ ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกทางด้านราคา ช่วยกระจายตู้สินค้าได้ขบวนละ 25 ตู้ ส่วนทางเครื่องบินมีไฟลต์คาร์โกบินตรงเข้ามาบ้างแล้ว รวมถึงได้มีการขยายการขนส่งมาที่สนามบินอู่ตะเภา หลังจากนี้ปริมาณทุเรียนส่งออกจะเริ่มลดลง” นายสมพลกล่าว

นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการส่งออกทุเรียนหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจจีนยังขยายตัว มีพ่อค้ารายใหม่ ๆ เข้ามารับซื้อ ทำให้ราคาทุเรียนต้นทางราคาไม่ตก อยู่ที่ กก.ละ 130-135 บาท สูงกว่าปีที่แล้ว ที่ราคา กก.ละ 120 บาท ประกอบกับระบบการขนส่งค่อนข้างดี ผ่านด่านรวดเร็ว ทุกด่านขยายเวลาทำการ ขยายช่องทาง ส่วนขนส่งทางเรือสะดวกมีตู้เพียงพอ อีกทั้งมีการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นทั้งมาบตาพุดและแหลมฉบัง

“การขนส่งทางรถยนต์เวลา 3 วัน ทางเรือ 10 วัน ระยะเวลาไม่เท่ากัน ส่วนทางเครื่องบินค่าขนส่งสูงเป็นโอกาสได้ระบายสินค้าและช่วยเพิ่มมูลค่า ส่วนทางรถไฟผู้ประกอบการจะรอความชัดเจนก่อน เพราะทุเรียนมีมูลค่าสูงตู้ละ 2-3 ล้านบาท ราคาทุเรียนต้องดูเมื่อทุเรียนเข้าตลาดที่จีนแล้ว ทุเรียนที่ขนส่งทางเรือ ตู้ที่เพิ่งออกไป 400 กว่าตู้ เพิ่งเริ่มเข้าตลาด จะต้องรอดูราคาตลาดปลายทางและการระบายสินค้าอาทิตย์นี้ เกษตรกรต้องปรับตัวตามกลไกตลาด ไม่เร่งเก็บเกี่ยวทำให้ทุเรียนไม่มีคุณภาพ ทำให้ราคารูดลง” นายกสมาคมทุเรียนไทยกล่าว

ด้านนายณัฐกฤษณฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ทุเรียนภาคตะวันออกอาจจะได้ทุเรียนที่มีคุณภาพดีที่สุดในรอบ 5 ปี ถ้าปีนี้ทุเรียนผลสวยเหมือนทุกปี ทุเรียนส่งออกจะมากขึ้นเกินระดับ 1,000 ตู้/วัน และอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าประมาณปี 2570 จะมียอดการส่งออกทวีคูณ รวมทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 100,000 ตู้คอนเทนเนอร์แน่นอน

jd.com บุกทำทุเรียนออนไลน์

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีที่มีข่าวว่าซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์รายใหญ่ของจีน JD Fresh ในเครือ JD.com ส่งทีมงานมาเจรจาโดยตรงกับชาวสวนทุเรียน และสวนผลไม้ต่าง ๆ ของไทย ในการรับซื้อผลผลิต มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท ในช่วง 2 ปีนับจากนี้นั้น โดยให้ลูกค้าในจีนสามารถสั่งซื้อทุเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยเข้ามาทำตลาดแข่งขันกับอาลีบาบา ภาคตะวันออกมีผู้ประกอบการค้าจีนหน้าใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น การแข่งขันด้านราคาสูง jd.com มีแพลตฟอร์มที่ใหญ่มาก ได้สร้างความฮือฮาจากการโพสต์ในโซเชียลโดยสร้างจุดขายว่า มีการซื้อทุเรียนโดยตรงจากสวน ได้มีการติดต่อซื้อขายทุเรียนจากผู้ประกอบการอยู่หลายแห่ง โดยจ้างโรงแพ็กบรรจุ (ล้ง) ในจันทบุรี ส่งออกไปตลาดเมืองจีน

สอดคล้องกับความเห็นของนางสาววรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน เจ้าของ บริษัท ควีนโฟรเซ่นฟรุต จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและทุเรียนแช่แข็ง ที่ระบุว่า “ได้ทำการค้ากับ jd.com มาถึงปัจจุบันแต่ปริมาณไม่มากนัก เห็นว่าการเข้ามาทำตลาด jd.com เป็นเรื่องปกติของการทำการค้า ทั้งนี้ ปัจจุบันการแข่งขันการทำตลาดทุเรียนของจีนเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในแพลตฟอร์ม มูลค่าการค้าสูงหลายพันล้านบาท ถ้าทำได้จริงเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ประกอบการส่งออกนิยมทำการค้ากับมืออาชีพที่ทำการค้ากันมานาน และรายใหญ่ ๆ สามารถจะสร้างมูลค่าการส่งออกในวงเงินสูง ๆ มากกว่า”

ไชน่าฯแอร์รับขนส่งผลไม้ไทย

นายกฤษณพณ เรืองรัตติภาส ประธาน บริษัท เคเอเอฟ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต จำกัด (KAF) เปิดเผยว่า ได้เจรจากับผู้แทนบริษัทสายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ (China Eastern Airlines) ขนส่งผลไม้ไทยไปยังตลาดปลายทางประเทศจีน เช่น เมืองหางโจว และเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อเพิ่มช่องทางกระจายสินค้า โดยมีการขนส่งเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 เป็นการขนส่งทุเรียนกว่า 100 ตัน และในเที่ยวต่อ ๆ ไปจะกระจายไปตลาดทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา