จีนคลั่งรักทุเรียนไทย ถึงขั้นทำคู่มือ “วงล้อรสชาติ” เทียบมูซานคิง

จีนทำคู่มือนักชิมทุเรียน
รายงาน

จีนคลั่งรักทุเรียนไทย ถึงขั้นทำคู่มือ “วงล้อรสชาติ” หรือ “Durian Flavor Wheel” ขึ้นครั้งแรกโดยประเทศจีน เทียบมูซานคิง เพื่อช่วยแยกความแตกต่างของรสชาติทุเรียน

วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 แม้ว่าจะมีทุเรียนจากจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยในประเทศจีนรุนแรงมากโดยเฉพาะทุเรียนจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

แต่ความนิยมในสินค้าทุเรียนไทยในตลาดจีนยังไม่แผ่วลง ซึ่งเฉพาะไตรมาสแรก ปี 2566 นี้จีนนำเข้าทุเรียนไทยแล้วกว่า 63,000 ตัน เพิ่มขึ้น 78%

ล่าสุดฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้แปลและเรียบเรียงข้อมูลจาก panda guide ที่ระบุว่า ความนิยมในทุเรียนไทยเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งได้มีการจัดทำ “วงล้อรสชาติทุเรียน” หรือ “Durian Flavor Wheel” ขึ้นครั้งแรกโดยประเทศจีน

ทุเรียนนับเป็นผลไม้ที่มีความซับซ้อนทั้งในเรื่องของรสชาติ กลิ่น สี และรสสัมผัส นอกจากนี้ การรับรสในแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุรสชาติของทุเรียนให้ตรงกัน

จีนทำคู่มือกืนทุเรียน

 

ซึ่ง “วงล้อรสชาติทุเรียน” หรือ “Durian Flavor Wheel” สามารถช่วยแยกความแตกต่างของรสชาติทุเรียน และช่วยผู้บริโภคที่ไม่เคยรับประทานทุเรียนสามารถจินตนาการถึงรสชาติทุเรียนได้

วงล้อรสชาติ ถูกสร้างขึ้นโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการกำหนดรสชาติ ซึ่งในหลายประเทศมีการใช้วงล้อรสชาติเพื่อแยกความแตกต่างของกลิ่นและรสชาติอาหาร เช่น ไวน์ และกาแฟ

โดยในประเทศจีนมีการทำวงล้อรสชาติในสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ส้ม องุ่น มะเขือเทศ สตรอว์เบอรี่ แอปเปิล รวมไปถึง เหล้า และชา แต่ยังไม่เคยมีใครทำวงล้อรสชาติในทุเรียนมาก่อน จนปัจจุบัน บริษัท JD Fresh และ China Green Food ได้ร่วมกันทำวงล้อรสชาติทุเรียนเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้ชาวจีนที่ไม่เคยทานทุเรียนมาก่อนได้รู้จักทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ดียิ่งขึ้น

วงล้อทุเรียน เปรียบเทียบรสชาติแต่ละสายพันธุ์

โดยได้มีการเปรียบเทียบรสชาติและคุณลักษณะของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้

ทุเรียนหมอนทองไทย ฉายาว่า “ขวัญใจมหาชน” เนื้อทุเรียนสีเหลืองทอง เนียนแน่นละเอียด มีกลิ่นหอมของแอลกอฮอล์ รสขมปานกลาง หวานเข้มข้น รสติดลิ้นนาน และมีรสชาติชาลิ้นเล็กน้อย หมอนทองไทยเป็นสินค้าที่ได้รับการแนะนำเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีผลผลิตในช่วงฤดูกาลช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

 

ทุเรียนมูซังคิงมาเลเซีย ฉายาว่า “ทุเรียนแอร์เมส” เนื้อทุเรียนเนียนละเอียด อร่อยนุ่มหนึบ มีรสแอลกอฮอล์อ่อน ๆ รสออกหวานอมขม กลิ่นหอมคาราเมล มีรสชาลิ้น รสหวานติดลิ้นนาน เป็นสินค้าที่ได้รับการโปรโมตว่าต้องทาน

ทุเรียนมูซังคิงมาเลเซีย ฉายาว่า ‘ทุเรียนแอร์เมส’

ทุเรียนพวงมณีไทย ฉายาว่า “มูซังคิงก้านยาวไทย” เนื้อทุเรียนสีเหลืองอมส้ม เนียนนุ่ม มีรสแอลกอฮอล์ปานกลาง ไม่มีรสขม กลิ่นหอมดอกไม้ รสหวานเข้ม กลิ่นติดลิ้นนาน เป็นสินค้าที่ได้รับการโปรโมตว่าต้องทาน

ทุเรียนพวงมณี

ทุเรียนชะนีไทย ฉายาว่า “ทุเรียนพันธุ์หายาก” เนื้ออเนียนนุ่ม หวานฉ่ำ เข้มข้น มีกลิ่นหอมของแอลกอฮอล์ รสชาติหวานอมขมติดลิ้นนาน เป็นสินค้าที่คุ้มค่าแก่การแนะนำ

ซึ่งการสนับสนุนและผลักดันการส่งออกทุเรียนของภาคราชการของไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายของรัฐบาลมุ่งจะส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในปี 2566 นี้ให้ได้ 4.44 ล้านตัน มูลค่า 2  แสนล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จัดกิจกรรม Durian tasting ภายใต้งานเทศกาลผลไม้ไทย ประจำปี 2566 ณ นครหนานหนิง

แบะได้นำทุเรียนไทย จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี และนวลทองจันทร์ มาให้แขกผู้ร่วมงาน สื่อมวลชน ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL) และผู้มีอิทธิพลในการตลาด (KOC) ได้ทดลองรสชาติ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียของจีน ภายใต้แนวคิด “想到榴莲 想到泰国” (Think Durian Think Thailand)

ภายในงาน นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้นำเสนอข้อมูลความหลากหลายของสายพันธุ์ทุเรียนไทย พร้อมคุณค่าทางโภชนาการของทุเรียนไทย ซึ่งถือเป็นราชาผลไม้ ควบคู่ไปกับการแนะนำมังคุดไทย ราชินีผลไม้ ผ่านการจัดกิจกรรม Durian tasting เพื่อประชาสัมพันธ์ทุเรียนคุณภาพของไทยที่มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนมากขึ้น และส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านคุณภาพและมาตรฐาน ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นหนึ่งของทุเรียนไทยในตลาดจีน เพื่อรองรับการแข่งขันของทุเรียนในตลาดจีนในอนาคต

และในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคใต้ “จ.ชุมพร” ต่อจากฤดูการเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก

เป็นที่น่าจับตามองว่าการส่งออกทุเรียนลอตใหม่จะเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายได้หรือไม่

ฤดูกาลทุเรียนจังหวัดชุมพร