ภัยพิบัติแล้งปราณบุรี-หัวหินอ่วม ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมวิกฤตน้ำ

ประกาศภัยพิบัติแล้ง ประจวบคีรีขันธ์ประสบภัยแล้ง ระดับน้ำเขื่อนปราณบุรีมีแค่ 15% คาดตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไปจะเป็นช่วงขาดแคลนน้ำ 2 อำเภอ อ.หัวหิน และ อ.บางสะพาน สะเทือน 13,777 ครัวเรือน นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ยืนยันมีแผนโครงการ 1,045 ล้านบาทรับมือวิกฤต

ประจวบคีรีขันธ์แล้ง 2 อำเภอ

ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาลตามที่กรมอุตุฯประกาศจะเข้าหน้าฝนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ซึ่งฝนตกลงมาน้อยมาก ทำให้สภาพภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ในบางพื้นที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในพื้นที่สำคัญ ได้แก่ อ.บางสะพาน อ.ทับสะแก และ อ.หัวหิน

นอกจากจะปฏิบัติการทางด้านฝนหลวงในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ นายอำเภอหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็พยายามที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพราะคาดว่าตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งก็ได้กำชับส่วนราชการต่าง ๆ ให้เร่งดำเนินการขุดลอกสระเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์”

ด้าน นายอนิรุจน์ อัครพงศ์ตระกูล นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤตจริง ๆ โดยเฉพาะระดับน้ำเขื่อนปราณบุรี ปริมาณน้ำมีแค่ 14-15% เข้าใจว่าในบางพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานของเขื่อนปราณบุรีเกิดวิกฤตในช่วงของท้ายน้ำ เพราะฉะนั้นทางส่วนของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหินก็จะเร่งในการเติมน้ำเขื่อน ให้การบริการฝนหลวงพื้นที่หัวหินอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ศูนย์ ปภ.เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จัดส่งรถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าทำการติดตั้งเครื่องสูบส่ง เพื่อสูบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของ อบต.กำเนิดนพคุณ (จุดที่ 1) หมู่ที่ 6 บ.ดอนทอง ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน เนื่องจากน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอและลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค มีแผนสูบน้ำ 10 วัน คาดว่าจะมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง 1 เดือน

ทั้งนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้ง ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.หัวหิน และ อ.บางสะพาน รวม 8 ตำบล 80 หมู่บ้าน/ชุมชน 13,777 ครัวเรือน ประชาชน 33,110 คน ด้านการเกษตร พืชไร่ พืชผัก พืชสวน จำนวน 5,559 ไร่ อยู่ระหว่างการขอประกาศเพิ่มในพื้นที่อำเภอหัวหิน ที่ตำบลบึงนคร 12 หมู่บ้าน

ประชาชนได้รับความเดือดร้อน (อุปโภคบริโภค) 2,400 ครัวเรือน 5,068 คน และอำเภอบางสะพาน ขาดแคลนน้ำการเกษตร 3 ตำบล คือ 1.ตำบลกำเนิดนพคุณ 2 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 3, 4) 2.ตำบลธงชัย 7 หมู่บ้าน 3.ตำบลชัยเกษม 8 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 65 ครัวเรือน 197 คน

สำหรับพื้นที่การเกษตร รวม 277 ไร่ (พืชไร่ 9 ไร่ พืชสวน 253 ไร่ ไม้ยืนต้น 15 ไร่) มูลค่าความเสียหายและผลกระทบอยู่ระหว่างประเมิน

รอน้ำเข้ามาเติมเขื่อนหลัก

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์น้ำบริเวณเมืองท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ว่าจะใช้แหล่งน้ำดิบสำคัญ 2 แหล่ง คือ เขื่อนปราณบุรี กับเขื่อนแก่งกระจาน โดยปริมาณน้ำในเขื่อนปราณบุรีขณะนี้เหลือค่อนข้างน้อยมาก กล่าวคือมีปริมาตรใช้การได้เพียง 55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 15 และแทบไม่มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างเลย (0.04 ล้าน ลบ.ม.)

แต่ยังมีปริมาตรการระบายอยู่ที่วันละ 0.29 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่ 171 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26 มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่าง 0.97 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 2.59 ล้าน ลบ.ม.

ล่าสุด อ.ปราณบุรี และ อ.หัวหิน ปรากฏมีคำสั่งให้งดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรกรรมแล้ว โดยจะสงวนน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยทางด้านการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปราณบุรียืนยันว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะเข้าสู่ฤดูฝน และถ้ามีเหตุจำเป็นจริงก็จะสามารถใช้น้ำไปถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2566

“ประเด็นสำคัญตอนนี้ก็คือ จะต้องมีพายุเข้ามาเติมน้ำในเขื่อนหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปราณบุรี หรือเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งมีปริมาตรน้ำน้อย เขื่อนจะต้องกักเก็บน้ำให้เพียงพอไปถึงช่วงฤดูแล้งหน้า (2567) ซึ่งตอนนี้ทราบกันแล้วว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือฝนน้อยน้ำน้อย

แน่นอน ถ้าไปถึงเดือนธันวาคมยังไม่มีพายุลูกใหญ่ ๆ พัดผ่านเข้ามาเติมน้ำในอ่าง ฤดูแล้งหน้า เมืองท่องเที่ยวอย่างหัวหิน-ชะอำจะมีปัญหาขาดน้ำแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ระบบน้ำประปาในเมืองท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ระบบประปาภูมิภาค กับระบบประปาของเทศบาล ที่ผ่านมา อ.เมืองหัวหินจะประสบปัญหาน้ำประปาขาดมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา มีสถานประกอบการหลายแห่งต้องซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำเพื่อนำน้ำในบริการนักท่องเที่ยวหรือแขกที่มาพักในโรงแรม

ดังนั้นหากฤดูฝนปีนี้ยังไม่มีมาตรการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในแล้งหน้า หรือมีฝนตกน้อยกว่าปกติ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในเมืองท่องเที่ยวก็จะทวีความรุนแรงขึ้นมาทันที

หัวหินตั้งงบฯ 300 ล้าน ฝ่าวิกฤต

นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดโดยภาพรวม อ.หัวหิน ตอนนี้น่าจะผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ เพราะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง มีโครงการที่เป็นแบบแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

สำหรับเทศบาลเมืองหัวหินในระยะสั้นมีงบประมาณของเทศบาล 200-300 ล้านบาท เพื่อทำระบบการประปาใหม่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากเขื่อนปราณบุรีและเขื่อนเพชรเข้ามาเพิ่ม และนำน้ำดิบมาผลิตประปาให้มากขึ้น

แผนในระยะกลางคือประสานงานกับการประปาส่วนภูมิภาคให้เข้ามาผลิตน้ำประปาเพิ่มเติม และแผนระยะยาวก็ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและกรมชลประทานรวมกว่า 1,045 ล้านบาท ภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ สำหรับตั้งสถานีสูบน้ำที่เพชรบุรี และวางท่อเข้ามายังพื้นที่หัวหิน

“ปกติภัยแล้งของหัวหินจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เราอาศัยน้ำจากเขื่อนปราณบุรีกว่า 90% จากเขื่อนเพชร 10% มีการประปา 2 ระบบ แต่แผนระยะต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคิดว่าหัวหินจะบรรเทาภัยแล้งลงไปได้ หากได้น้ำดิบมาเพิ่มก็จะสามารถผลิตประปาเพิ่มได้ในช่วงหน้าแล้ง

โดยเฉพาะนอกเขตเทศบาล ส่วนเขตเทศบาลหัวหินมีประชากรตามทะเบียนบ้านอยู่ประมาณ 6,500 คน ถือว่าไม่มีปัญหามากนัก อยากให้เชื่อมั่นว่าแผนงานต่าง ๆ ไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ยังคงดำเนินกิจการได้”

ดร.ปราโมทย์ เพชรศาสตร์ ผู้อำนวยการการบริหารตลาดสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับภัยแล้งมากนัก เพราะเนื่องจากปีที่ผ่านมีน้ำค่อนข้างมาก ระบบน้ำในสนามกอล์ฟมีสต๊อกน้ำเพียงพอ ซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 75%


ส่วนในอนาคตกังวลหากฝนทิ้งช่วง 2-3 เดือน ก็ส่งจะผลกระทบเป็นอย่างมาก ถ้าถึงขั้นวิกฤตคงจะต้องมีการประชุมกันกับสนามกอล์ฟอื่น ๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ตอนนี้เราเช็กข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา คิดว่าสภาวะฝนน่าจะมาเรื่อย ๆ แต่ถ้าประสบภัยฝนทิ้งช่วง เราได้มีแผนระยะสั้นว่าจะมีการจัดโปรแกรมการปล่อยน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ในสนามมากขึ้น