กรมอุตุฯ ประกาศไทยเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการ 22 พ.ค. 2566

ฤดูฝน ฝนตก ฝน
Photo by Andrew Le on Unsplash

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ 22 พฤษภาคม 2566 ชี้ปีนี้เข้าฤดูฝนช้ากว่าปกติจากปรากฏการณ์ ENSO คาดการณ์ปริมาณฝนน้อยกว่าปีก่อน 5%

วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศการเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ระบุว่าประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขั้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้

ชมภารี ชมภูรัตน์
ชมภารี ชมภูรัตน์

ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณกลางเตือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด

และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม

ปี 2566 ประเทศไทยเข้าหน้าฝนช้ากว่าปกติ

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวใน การแถลงข่าว เมื่อช่วง 10.00 น. ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนช้ากว่าปกติในปีนี้ มีผลมาจากปรากฏการณ์ ENSO (Nino/Southern Oscillation) ซึ่งอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร หรือปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ โดยเมื่อปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เร็วกว่าปี 2566 ประมาณ 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ มีการเปิดเผยว่า ประเทศไทยจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน