เปิดแบบจำลอง “ทีมกรุ๊ป” อีก 27 ปี “น้ำเค็ม” รุกสูงถึง อยุธยา-อ่างทอง

การรุกของ “น้ำเค็ม” เข้าไปในพื้นที่ตอนในของประเทศกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ จากผลการวิเคราะห์ล่าสุดของ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM GROUP พบว่า น้ำเค็มจะรุกขึ้นไปสูงกว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิมที่คำนวณกันไว้ว่าน่าจะอยู่บริเวณไม่เกินไปกว่าจังหวัดปทุมธานี-กรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยปรากฏการณ์นี้มีความสัมพันธ์กับโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 27 ปีข้างหน้านี้

น้ำเค็มรุกถึงอ่างทอง

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัททีม คอนซัลติ้งฯ กล่าวว่า TEAM GROUP ได้ทำแบบจำลองและวิเคราะห์การรุกของ น้ำเค็ม เข้าไปตามลำน้ำสำคัญของประเทศสู่พื้นที่ตอนในใหม่ โดยเพิ่มตัวแปรสำคัญ ๆ

อาทิ ปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้น (Rainfall Volume increase 7% แต่ไม่ทุกลุ่มน้ำหลักของประเทศ) ซึ่งเป็นผลมาจาก Climate Change จะมาช่วยผลักดันน้ำเค็มที่จะยกตัวขึ้นสูงเข้ามาตามลำน้ำ (Sea level rise effect) จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

โดยการวิเคราะห์จากแบบจำลองล่าสุดพบว่า ภายในปี 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้านี้ “น้ำเค็ม” จากอ่าวไทยจะรุกเข้าไปตามลำน้ำสายหลักสูง “เกินกว่า” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี-นครนายก-ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา รวมไปถึง จังหวัดในพื้นที่ขอบอ่าวไทย อย่าง สมุทรปราการ-สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม

“น้ำเค็มจะรุกเข้ามาในลำน้ำสายหลักผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยา-บางปะกง-ท่าจีน ปรากฏการณ์นี้จะรุนแรงในฤดูแล้งที่จะมี น้ำจืด จากตอนในของประเทศมาไล่น้ำเค็มน้อยลง ยิ่งปีไหนที่แล้งมาก น้ำในเขื่อนน้อยก็จะยิ่งเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกขึ้นไปสูงมาก

จากผลการวิเคราะห์เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำเค็มจะรุกขึ้นไปแตะ ๆ จังหวัดอ่างทอง ที่สุพรรณบุรีนี่น่าจะสูงขึ้นไปกว่าตัวอำเภอเมือง ส่วนที่ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทราเป็นปกติที่น้ำเค็มจะรุกขึ้นสูงอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า มันไม่ได้หมายความว่า น้ำทะเลจะหลากเข้ามาท่วมพื้นที่ในจังหวัดเหล่านี้ทั้งหมด

แต่มันจะเป็นปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาผ่านทางลำน้ำสายหลัก ๆ ของประเทศที่ไหลลงอ่าวไทย โดยความเค็มของน้ำมันจะขึ้นไปเลยอยุธยาแน่นอน เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากว่า เราจะอยู่กันอย่างไร ถ้าน้ำเค็มมันรุกขึ้นไปสูงถึงขนาดนั้น” นายชวลิตกล่าว

กระทบพื้นที่เกษตร-น้ำประปา

ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรุกขึ้นไปสูงของน้ำเค็มแน่นอนว่า จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ทางการเกษตร 2 ฝั่งลำน้ำที่น้ำเค็มหนุนสูง อีกด้านหนึ่งจะเกิดกับการอุปโภค-บริโภคน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำน้ำประปา จากปัจจุบันการประปานครหลวงมีจุดสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณ สำแล ปทุมธานี ก็จะไม่พ้น จนมีความจำเป็นที่จะต้องย้ายจุดสูบน้ำดิบขึ้นไปอย่างน้อยจะต้องเกินไปกว่าบริเวณจังหวัดอ่างทอง

ส่วนการบริหารจัดการในการผลักดันน้ำเค็มก็จะยุ่งยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณน้ำจืดจากเขื่อนตอนในของประเทศจะต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะกว่าน้ำจืดที่เขื่อนปล่อยลงมาเพื่อผลักดันน้ำเค็มบริเวณปากอ่าวจะต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 7 วัน ยิ่งในช่วงฤดูแล้งในปีที่น้ำในเขื่อนน้อยก็จะเกิดการลักลอบสูบน้ำระหว่างทาง ทำให้มีปริมาณน้ำที่จะมาผลักดันน้ำเค็มน้อยลงไปอีก

“พื้นที่เพาะปลูกข้าว ผลไม้ กล้วยไม้ ในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาจะกระทบหนักแน่ เพราะน้ำเค็มมันหนุนขึ้นมาสูง น้ำจากแม่น้ำสายหลักจะกลายเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มในช่วงหลายเดือนของปี ที่สำคัญก็คือ น้ำกินน้ำใช้ เดิมทีทุกฤดูแล้งทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มรุกขึ้นสูง

เพราะใช้น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ แต่ต่อจากนี้ไปมันจะเกิดปัญหาเพราะ น้ำเค็มก็จะหนุนเข้ามาทางลำน้ำฝั่งตะวันตกด้วย ภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และมากขึ้น ๆ ด้วยปัญหานี้จะต้องจัดการและเร่งดำเนินการแก้ไขตั้งแต่บัดนี้” นายชวลิตกล่าว

สร้างกระเปาะกำแพงกั้นน้ำทะล

สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาตามลำน้ำนั้น นายชวลิตกล่าวว่า วิธีการที่ 1 ก็คือ การบริหารจัดการน้ำจืดเพื่อผลักดันน้ำเค็ม พอจะบริหารจัดการได้ในช่วงปีต้น ๆ นับจากนี้ ถ้าระดับน้ำทะเลไม่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน

แต่จะมีปัญหาในปีนี้เกิดภัยแล้ง หรือเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ “ฝนน้อยน้ำน้อย” อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะไม่มีน้ำในเขื่อนหลักอย่าง เขื่อนภูมิพล-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพียงพอที่จะปล่อยน้ำมาผลักดันน้ำเค็มไม่ให้หนุนสูงไปถึงแหล่งสูบน้ำประปาที่สำแลได้

“วิธีการนี้จะต้องใช้การบริหารจัดการน้ำอย่างแม่นยำและยุ่งยากมาก จากปัจจัยน้ำไม่พอที่จะผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งปัญหามันจะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี”

วิธีการที่ 2 การเพิ่มความสูงของพนังกั้นน้ำในแม่น้ำสายหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากน้ำเค็มมันขึ้นมาตามลำน้ำ ไม่ให้น้ำเค็มแพร่ออกมาในพื้นที่ริมแม่น้ำหรือแพร่เข้าไปในพื้นที่ส่วนในได้ แต่วิธีการนี้เท่าที่มีการดำเนินการสร้างพนังกั้นน้ำในปัจจุบันจากคันดินเดิมที่สูงกว่า 2-3 เมตรอยู่แล้ว

หากจะเพิ่มความสูงขึ้นไปอีกจากปัจจุบันอย่างน้อยจะต้องมีอีก 60 ซม. หรือจาก 2 เมตรเดิมก็จะสูงขึ้นเป็น 2.60 เมตร และจะต้องขยายฐานออกไปด้วย ดังนั้นเรื่องของทัศนียภาพตลอดแนวลำน้ำ “ไม่ต้องพูดถึง” หากจะป้องกันไม่ให้น้ำเค็มแพร่ออกมา

“ในทางกลับกัน เราทำคันเพื่อป้องกันน้ำเค็มจากลำน้ำรุกเข้าไปในพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่อยู่อาศัย แต่ตอนที่เราจะต้องระบายน้ำจากในทุ่งในเมืองช่วงหน้าฝนหรือน้ำท่วมให้ลงสู่แม่น้ำก็จะมีปัญหาไปด้วยเพราะคันกั้นน้ำมันสูงขึ้น การสูบน้ำลงแม่น้ำจะเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าไฟฟ้าสูงตามไปด้วย การทำกิจกรรมทางน้ำจะเกิดอุปสรรคในการลงสู่ลำน้ำตลอดแนวพนังกั้นน้ำ” นายชวลิตกล่าว

และวิธีที่ 3 การสร้างกระเปาะเก็บน้ำเป็นกำแพงกั้นน้ำทะเลที่บริเวณปากแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาตามลำน้ำและเป็นการเก็บน้ำจืดไว้ใช้ด้วย โดยกระเปาะหรือกำแพงแบบนี้จะมีประตูเรือ-ประตูระบายน้ำใช้เป็นทางสัญจร ข้อดีของการสร้างกระเปาะเป็นกำแพงกั้นน้ำทะเลก็คือ เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว

โดยเฉพาะในอนาคตที่ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่าปัจจุบันมากและยังเป็นการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ภาคตะวันออก (Coastal Reservoir)

นอกจากนี้ยังเป็นการลดการสูบน้ำระบายน้ำฝนจากพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้ง จังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา และ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ผลกระทบด้านลบที่จะเกิดตามมาจากการสร้างกระเปาะก็คือ ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำจะหายไป กระทบกับที่อยู่ของวาฬและโลมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญก็คือ เงินลงทุนในโครงการก่อสร้างกระเปาะกำแพงกั้นน้ำทะเลจะมหาศาล อาจจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าล้านล้านบาท

ต้องชั่งน้ำหนักได้กับเสีย

ดังนั้นป่าชายเลนจะหายไปจากบริเวณเดิมแน่ อาจจะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ตามแนว Seawall บางส่วน ส่วนการควบคุมน้ำในกระเปาะจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามเวลา ในช่วงแรกจะต้องทำให้ฤดูฝนและฤดูแล้งที่น้ำทะเลหนุนสูงเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ ส่วนการเดินเรือจะได้รับผลกระทบน้อยเพราะ Nevigation Lock ต้องย้ายท่าเรือคองเตยมาอยู่ในทะเล

ส่วนคุณภาพน้ำในแม่น้ำ โดยเฉพาะน้ำเสียในแม่น้ำจะสะสมจะต้องมีระบบจัดการที่ต้นทาง แต่การระบายน้ำออกสู่ทะเลเป็นระยะจะไม่ทำให้เกิดน้ำเสียสะสม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของตะกอนแม่น้ำจะมาตก ต้องมีการขุดลอก ซึ่งปัจจุบันก็มีการขุดลอกปากแม่น้ำเพื่อรักษาร่องน้ำอยู่แล้ว

“การทำกระเปาะกำแพงกั้นน้ำทะเลเพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลรุกเข้ามาตอนในจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปัจจุบันมีการทำแล้วที่ รอตเตอร์ดัม รวมไปถึงที่ St.Petersburg รัสเซีย ต้อใช้เวลาในการดำเนินการเป็น 10-20 ปี ใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ตอนนี้ที่อินเดียก็ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาตามลำน้ำ ดังนั้นรัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มโครงการในลักษณะนี้แล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี

กรณีของประเทศไทยถ้าจะทำถือว่าเป็นโครงการระยะยาว ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากและมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่ผ่านมาทาง TEAM GROUP ได้ถูกเชิญจากพรรคการเมืองให้เข้าไปหารือถึงปัญหานี้และเราก็นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาข้างต้นในทุก ๆ วิธีการ

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดเข้ามาบริหารประเทศ เราก็พร้อมที่จะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ตอนในของประเทศ ซึ่งมันจะทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 27 ปีข้างหน้า ดังนั้นยังมีเวลาแก้ไข แต่ต้องรีบดำเนินการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง การสร้างกระเปาะกำแพงกั้นน้ำทะลอาจจะต้องยอมเสียบางอย่างเพื่อแลกกับบางอย่างเป็นเรื่องในระยะยาว” นายชวลิตกล่าว

แต่ถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ ในอีก 27 ปีข้างหน้า น้ำเค็ม ก็จะรุกหนุนสูงขึ้นถึงจังหวัดอ่างทองแน่นอน