แผนธุรกิจสถานีคำสะหวาด สปป.ลาวอ้าแขนรับนักธุรกิจไทยลงทุน

สถานีคำสะหวาด

ตลอดเวลาผ่านมา สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. หรือ NEDA ให้ความช่วยเหลือประเทศ สปป.ลาว ทั้งหมด 33 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 15,511.86 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 21 โครงการ มูลค่า 15,322.86 ล้านบาท และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 12 โครงการ มูลค่า 189 ล้านบาท

กล่าวกันว่า มูลค่าการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมา และเวียดนาม รวมมูลค่ากว่า 22,282.38 ล้านบาท โดย สปป.ลาวได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 69.70 ของวงเงินความช่วยเหลือทั้งหมด รองลงมาเป็นกัมพูชา 18.56%, เมียนมา 10.90% และเวียดนาม 0.84% ตามลำดับ

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว) หรือสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ทาง สพพ.ให้ความช่วยเหลือในการก่อสร้างระบบรางรถไฟหลัก

โดยเริ่มจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ ระยะทาง 7.50 กม., งานระบบอาณัติสัญญาณ, งานก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์, บ้านพักเจ้าหน้าที่, ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์, งานจุดตัดทางรถไฟ และค่าบริหารจัดการ ค่าที่ปรึกษา รวมทั้งสิ้น 994.68 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นเงินให้เปล่า 30% และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 70% อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี โดยมีอายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี) ซึ่งขณะนี้ทาง สปป.ลาวทยอยใช้เงินต้นบางส่วนแล้ว

สถานีคำสะหวาด

Advertisment

 

เปิดหวูดสถานีคำสะหวาดปลายปี’66

“พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. หรือ NEDA กล่าวว่า สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นการขยายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของ สปป.ลาว ที่ต่อเนื่องจากระยะแรกของเส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง และเส้นทางท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 1 คืองานก่อสร้างย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) ซึ่งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางรถไฟแห่งชาติลาว (National Railway Development Strategy) ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งสินค้าในปริมาณมากทางระบบราง เพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว

Advertisment

โดยงานก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อปี 2562 มีขอบเขตในการพัฒนางานก่อสร้างระบบรางรถไฟหลัก สำหรับสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) อยู่ในความรับผิดชอบของกรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1 เมตร

พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์
พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์

ที่สำคัญ สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีรถไฟแห่งที่ 2 ในเส้นทางโครงข่ายทางรถไฟไทย-ลาว ตั้งอยู่บริเวณบ้านคำสะหวาด เมืองไซเสดถา ห่างจากโครงการท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าอุปโภค บริโภค และผลไม้ขนาดใหญ่จากไทย-สปป.ลาวไปจีน เพียง 7.5 กิโลเมตรเท่านั้น

สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นสถานีรถไฟขนาด 2 ชั้น 2 ชานชาลา โดยชั้น 1 มีพื้นที่ 6,300 ตารางเมตร และชั้น 2 มีพื้นที่ 3,600 ตางเมตร นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ชานชาลาอีก 3,600 ตารางเมตร ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2566

 

ทางเลือกใหม่นักท่องเที่ยว-นักธุรกิจไทย

“พีรเมศร์” กล่าวต่อว่า สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค โดยพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบรางระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว (สายกรุงเทพมหานคร-นครเวียงจันทน์) นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และ สปป.ลาว ยังเชื่อมโยงไปยังประเทศที่สาม ได้แก่ จีน และเวียดนาม อีกด้วย

ดังนั้น นอกจากจะทำให้เกิดการค้าขายในกลุ่มประเทศดังกล่าว ยังช่วยลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า จนทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนของไทยไปประกอบธุรกิจใน สปป.ลาวอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับสัมปทานบริหารจัดการ CY และการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีเวียงจันทน์ พร้อมกับสนับสนุนให้มีการจ้างงาน และใช้สินค้าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างที่มาจากไทยมากยิ่งขึ้น

“ผลตรงนี้ ไม่เพียงจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย และชาวลาว หากยังเกิดประโยชน์กับประชาชนแถบภูมิภาคนี้ด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินภายในประเทศ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ยิ่งเฉพาะตอนนี้นครหลวงเวียงจันทน์เป็นหมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจจำนวนมาก เพราะสามารถเดินทางต่ออีกเพียง 6-8 กิโลเมตร ก็สามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงจากสถานีเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) ไปยังสถานีบ่อเต็น (จีน) อย่างง่ายดาย”

อนาคตเศรษฐกิจหมุนเวียนคึกคัก

นอกจากนั้น “พีรเมศร์” ยังกล่าวถึงแผนพัฒนาธุรกิจบริเวณโดยรอบสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา แต่เราพร้อมยินดีให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผมมองว่าตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานเสร็จหมดเรียบร้อยแล้ว ต่อไปความเจริญจะมาตามแผนธุรกิจที่วางไว้ และจากนั้นเศรษฐกิจจะตามมาเอง จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของประเทศเขาด้วย

“แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าต่อไปเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดี เพราะนอกจากด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จากที่เคยอยู่สถานีท่านาแล้ง จะมาอยู่ที่นี่ทั้งหมด คงปล่อยให้สถานีท่านาแล้งดำเนินการเรื่องการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวชาวไทย หรือชาวต่างประเทศนั่งรถไฟจากหนองคายเพื่อเข้าเวียงจันทน์ ก็จะมาดรอปที่นี่ก่อน ทั้งยังสามารถพักค้างคืนที่นี่ 1-2 วัน ก่อนจะเดินทางไปเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และบ่อเต็น ต่อไปได้ ฉะนั้นนอกจากจะทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งเกิดความคึกคัก ยังทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแถบบริเวณนี้ด้วย”

สปป.ลาวเปิดแผนธุรกิจชวนนักลงทุนไทย

“หินเพชร ละคอนวง” รองอธิบดีกรมรถไฟ สถานีรถไฟแห่งชาติลาว กล่าวถึงแผนพัฒนาการลงทุนว่า เรามี business plan คร่าว ๆ ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรต่อไป เพราะจากการทำสำรวจมีการประเมินคร่าว ๆ ว่าต่อไปน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการประมาณ 7,500 คน/วัน และปัจจุบันมีรถไฟจากไทยวิ่งเข้ามายังสถานีท่านาแล้งเพียง 1 เที่ยวต่อวัน ต่อไปคงเพิ่มเป็น 5 เที่ยว/วัน ซึ่งขบวนหนึ่งจะมีตู้คอนเทนเนอร์ 25 ตู้ และส่วนใหญ่จะขนทุเรียน และปุ๋ยเข้ามา เพื่อส่งผ่านไปยังประเทศจีน และ สปป.ลาว ขณะเดียวกัน เราก็ส่งออกเบียร์ลาว, กาแฟ และสินค้าอื่น ๆ ไปยังประเทศไทยด้วย

ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ทั้งในส่วนร้านค้าต่าง ๆ ภายในสถานี และบริเวณโดยรอบ ตอนนี้เราเริ่มคุยกับนักลงทุนบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนภายในประเทศ ซึ่งเขาก็เห็นดราฟต์ของเราแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการเซ็น MOU แต่อย่างใด

หินเพชร ละคอนวง
หินเพชร ละคอนวง

“สำหรับในส่วนของสถานี เราคงต้องไปศึกษาดูงานจากประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศ เพราะเราต้องการให้สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นสถานีที่มีชีวิต มีไลฟ์สไตล์ และเป็นสถานีจุดเชื่อมต่อที่อยากให้นักท่องเที่ยวมาแวะพักค้างคืน และตอนนี้เริ่มมีนักลงทุนจากภายในประเทศมาก่อสร้างเกสต์เฮาส์ รีสอร์ตบ้างแล้ว อนาคตจึงเชื่อแน่ว่าน่าจะมีนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ มาสร้างโรงแรม เพราะอย่างที่บอก สถานีนี้ไม่ไกลจากนครหลวงเวียงจันทน์ และไม่ไกลจากสถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทน์”

“ทั้งยังไม่ไกลจากโครงการท่าบกท่านาแล้ง ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่าในอนาคต บริเวณโดยรอบเมืองไซเสดถาน่าจะเติบโตอย่างน่าสนใจ”

ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาวรอวันเปิดสถานี

แต่กระนั้น เมื่อถามว่าขณะนี้มีอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ “หินเพชร” บอกว่า ช่วงระหว่างรอสถานีเปิดใช้บริการคงต้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และทาง สพพ.ช่วยประสานเพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ (พนักงานขับรถไฟ) ของเราไปทำการฝึกอบรมที่ประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายของ สปป.ลาวกำหนดไว้ชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติขับขบวนรถไฟใน สปป.ลาว

สถานีคำสะหวาด

“ผมคิดว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ของเราไปอบรมที่ประเทศไทย ประมาณ 15 คน โดย 5 คนแรกไปเรียนรู้เรื่องการขับรถไฟส่วนอีก 10 คนที่เหลือจะให้เรียนรู้เรื่องการบำรุงรักษา พนักงานเดินรถ ระบบขายตั๋วโดยสาร และอื่น ๆ เท่าที่ผมคุยกับทางผู้บริหาร สพพ.คาดว่าน่าจะใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 5 สัปดาห์ น่าจะมีความเชี่ยวชาญบ้างแล้ว จากนั้นค่อยให้พวกเขากลับมาเรียนรู้เพิ่มเติมที่ สปป.ลาว เพื่อฝึกความชำนาญอีกทางหนึ่ง”

“และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาเปิดดำเนินการจริง ๆ การรถไฟแห่งชาติลาวคงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากชาวไทย และต่างประเทศ รวมถึงนักธุรกิจจากหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามาทำการค้าขายกับบ้านเราอย่างคึกคักมากยิ่งขึ้น”