ลาวชูรถไฟ-ถนนเชื่อมจีน เป็นจุดขายประเทศ ออกพันธบัตร 3,600 ล้าน พยุงเศรษฐกิจ 

รถไฟลาว-จีน
รถไฟลาว-จีน

เมื่อปีที่แล้วสถานการณ์เศรษฐกิจของลาวน่าเป็นห่วง เพราะเจอสารพัดปัญหา ทั้งเงินเฟ้อสูง ค่าเงินกีบอ่อน ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ขาดแคลนน้ำมัน หนี้สาธารณะสูงเกือบเท่าจีดีพี ถึงขนาดที่ต้องเรียกหานักเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์กันว่า ลาวจะล้มละลายเหมือนศรีลังกาไหม แต่ลาวก็พอจะเอาตัวรอดมาได้ แม้จะไม่สบายดีนัก

สำหรับปี 2566 นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจลาวที่ 4% ส่วนธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์การเติบโตไว้ใกล้เคียงกันที่ 3.9%  

ในระยะข้างหน้า รัฐบาลลาวมีแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ตั้งเป้าจะสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยบอกว่า “จะเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจเชื่อมโยงโลกการค้าอาเซียนสู่ตลาดต่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น” ซึ่งรัฐบาลลาวคาดว่าในปี 2566-2568 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของลาวจะโตขึ้นปีละประมาณ 4.5-5.0% 

ทั้งนี้ การจะพัฒนาประเทศนั้นก็จำเป็นต้องมีเงินทุน ล่าสุด กระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Ministry of Finance of Lao PDR : MOFL) จึงออกพันธบัตรมาขายนักลงทุนในไทย 2 ชุด วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท 

สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจของลาวเพื่อให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่า จากไตรมาส 3 ของปี 2563 สปป.ลาวได้เปลี่ยนสถานะจากการขาดดุลบัญชีการค้ามาเป็นการเกินดุลบัญชีการค้าแล้ว โดยปี 2564 มีมูลค่าการส่งออก 7,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 8,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอัตราเติบโตเพิ่มมากขึ้นแบบขั้นบันไดอย่างมีนัยสำคัญ 

สุลีวัด สุวันนะจูมคำ
นายสุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง ประเทศลาว


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้จากการส่งออกของลาวเติบโตขึ้น ได้แก่ การส่งออกไฟฟ้า แร่ธาตุ ผลิตผลจากไม้ เยื่อไม้และกระดาษ สินค้าเกษตร ประกอบด้วย ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย อ้อย และกาแฟ ไปยังประเทศปลายทางต่าง ๆ เช่น ไทย จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น 

Advertisment

รายได้การส่งออกที่เติบโตขึ้นเป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานและโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่กำลังทยอยก่อสร้างเสร็จ เช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ (โครงการท่าบกท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์) และทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งประมาณ 30-40% และประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ สปป.ลาวสามารถส่งออกไปจีนและอาเซียนได้เพิ่มขึ้น และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

สำหรับพันธบัตรที่กระทรวงการคลังของ สปป.ลาวเตรียมเสนอขาย เป็นพันธบัตรชนิดระบุชื่อผู้ถือประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือพันธบัตรรวมจำนวน 2 ชุด ในรูปแบบสกุลเงินบาทไทย วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท 

Advertisment

พันธบัตร ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.1% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 และพันธบัตรชุดที่ 2 อายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.6% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2570 กำหนดการชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน โดยจะเตรียมเปิดให้จองซื้อในวันที่ 31 กรกฎาคม และ 2-3 สิงหาคม 2566 นี้ เสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย ให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนสถาบัน (II) 

วัตถุประสงค์การเสนอขายพันธบัตรในครั้งนี้คือ เพื่อต้องการนำเงินที่ได้ไปใช้รีไฟแนนซ์พันธบัตรชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566

ทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ช่วงเวียงจันทร์-วังเวียง
ทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น ช่วงเวียงจันทน์-วังเวียง


สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวตอกย้ำความมั่นใจว่า พันธบัตรของกระทรวงการคลัง แห่งสปป.ลาว น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนไทยที่เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของ สปป.ลาว ซึ่งตั้งแต่ปี 2556 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไทยเป็นอย่างดีต่อเนื่องมายาวนาน ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระกับนักลงทุน สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไขมาโดยตลอด

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีความแข็งแกร่งจากความได้เปรียบทางภูมิประเทศ ซึ่งข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่ลาวมีคือ พื้นที่รองรับน้ำฝนมีมากถึง 202,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจลาวในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานน้ำ (Hydro Power) ที่สามารถนำพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ รวมถึงส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ สปป.ลาวจึงเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ของอาเซียน จนได้รับการขนานนามว่า “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน” 

“รัฐบาลลาวตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 80% จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 11,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของ สปป.ลาวคือไฟฟ้า” 

นอกจากนี้ นายสุลีวัดบอกอีกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างจีนและอาเซียน ที่กำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบ เช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น และโครงการท่าบกท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) ที่เปิดดำเนินการแล้ว 

โครงการเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าส่งออกของอาเซียน และมีการขนส่งผ่านทางประเทศลาวมากขึ้น รวมไปถึงช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอีกด้วย