ลาวหวังฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ประกาศแผนโฟกัสนักท่องเที่ยวจีน

ลาวหวังฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว
REUTERS

เศรษฐกิจลาวที่ตกต่ำมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หวังว่าฟื้นตัวโดยได้แรงหนุนจากรถไฟลาว-จีนช่วยดึงนักท่องเที่ยวกลับมา รัฐบาลลาวมีความหวังอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวและได้ประกาศแผนปรับปรุงการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อโฟกัสนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีจากนี้

เมื่อปี 2565 ที่เศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจลาวกลับแย่ลงกว่าเดิม เจอสารพัดปัญหา ทั้งเฟ้อสูง ค่าเงินกีบอ่อน ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ขาดแคลนน้ำมัน หนี้สาธารณะสูงเท่าจีดีพี 

ถึงตอนนี้เศรษฐกิจลาวก็ยังไม่ฟื้นดี แต่ลาวมีความหวังว่าจะดีขึ้นได้ด้วยการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่หวังจะดึงเข้ามาได้มากขึ้น โดยมีรถไฟจีน-ลาวเป็นปัจจัยหนุน

สำนักข่าว Nikkei Asia (นิกเคอิ เอเชีย) รายงานเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า เศรษฐกิจของลาวกำลังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงโรคระบาดโดยได้แรงหนุนจากการเปิดให้บริการผู้โดยสารข้ามพรมแดนของรถไฟลาว-จีน ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมา แต่การฟื้นตัวก็มาพร้อมกับความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนมากเกินไป 

เมื่อเดือนเมษายน 2566 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ปรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ มูลค่าตามราคาคงที่ (Real GDP) ของลาวในปี 2566 เป็น 4% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านั้นที่คาดว่าจะโต 3.5% และสูงกว่าปี 2565 ที่โต 2.3%  

ในปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลาวอยู่ที่ 4.7% แล้วหดตัวลงเมื่อเจอกับโควิด-19 ในปี 2563 ก่อนจะขยายตัวในช่วง 2% ในปี 2564 และ 2565  

ปัจจัยการเติบโตหลักของเศรษฐกิจลาวคือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 

สำหรับทั้งปี 2566 นี้ ธนาคารพัฒนาเอเชียคาดว่าลาวจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเยือน 2.6 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2565 แม้ตัวเลขนี้จะดูน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยว 4.8 ล้านคนในปี 2562 แต่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ   

ตามข้อมูลของรัฐบาลลาว ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าลาวจำนวน 1.11 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าจำนวนสะสมของเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปี 2565  

ในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา รถไฟลาว-จีนระยะทาง 1,000 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนานของประเทศจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาวเริ่มให้บริการผู้โดยสารข้ามพรมแดน ซึ่งการเปิดให้บริการทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาลาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลก  

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวประกาศแผนระยะเวลา 3 ปี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศโดยเจาะจงนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้น และอาจส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของลาวเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นนักท่องเที่ยวจีนไปเยือนลาวเป็นอันดับ 3 รองจากนักท่องเที่ยวไทยและเวียดนาม 

สำนักข่าวลาวพัฒนา รายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 ว่า นายอุ่นทวง ขาวพัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ของลาว กล่าวระหว่างการประชุมว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายสูง หลายประเทศได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนไปท่องเที่ยวประเทศของตน ดังนั้น ลาวก็ควรทำตามความเหมาะสมเช่นกัน 

เขาเสริมว่ารัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ปรับปรุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ทันสมัย ​​และปรับตัวให้เข้ากับตลาดจีน โดยพิจารณาจากศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวและประเพณีของลาว

Nikkei Asia รายงานอีกว่า ลาวคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งปีนี้ไว้ที่ประมาณ 370,000 คน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในลาวทะลุ 200,000 คนไปแล้ว 

แผนของรัฐบาลลาวที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน มีทั้งการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ที่พูดภาษาจีน การเพิ่มเที่ยวบินจากเมืองต่าง ๆ ของจีน และการส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัทเอกชนได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในความพยายามครั้งนี้ด้วย 

ส่วนฝั่งรัฐบาลจีนก็ได้ส่งเสริมให้พลเมืองของตนเดินทางไปยังลาว และประเทศที่อยู่ในรายชื่อจุดหมายปลายทางที่ได้รับการอนุมัติ 20 ประเทศ โดยยกเลิกคำสั่งห้ามจัดกลุ่มทัวร์ออกต่างประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

ระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลาวที่ขึ้นอยู่กับจีนนั้นมาพร้อมความเสี่ยงในเรื่องอิทธิพลที่จีนมีต่อลาวมากเกินไป ปัจจุบันนี้มีการใช้เงินหยวนแพร่หลายในบางเมืองของลาวที่รถไฟลาว-จีนแล่นผ่าน และทางหลวงที่สร้างขึ้นที่ชานเมืองเวียงจันทน์ในปี 2563 ก็มีการลงทุนจากจีนเช่นกัน  

เศรษฐกิจของลาวตกต่ำลงอย่างมากในช่วงโรคระบาด และช่วงสิ้นปี 2564 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 90% ของจีดีพี ซึ่งจีนเป็นเจ้าหนี้สัดส่วนเกือบครึ่งของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด 

“หากลาวพึ่งพาจีนมากขึ้น อาจนำไปสู่การแทรกแซงกิจการภายในประเทศ” เคนอิจิโร ยามาดะ (Kenichiro Yamada) ผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในเวียงจันทน์ แสดงความเห็น 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลาวจะไม่เป็นไปตามที่คาด เนื่องจากภาคการคลังสาธารณะที่แย่ลง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบของลาวต่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 32% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น หนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น และความเชื่อมั่นในสกุลเงินที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงซึ่งลาวพึ่งพาการนำเข้า อาจทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะงัก