
ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเผชิญปัญหาภาวะล้นตลาด และราคาดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวียดนามตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงในโคที่ส่งออกไปปลายปี 2565 แต่ถึงวันนี้สถานการณ์ราคายังไม่กระเตื้องขึ้น
โคเนื้อล้นตลาดราคาดิ่ง
นายไพบูลย์ ใจเด็ด อุปนายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาฟาร์มโคเนื้อในหลายจังหวัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงโคเนื้อทั่วประเทศไทยประสบปัญหาราคาตกต่ำมาก โดยโคมีชีวิตน้ำหนักประมาณ 500 กก./ตัว ราคาอยู่ที่ 85-90 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 80-90 บาท/กก.
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
โดยปัญหาหลักมาจาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.จำนวนโคเนื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก จากข้อมูลกรมปศุสัตว์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่ามีโคเนื้อประมาณ 9.46 ล้านตัว และล่าสุดวันที่ 11 ก.ย. 2566 มีโคเนื้อ 9.66 ล้านตัว จำนวนโคเนื้อเพิ่มขึ้น พร้อมกับจำนวนเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีโคเนื้อในประเทศจำนวนมาก
2.การใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคขุน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่กระทบต่อการส่งออกโคเนื้อไป เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา
3.การลักลอบนำเข้าโคเถื่อนจากประเทศเมียนมาจำนวนมาก ส่งผลให้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD), โรคลัมปีสกินที่ทำให้เกิดการสูญเสียไปมหาศาล และเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เกิดการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนอันตรายถึงตายได้
4.การลักลอบนำเข้าเนื้อโคกล่องแช่แข็ง หรือเนื้อโคเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ตอนนี้ในตลาดนัดตำบลต่าง ๆ มีเนื้อโคเถื่อนแช่แข็งเกลื่อนเต็มตลาดไปหมด และเชื่อว่ายังมีซุกซ่อนอยู่ตามห้องเย็นจังหวัดต่าง ๆ และเนื้อโคเถื่อนที่นำเข้ามาจะนำโรคติดต่อต่าง ๆ เข้ามาด้วย
5.การเลิกเลี้ยงโคนม เนื่องจากราคานมตกต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมล่มสลาย ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง เกษตรกรอยู่ไม่ได้ สมัยก่อนตนเคยเลี้ยงโคนม ลงทุน 100 บาท ขายได้ 150 บาท มีกำไร 50 บาท แต่ทุกวันนี้ลงทุนไป 100 บาท ขายนมได้ 70 บาท ขาดทุนแล้ว 30 บาท สถานการณ์การเลี้ยงโคนมแย่ลง ๆ เกษตรกรเลิกเลี้ยงหมด
รัฐหนุนเลี้ยงแต่ไร้ตลาด
ข้อมูลเดือนธันวาคม 2564 ประเทศไทยมีโคเนื้อ จำนวน 8,927,161 ตัว มีเกษตรกร 1,348,496 ราย, เดือนธันวาคม 2565 ช่วงโควิด-19 คนกลับบ้านไปเลี้ยงโคเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนโคเนื้อเพิ่มขึ้นเป็น 9,458,759 ตัว มีเกษตรกร 1,417,686 ราย, เดือนกันยายน 2566 จำนวนโคเนื้อเพิ่มขึ้น 9,655,380 ตัว มีเกษตรกรเพิ่มขึ้น 1,425,414 ราย
กรมปศุสัตว์มีการสำรวจข้อมูลการเลี้ยงโค แบ่งเป็นโคขุน 3 แสนตัว, โคพื้นเมือง 4.8 ล้านตัว, โคพันธุ์แท้ 1.3 แสนตัว, โคลูกผสม 4.3 ล้านตัว ทั้งนี้ โคเนื้อที่ส่งออกเป็นโคลูกผสมที่นำมาขุน
ได้มีการเก็บข้อมูลการเลี้ยงโคย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2515 ประเทศไทยมีโคอยู่ 4.5 ล้านตัว หลังจากนั้น รัฐบาลทำโครงการต่าง ๆ สนับสนุนในการเลี้ยงโค เป็นยุคทองของโคเนื้อ จนส่งผลให้มีปริมาณโคเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีฟองสบู่แตก หรือโคล้นตลาดถึง 3 ครั้ง
โดยฟองสบู่แตกครั้งแรก เริ่มจากปี 2536 รัฐบาลทำ “โครงการอีสานเขียว” มีการปั่นราคาโคพันธุ์ฮินดูบราซิล ปริมาณวัวเพิ่มขึ้น 7.4 ล้านตัว ฟองสบู่แตกปี 2538-2539
ครั้งที่ 2 รัฐบาลทำ “โครงการโคล้านตัว” ในปี 2548 จนทำให้ฟองสบู่แตกปี 2549-2550 จำนวนโคเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 ล้านตัว
จนสุดท้ายสามารถส่งออกโคไปจีน เวียดนามได้ ก็เกิดการเลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พอเจอโรคลัมปีสกิน ณ ปัจจุบัน เป็นฟองสบู่แตกครั้งที่ 3 มีปริมาณโคเพิ่มถึง 9.66 ล้านตัว ขณะที่กรมปศุสัตว์บอก ความต้องการบริโภคเนื้อของคนไทย ประมาณ 3-4 กิโลกรัมต่อคน/ปี ซึ่งคิดว่าไม่จริง คนไทยน่าจะบริโภคโคอยู่ประมาณ 2 กก.กว่าต่อคนต่อปี คนไทยบริโภคเนื้อเพียง 1.2 ล้านตัวต่อปี ตอนนี้ล้นตลาด จึงต้องพยายามส่งออก
จี้ปราบโคเถื่อน-สารเร่งเนื้อแดง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นการนำเข้าเนื้อโคและเนื้อกระบือเถื่อน สร้างมูลค่าความเสียหาทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 23,400 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยประเทศไทยมีการกินเนื้อโคและกระบือ 1.2 ล้านตัวต่อปี มีน้ำหนักที่เข้าโรงเชือดประมาณ 400 กิโลกรัม ราคาประมาณ 30,000 บาทต่อตัว แต่ปัจจุบันเนื้อกล่องเถื่อนเข้ามาแย่งตลาดกว่า 65%
ขณะเดียวกัน มูลค่าความเสียหายจากการระงับส่งออกเนื้อโคไปจีน-เวียดนาม เนื่องจากการตรวจพบสารเร่งเนื้อแดง คาดว่าส่งผลกระทบไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี
ที่ผ่านมาทางภาครัฐได้จัดทำโครงการขึ้นหลายโครงการ อาทิ โครงการอีสานเขียว, โครงการโคล้านตัว, โครงการโคบาลบูรพา และโครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
นายไพบูลย์ กล่าวว่าอยากจะเสนอให้มีการถอดบทเรียนจากโครงการในอดีต และถ้าต้องการพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อหาหนทางที่จะรอดจากวิกฤตไปได้ 1.ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อต่อกิจการโคเนื้อ
2.เร่งปราบปรามสารเร่งเนื้อแดง เนื้อกล่องเถื่อน การลักลอบวัวเถื่อนจากเมียนมาให้หมดไป 3.สร้างความเชื่อมั่นกับตลาดต่างประเทศกลับคืนมา อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม จีน 4.สนันสนุนและส่งเสริมการแปรรูปเนื้อโคเพื่อส่งออก และจัดตั้งสมาพันธ์โคเนื้อ
จี้รัฐเจรจาเปิดตลาดส่งออก
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ประธานคณะกรรมการโคเนื้อศรีวิชัย (พัทลุง) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรสหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย และสมาชิกเครือข่ายไม่สามารถส่งออกโคเนื้อไปต่างประเทศได้ จึงได้ร่วมกับรัฐวิสาหกิจของประเทศมาเลเซีย จัดโครงการโคเนื้อคุณภาพเพื่อการส่งออกโลกมุสลิม
โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อยู่ระหว่างยกร่างสัญญา คาดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566
หลังลงนามเอ็มโอยู ทางสหกรณ์จะรับซื้อโคเนื้อ โคขุนจากสมาชิกสหกรณ์ และสมาชิกเครือข่ายในราคาประกัน 105 บาท/กก. จากนั้นจะนำโคมากักโรคที่คอกสัตว์ของสหกรณ์ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง 21 วัน หลังจากนั้นจะส่งโคไปประเทศมาเลเซีย
ซึ่งรัฐวิสาหกิจของประเทศมาเลเซีย จะกักโรคต่ออีก 14 วัน ก่อนส่งเข้าโรงเชือด ในเบื้องต้นจะส่งโคไปมาเลเซียประมาณ 20 ตัว/สัปดาห์ หรือประมาณ 80 ตัว/เดือน
นายวิรัตน์ รอดนวล ประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง และประธานกรรมการ บริษัท ลังกาสุกะฟาร์ม จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โคเนื้อ โคขุนค่อนข้างซบเซามาก ราคากลับดิ่งลงมาอยู่ที่ 75-80 บาท/กก. จากเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ราคา 90-100 บาท/กก. ผู้เลี้ยงต่างประสบภาวะขาดทุน
ภาพรวมยอดขายหดตัวไปประมาณ 40% สาเหตุเพราะประเทศจีน เวียดนาม หันไปซื้อโคเนื้อ โคขุน จากประเทศออสเตรเลีย เข้ามาทดแทนจากราคาที่ต่ำกว่า เนื่องจากประเทศออสเตรเลียจะมีการเลี้ยงโคขุน โคเนื้อ ปริมาณมาก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเจรจาแก้ปัญหาให้ประเทศไทยกลับไปส่งออกได้ จะทำให้ราคาโคเนื้อในประเทศขยับขึ้นได้