“เนื้อวัวเถื่อน” ตามรอยหมู ราคาดิ่งลอบนำเข้าเกลื่อน

โค

วงการปศุสัตว์ป่วนอีกระลอก ปัญหาหมูเถื่อนยังไม่คลี่คลาย ห้องเย็นทยอยระบายของเข้าตลาดฉุดราคาดิ่งต่อเนื่อง ล่าสุดเจอปัญหาวัว-ควายเถื่อนอีก อุปนายกสมาคมสัตวบาลฯ โอดปัญหาหนักข้อมากขึ้น ร่ายยาวกระทบต่อเกษตรกร 1.4 ล้านคน สูญเสียทางเศรษฐกิจ 60,000 ล้าน/ปี จี้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหา

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ สภาเกษตรฯ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานประสานและติดตามการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร เพื่อคุ้มครองความเป็นธรรมด้านปศุสัตว์ ครั้งที่ 2/2566 เรื่องปัญหาหมูเถื่อน โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาหมูเถื่อน

ประกอบด้วยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการค้าภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้เร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐมีการทำลายซากสุกรของกลางจำนวน 161 ตู้ ที่อยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง

โดยกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ต้องหาทางออกร่วมกัน พร้อมหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน และตอนนี้ยังมีสต๊อกหมูเถื่อนอยู่ในห้องเย็นต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ส่งผลกระทบให้ราคาหมูภายในประเทศตกต่ำลงเรื่อย ๆ

“เกษตรกรขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มราคาเพียงกิโลกรัมละ 64 บาท ขณะที่ต้นทุนพุ่งไป 80-90 บาทต่อกก. หมูเถื่อนทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรนับล้านคนเดือดร้อน”

หมูหน้าฟาร์มแนวโน้มราคาดิ่ง

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวในเรื่องนี้ว่า สัปดาห์นี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯจะเข้าไปขอดูหมูเถื่อนของกลาง 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมทั้งเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการทำลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีหมูเถื่อนที่เก็บไว้ตามห้องเย็นต่าง ๆ เร่งระบายสินค้าออกมา ส่งผลกระทบต่อราคาขายหมูของเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงฯ ขอให้กรมปศุสัตว์ตรวจห้องเย็นในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อตรวจจับหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้องเย็นต่าง ๆ ได้ทยอยส่งหมูเถื่อนออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเริ่มปรับตัวดิ่งลง หมูเถื่อนที่กระจายออกทั่วไปได้สร้างซัพพลายเทียมให้เกิดในตลาด ทำให้ราคาหมูมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันพระที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) แม้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศยืนราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในภาคต่าง ๆ ไว้ แต่ราคาหมูที่ซื้อขายจริงในตลาดปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยวันพระที่ผ่านมาปรับตัวลง 2 บาท และวันพระหน้า (25 มิ.ย.) อาจจะปรับลงถึง 4 บาท ซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามราคาตลาดของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน เฉลี่ยตั้งแต่ 66-68-70-72-76 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของผู้ประกอบการรายย่อย รายกลางอยู่ที่ประมาณ 80-90 บาท/กก.

หากภาครัฐยังไม่เร่งแก้ปัญหาหมูเถื่อนผู้เลี้ยงก็จะขาดทุนหนักขึ้น นอกจากนี้ การที่ยังมีหมูเถื่อนทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลกระทบต่อราคาหมูในท้องตลาดตามไปด้วย

รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการสืบค้นข้อมูลการส่งออกเนื้อสุกรจากบราซิลมายังประเทศไทย จากข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่ามีการสำแดงการนำเข้าเป็นเม็ดพลาสติก หรือ PVC โดยข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีพบว่า PVC HS Code 3904 PVC-poly of vinyl chloride ปี 2018 มีมูลค่า 6,152,682,110 บาท ปี 2019 มูลค่า 5,520,855,459 บาท ปี 2020 มูลค่า 5,882,048,155 บาท ปี 2021 มูลค่า 7,663,199,829 บาท ปี 2022 มูลค่า 9,217,063,159 บาท หากเทียบตัวเลขในปี 2021 และ 2022 จะสอดคล้องกับการเติบโตของการส่งออกสินค้าเนื้อสุกรจากบราซิลมายังประเทศไทย

ลักลอบนำเข้าโค-กระบือหนัก

ผศ.ไพบูลย์ ใจเด็ด อุปนายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านโคเนื้อเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะทำงานประสานและติดตามการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร เพื่อคุ้มครองความเป็นธรรมด้านปศุสัตว์ ครั้งที่ 2/2566 ที่ผ่านมา ตนได้เข้าไปชี้แจงปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้าโคเถื่อน

ซึ่งขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค (วัว) และกระบือ (ควาย) ประสบปัญหาอย่างหนักเช่นเดียวกับผู้เลี้ยงหมู เนื่องจากพบโคและควายเถื่อนลักลอบเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคภายในประเทศ 1.4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโคและกระบือไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี

“ปัญหาการลักลอบนำเข้าวัวมีมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ในอดีตยังไม่รุนแรงเท่าตอนนี้ โดยพบว่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการลักลอบเพิ่มปริมาณเข้ามาจำนวนมาก โดยปัจจุบันเนื้อกล่องเข้ามาแย่งตลาดประมาณ 65% คิดเป็นมูลค่า 23,000 ล้านบาทต่อปี”

ผศ.ไพบูลย์ให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมาไทยยังสามารถส่งออกเนื้อวัวไปยังเวียดนามและจีนได้ประมาณ 3 แสนตัวต่อปี คิดเป็นรายได้เข้าประเทศประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้ปัญหาไม่รุนแรง แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการตรวจพบการใช้สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า อะโกนิสต์ (B-agonist) ในเนื้อโคไทย ทำให้เวียดนามและจีนงดการนำเข้าเนื้อโคจากไทย จึงฉุดราคาขายภายในประเทศให้ตกต่ำกว่าต้นทุนลงไปเรื่อย ๆ

เห็นได้จากโคมีชีวิตน้ำหนักประมาณ 500 กก./ตัว จากเคยขายได้ 95-100 บาท/กก. ตอนนี้ปรับลดลงเหลือ 60-70 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 80-90 บาท/กก. คนรับซื้อโคมีชีวิตไปเชือดจะขายต่อให้เขียงในราคา 180-220 บาท/กก. และเขียงจะขายปลีกราคา 250-300 บาท/กก. ขณะที่เนื้อโคและกระบือเถื่อนที่ชำแหละแล้วตั้งราคาขายส่งประมาณ 100-150 บาท/กก. และนำมาขายปลีกราคาเดียวกับโคเนื้อภายในประเทศที่ 250-300 บาท/กก.

“โคและควายเถื่อนมีการนำเข้ามา 3 ช่องทางหลัก 1.โคมีชีวิตเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ตะเข็บชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา โดยเข้าทาง อ.แม่สอด จ.ตาก, แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร และทางใต้เข้ามาทาง จ.สตูล 2.เนื้อวัวกล่องที่ส่งมาจากประเทศบราซิล ซึ่งตอนนี้ 59 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกค้างในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งข้างในมีทั้งเนื้อวัวกล่อง ตีนไก่ และปีกไก่ 3.มีการนำเนื้อควายจากอินเดียเข้ามา”

ผศ.ไพบูลย์ย้ำว่า สาเหตุหลัก ๆ ไม่ต่างจากกรณีหมูเถื่อน เจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวด ที่สำคัญโคมีชีวิตที่ลักลอบเข้ามายังทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น ลัมปี สกิน (Lumpy skin) เมื่อปี 2564 มีวัวตายไป 3 แสนตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท โรคปากเท้าเปื่อย ที่ระบาดมาตลอด 50 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และกังวลว่าอาจจะทำให้มีโรควัวบ้า และโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คนปะปนเข้ามาได้

“การที่ปัญหาโคเถื่อนไม่ค่อยมีข่าวออกไป เพราะคนเลี้ยงวัวส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่ประมาณ 1.4 ล้านคนทั่วประเทศ และมีผู้เลี้ยงโครายใหญ่เพียง 0.7-0.8% เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันได้เข้มแข็งเหมือนกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่มีเพียง 1.2-1.4 แสนคนทั่วประเทศ และในจำนวนนี้เป็นผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่เกือบ 30% และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง”

ปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงโคประมาณ 9.68 ล้านตัว มีการบริโภคภายในประเทศเฉลี่ย (2561-2564) ประมาณ 1.19 ล้านตัวต่อปี จำนวนที่อนุญาตให้ฆ่าเป็นอาหารปี 2564 ประมาณ 434,278 ตัว ส่งออกโคมีชีวิตเฉลี่ย (2561-2564) 2.68 แสนตัว โคนำเข้าจากประเทศเมียนมาเฉลี่ยปีละ 5 แสนตัว มีทั้งถูกกฎหมายและลักลอบนำเข้า