นักวิชาการชี้ แนวโน้มเรือสำราญเอเชียเติบโตสูง วอนรัฐเร่งพัฒนาดึงดูด นทท.เรือสำราญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 เม.ย.61) คณะนักวิจัยคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นำโดย ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง (หัวหน้าโครงการ) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคณะ นำเสนอโครงการประชุมการศึกษาประเด็นเร่งด่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ จ.ภูเก็ต

ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า วันนี้นำเสนอผลวิจัยการศึกษาประเด็นเร่งด่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญของประเทศไทย โดย สกว.สนับสนุนงานวิจัยนี้ เป็นโครงการที่รัฐบาลคัดเลือกมาเพื่อให้ทำการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวเรือสำราญเติบโตในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะเอเชีย จึงเป็นเริ่องที่สำคัญในการศึกษาบริบทของประเทศไทยควรมีการปรับปรุงด้านใดบ้าง และนำเสนอผลวิจัยการศึกษาให้ประชาคมที่เกี่ยวข้องรับทราบ

Advertisement

ทั้งนี้ สถานการณ์และแนวโน้มของการท่องเที่ยวเรือสำราญเติบโตขึ้น จากปี 2016 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 19.1 ล้านคน ปี 2017 มี 25.8 ล้านคน เรือสำราญนิยมแวะพักท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือภูเก็ต และท่าเรือเกาะสมุย โดยมีรายได้จากผู้โดยสารทั่วโลก 4,465บาท/วัน ประเทศไทย 6,174.11บาท/วัน Homeport รายได้ประมาณ 7 เท่าของ Port of call รายได้จากลูกเรือ (ประเทศไทย) 1,650 บาท/คน ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ได้แก่ วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ หาดป่าตอง วัดฉลอง อ่าวพังงา และการล่องเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยา

“เรือสำราญเติบโตอย่างมาก การท่องเที่ยวเรือสำราญเปลี่ยนไปจากเดิม ปัจจุบันใช้เรือขนาดใหญ่มากขึ้นทำให้ราคาถูกลง และต้องมีท่าเรือรองรับขนาดเรือ รวมทั้งจำนวนคน เมื่อเรือเข้ามาในเอเชียมากขึ้น แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทั้งท่าเรือ เทอร์มินัลต่างๆ เพื่อดึงดูดสายการเดินเรือ ดึงดูดคนให้เข้ามา สร้างความสุข เพิ่มรายได้เข้ามามากขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ ค่าใช้จ่ายต่อคนสูง”

สำหรับความจำเป็นเร่งด่วน ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ความปลอดภัย การพัฒนากฎระเบียบต่างๆให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเรือสำราญ รวมทั้งสินค้าบริการที่น่าสนใจจะสามารถเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวเรือสำราญปัจจุบันเป็นกลุ่มเอเชียมากขึ้น ซึ่งเข้ามาเป็นลักษณะครอบครัว ส่งผลต่อจุดหมายปลายทางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เช่น เวียดนาม ฮ่องกง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งไทยอาจต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ตลาดกลุ่มนี้

Advertisement

ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของภูเก็ต ปัญหาหลักคือท่าเรือน้ำลึก ไม่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าบริษัทเอกชนที่ประมูลจะมีการพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์เพื่อตอบโจทย์นี้ ปัจจุบันเรือสำราญเข้ามาภูเก็ต จะใช้ท่าเรือที่ป่าตอง แต่มีข้อจำกัดเยอะ เชื่อว่าถ้ามีการพัฒนาจุดนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเรือสำราญเข้ามา ส่งผลให้รายได้เข้ามาพื้นที่มากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลตั้งใจจริงใจในการพัฒนา หากมีการประสานเชิงเครือข่ายมากขึ้น จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาท่องเที่ยวเรือสำราญได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ศักยภาพของท่าเรือภูเก็ต โดยเฉพาะที่ป่าตอง มีจุดแข็งคือ ท่าเรือป่าตองมีทำเลที่ตั้งที่ดี มีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยว ส่วนจุดอ่อนของท่าเรือ คือ ไม่มีอาคารผู้โดยสาร ไม่มีท่าเทียบเรือที่เป็นมาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเรือสำราญไม่เพียงพอ การบริหารจัดการไม่เป็นระบบ ไม่ทันสมัย การจราจรบริเวณท่าเรือติดขัด ขาดการขับเคลื่อนท่องเที่ยวเรือสำราญอย่างเป็นรูปธรรม บุคลากรที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความรู้ความเข้าใจธุรกิจเรือสำราญ มีข้อจำกัดในการใช้เรือเล็กของท้องถิ่นในการขนถ่ายผู้โดยสาร รวมทั้งความปลอดภัยในการรองรับผู้โดยสาร

Advertisement