
เกษตรกร 3 จังหวัดรอยต่อลุ่มน้ำปากพนัง แห่โค่นยางปลูกปาล์มน้ำมัน หลังราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ราคาต้นกล้าร่วงจาก 240 บาท/ต้น เหลือ 150 บาท/ต้น หวั่นทิ้งเป็นพื้นที่รกร้าง นาร้าง เสียภาษี
แหล่งข่าวจากเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการลงทุนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันกันมากบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ประมาณกว่า 100,000 ไร่
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
เนื่องจากมีชาวสวนยางรายย่อยจำนวนมากได้สมัครเข้าร่วมโครงการของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยาง 150,000 ไร่ โดยให้เงินทุนอุดหนุน ไร่ละ 10,000 บาท เพื่อให้ชาวสวนยางพัฒนาอาชีพใหม่ทดแทนการทำสวนยาง ประกอบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาปาล์มน้ำมันก็ดีมาตลอด โดยขณะนี้เคลื่อนไหวอยู่ที่ 5.80-6 บาท และมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จูงใจให้ชาวสวนยางรายย่อยโค่นยางหันมาปลูกปาล์มน้ำมันทดแทน ที่สำคัญตอนนี้หากปล่อยพื้นที่รกร้างจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี
“โดยเฉพาะ อ.ระโนด จ.สงขลา ปัจจุบันเหลือเพียงอำเภอเดียว ซึ่งเป็นแหล่งนาข้าวรายใหญ่ ประมาณ 100,000 ไร่ ตอนนี้ได้หันมาปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้เหลือพื้นที่นาข้าวประมาณ 70,000 ไร่ ยังไม่รวมถึง อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร ส่วนช่วงรอยต่อ 3 จังหวัดพื้นที่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา และลุ่มน้ำปากพนัง ได้หันโค่นยางไปปลูกปาล์มน้ำมันกันเกินกว่า 100,000 ไร่แล้ว”
นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนผสมผสานปาล์มน้ำมัน มะพร้าวและหมาก ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในภาคใต้มีการโค่นยางพารา เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันกันอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าผลผลิตปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีกปริมาณมาก ตอนนี้ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของกลุ่มอยู่ที่ 4.70-4.80 บาท/กก.
ขณะนี้ราคาตลาดเคลื่อนไหวอยู่ที่ 5.80-6 บาท แต่ตนเองลดต้นทุนโดยให้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมักมูลไก่ และใช้ปุ๋ยเคมีบางส่วน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตไปได้อีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังให้การสนับสนุนนำปาล์มน้ำมันไปแปรรูปเป็นพลังงาน การปลูกปาล์มน้ำมันยังเดินหน้าต่อไปได้
นายสมศักดิ์ พาณิชย์ เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันและลานปาล์มน้ำมัน อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ดีมาจากปัจจัยภายในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งสถานการณ์เอลนีโญที่ก่อให้เกิดภัยแล้ง อัตราแลกเปลี่ยน สงครามยูเครน-รัสเซีย และล่าสุดสงครามระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ประกอบกับราคาต้นกล้าปาล์มปรับตัวลดลงจาก 240 บาท/ต้น มาอยู่ที่ 150 บาท/ต้น ทำให้มีคนหันมาปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นมาก
ภาพรวมขณะนี้มีการลงทุนปลูกเพิ่มขึ้นเกือบ 40%
ส่วนต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ คือ สายพันธุ์ยูนิค จ.กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะมีปริมาณน้ำมันสูงสุดถึง 22% นอกจากนี้มีสายพันธุ์สุราษฎร์ 1 2 และสุราษฎร์ 7 ฯลฯ สำหรับประเด็นเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมันปลอมหรือด้อยคุณภาพมีผลิตปริมาณน้อย ยังมีอยู่
เนื่องจากกระบวนการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง อาจจะเอาลูกร่วงใต้โคนต้นไปเพาะพันธุ์ ดังนั้นผู้ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันจะต้องรอบคอบ ซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันจากศูนย์เพาะที่มีใบอนุญาตรับรองจากทางราชการ จึงจะได้ต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ
นายสมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันควรทราบคือ ข้อมูล รู้เรื่องเปอร์เซ็นต์ และน้ำหนักปาล์มน้ำมัน โดยปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร จะได้เปอร์เซ็นต์กว่า 18% และสูงสุดถึง 20-22% แต่เมื่อนำไปขายจะได้ประมาณ 18% ซึ่งจะสูญเสียไป 4% สูงสุด
นอกจากนี้ ต้องทราบเวลาเก็บเกี่ยวตัดปาล์มน้ำมันจะต้องตัดปาล์มสุกอยู่ที่ประมาณ 80% ไม่ใช่ 100% ซึ่งเป็นลูกร่วงจะสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 10-15% หากคิดเป็นปริมาณต่อตัน น้ำหนักจะหายไปประมาณ 100-150 กก.