“สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ” นั่งนายกสมาคมหมูคนใหม่ ลุยแก้ “หมูเถื่อน”

สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ

“สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ” นั่งแท่น “นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ” คนใหม่ ด้วยคะแนนท่วมท้น แทนนายนายสุรชัย สุทธิธรรม หวังสานรอยร้าวในสมาคมระหว่างผู้เลี้ยงรายย่อยและรายใหญ่

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งว่า วันนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 และปีนี้ได้มีการคัดเลือกนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ หรือเฮียเภา เจ้าของฟาร์มสุกรสิทธิภัณฑ์ฟาร์ม หรือ SPF จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกันมา 2 วาระ ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นเป็นนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคนใหม่ แทนนายสุรชัย สุทธิธรรม

ที่ผ่านมานายสิทธิพันธ์ มีผลงานโดดเด่นในช่วงหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ปี 2565 คือการให้ความรู้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการจัดสัมมนาที่ชื่อว่า “หลังเว้นวรรค…จะกลับมาเลี้ยงใหม่อย่างไร ? ให้ปลอดภัยจาก ASF” ซึ่งมีการจัดเวียนทั้งภาคอีสาน

ทำให้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกลับเข้ามาสู่ในอาชีพใหม่เป็นจำนวนมากหลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของ ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงปี 2564 ถึง 2565

โดยปี 2566 นายสิทธิพันธ์ ร่วมมือกับ สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ อบรมแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับสุกร (GAP สุกร) เนื่องจากมาตรฐานฟาร์มเริ่มเป็นภาคบังคับในปี 2566 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ฟาร์มระดับกลางและระดับใหญ่ต้องถือปฏิบัติ

ภารกิจใหม่ของนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอีก 1 ประเด็นคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและการทำตลาดของบริษัทครบวงจรรายใหญ่ ที่มีการยื่นร้องกับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อ 20 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประเด็นที่คุณสิทธิพันธ์ได้แสดงวิสัยทัศน์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

ADVERTISMENT

ผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนหนึ่งในนามของ “ชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เสมือนเป็นตัวแทนกลุ่มของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในการที่จะเรียกร้อง ให้เกิดการบริหารจัดการในการแบ่งปันพื้นที่การทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยผลที่ได้จะเกิดกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั้งประเทศ

ภารกิจที่รออยู่ข้างหน้าของนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคนใหม่

ADVERTISMENT

1. ผลกระทบจากการแย่งตลาดของสินค้าสุกรลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ที่เป็นเหตุผลหลักของราคาสุกรตกต่ำในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี

2. ปัญหาโครงสร้างต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนในการกำกับดูแลจากภาครัฐ

3. จะทำอย่างไรกับการหยุดวิกฤตสุกรในปัจจุบันที่ผู้เลี้ยงขาดทุนอย่างหนักประมาณ 20-30% ทั่วทั้งประเทศ เป็นระยะเวลาร่วม 9 เดือนโดยไม่มีทิศทางชัดเจนที่จะมีการปรับตัวขึ้นของราคา

อย่างไรก็ตาม นายสิทธิพันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคนใหม่ ถือเป็นความหวังหนึ่งของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และรายใหญ่ จึงหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง