
บสย.ลุยภาคเหนือ เร่งเติมทุนผู้ประกอบการรายย่อย SMEs 3 ธุรกิจมาแรง ธุรกิจบริการท่องเที่ยว- เกษตร และผลิตสินค้า-การค้า เผยไตรมาส 2/2567 เตรียมแผนช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกันได้ง่ายขึ้น
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงาน บสย. ปี 2567 มุ่งนโยบายการทำงานเชิงรุก ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกมิติ เป้าหมายสำคัญในปีนี้คือ การรุกสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้ SMEs ในทุกจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงวงเงินการค้ำประกันสินเชื่อ
หลังจากพบว่าผลการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ของ บสย. รอบเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ จำนวน 36,142 ราย วงเงินค้ำประกัน 14,432 ล้านบาท สัดส่วนในภูมิภาค 58% ขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่สัดส่วน 42% ซึ่งสัดส่วนสูงสุด 3 อันดับแรกของภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17% 2.ภาคใต้ 13% 3.ภาคเหนือ 12%
สำหรับประเภทอุตสาหกรรมค้ำประกันสูงสุดในภาพรวมทั้งประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาคบริการ 29% (4,287 ล้านบาท) 2.ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่น ๆ 14% (2,085 ล้านบาท) 3.ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค 11% (1,490 ล้านบาท) 4.ภาคธุรกิจสินค้าและเครื่องดื่ม 9% (1,288 ล้านบาท) และ 5.ภาคเกษตรกรรม 8% (1,168 ล้านบาท)
โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ให้บริการสูงสุดในไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะ 2 สัดส่วน 51% (7,201ล้านบาท 1,296 ราย สิ้นสุดรับคำขอ 9 เม.ย. 2567) 2.โครงการตามมาตรการรัฐ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) สัดส่วน 27% (3,833 ล้านบาท 33,857 ราย) 3.โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง สัดส่วน 21% (3,398 ล้านบาท 1,002 ราย) ได้แก่ โครงการ BI 7 (Bilateral) และโครงการ Hybrid Guarantee
นายสิทธิกรกล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจในเขตภาคเหนือปี 2567 มีสัญญาณที่ดี โดยผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อปี 2566 วงเงินค้ำประกันอยู่ที่ 12,645 ล้านบาท ธุรกิจที่มาแรง 3 อันดับแรกคือ 1.ธุรกิจบริการ-ท่องเที่ยว 2.ธุรกิจเกษตรกรรม 3.ธุรกิจผลิตสินค้าและการค้า และทั้ง 3 ธุรกิจดังกล่าวคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในปีนี้
ดังนั้นแผนงานสำคัญในปีนี้ บสย.จะเร่งเติมทุนให้กับ SMEs ภาคเหนือเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการดำเนินงานไตรมาส 2 นี้ ได้เตรียมแผนช่วยเหลือ SMEs ในภาพรวม ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกันได้ง่ายขึ้น โดยมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อรองรับต่อเนื่อง อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ BI 7 (Bilateral) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Hybrid Guarantee โครงการค้ำประกันสินเชื่อค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Pricing : RBP)
นอกจากนี้ บสย. อยู่ในระหว่างการนำเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน ได้แก่ 1.โครงการตามนโยบายรัฐ IGNITE Thailand วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ร่วมกับธนาคารพันธมิตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างเสนอต่อ ครม. 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุมัติและเสนอ ครม. คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs
3.โครงการแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง การกำหนดให้นิติบุคคลผู้ให้บริการสินเชื่อเป็นสถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าในระบบได้มากกว่า 400,000 ราย
4.โครงการร่วมลงทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบความร่วมมือ เพื่อดำเนินการภายใต้กรอบเวลาตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย