ปี 2567 ถือเป็นปีทองของ “ลำไย” จังหวัดเชียงใหม่ เพราะตั้งแต่เปิดฤดูมาราคาลำไยเกรด AA พุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 40-45 บาท และเกรด A ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท คาดผลผลิตลำไยในฤดูปีนี้ 2.48 แสนตัน ขณะที่ความต้องการของตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออกสูง ทำให้มีข่าวว่า ล้งประมาณ 50 รายแย่งกันซื้อ วางมัดจำซื้อผลผลิตล่วงหน้า ไปตลาดจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ขณะที่ล้งรายใหญ่ในอำเภอหางดง ส่งไปขายตลาดไทวันละ 1 หมื่นกิโลกรัม
เปิดแผนรับมือฤดูลำไยเหนือ
นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกลำไยมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 448,000 ไร่ แบ่งเป็น ลำไยในฤดูและลำไยนอกฤดู ซึ่งลำไยในฤดูมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 350,000 ไร่ และลำไยนอกฤดูมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 150,000 ไร่ สำหรับลำไยในฤดูในปีนี้ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ซึ่งกำลังเริ่มออกผลผลิตช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 คาดว่าจะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้นมากกว่า 248,000 ตัน
โดยปีนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ทุกหน่วยงานทำแผนการตลาดล่วงหน้า และมีนโยบายให้รีบกระจายสินค้าก่อนที่สินค้าจะมีปัญหา
ล่าสุด สมาคมลำไยอบแห้งฯจะนำลำไยในพื้นที่ภาคเหนือออกไปกว่า 100,000 ตัน (แบ่งเป็น สัดส่วนลำไยของเชียงใหม่ราว 70,000-80,000 ตัน) เพื่อนำไปทำลำไยอบแห้ง ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการกระจายลำไยสดช่อในภาคเหนือออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ อีกราว 70,000 ตัน (แบ่งเป็น สัดส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ราว 10,000 ตัน) ดังนั้น ทำให้ราคาลำไยในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วมากกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผลผลิตที่เหลือกระจายสู่ล้งและผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่จะรับซื้อจากเกษตรกร และเริ่มมีการจองผลผลิตล่วงหน้าแล้ว
นายเจริญกล่าวว่า ปี 2566 ลำไยเกรด AA ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท ขณะที่ปี 2567 ลำไยเกรด AA ราคาพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 40-45 บาท และเกรด A ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท ถือเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยจากผลผลิตลำไยในปีนี้ทั้งหมดกว่า 248,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางการตลาดราว 8,680,000,000 บาท (จากราคาเฉลี่ยลำไยที่กิโลกรัมละ 35 บาท)
ขณะเดียวกันพบว่ามีล้ง 40-50 รายได้เริ่มนำเงินไปวางมัดจำล่วงหน้าให้เกษตรกรแล้ว เพราะคาดว่าผลผลิตอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ปีนี้ผลผลิตลำไยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2% แต่ความต้องการของตลาดมีสูงมาก จากการทำตลาดล่วงหน้าของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเชียงใหม่ที่บูรณาการร่วมกัน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ยังได้เปิดตลาดใหม่คือ อินเดีย ที่จะนำลำไยสดช่อในภาคเหนือส่งออกไป นอกเหนือจากจีนที่เคยเป็นตลาดส่งออกหลัก
สำหรับพื้นที่ปลูกลำไยของจังหวัดเชียงใหม่จำนวนกว่า 350,000 ไร่ ได้ผลผลิตในฤดู 248,000 ตัน แบ่งเป็น สัดส่วนที่นำไปทำลำไยอบแห้ง 60,000-80,000 ตัน ที่เหลือเป็นลำไยสดช่อ ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะกระจายผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ออกไปเกือบ 10,000 ตัน
โดยสัดส่วนลำไยสดที่เหลือ ล้ง 40-50 ราย และพ่อค้าในท้องถิ่นจะมารับซื้อ และนำไปทำลำไยอบแห้งทั้งเปลือก หรือทำลำไยอบแห้งสีทอง เป็นต้น ซึ่งผลผลิตแทบไม่เพียงพอต่อความต้องการในปีนี้ ขณะนี้ผลผลิตเพิ่งเริ่มออกสู่ตลาดเพียง 10% โดยจะทยอยออกสู่ตลาดจนกว่าจะสิ้นฤดูกาลราวเดือนกันยายน
“จีน-อินโดฯ-อินเดีย” ขายดี
นางนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ตลาดปลายทางผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่มีทิศทางที่ดี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ลำไยอบแห้ง มีตลาดหลักคือ จีน ซึ่งตลาดปลายทางในประเทศจีนยังไปได้ดี 2.ลำไยสดช่อ ตลาดหลักมีทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ยังไปได้ดีเช่นกัน และราคาลำไยต้นฤดูปีนี้ ถือว่าดีกว่าปีที่แล้วมาก แต่ข้อที่น่ากังวลก็คือ ในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จะเป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยออกมาปริมาณมาก โดยกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน สำนักงานปลัดกระทรวง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ประสานผู้นำเข้าจากจีนเข้ามาทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องดูในช่วงที่ลำไยออกมาปริมาณมากในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ว่าจะมีปัญหาอื่น ๆ หรือไม่ เช่น แรงงานที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงพอหรือไม่ เป็นเรื่องที่จังหวัดกำลังเตรียมแผนรองรับ ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้พึ่งพาตลาดส่งออกลำไยอบแห้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีตลาดลำไยสดช่อ ที่มีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ส่งไปยังจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งในปีนี้ทั้ง 3 ตลาดมีความต้องการลำไยสดช่อปริมาณมาก
นางนัยนภัสกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่บ้านร่องขุด ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง เพื่อติดตามสถานการณ์ลำไย โดยเกษตรกรพอใจกับราคาในปีนี้ และคุณภาพผลผลิตลำไยของเชียงใหม่ปีนี้เนื้อแน่น ลูกใหญ่ มีคุณภาพ สามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ตามมาตรฐาน
ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ขายผลผลิตลำไยให้กับผู้ประกอบการหรือล้งรับซื้อลำไย ต่างพึงพอใจกับราคาลำไยในปีนี้เป็นอย่างมาก โดยพบว่าในปีนี้เกษตรกรบางราย ได้ถูกล้งเหมาสวนลำไยที่มีอยู่ราว 20 ไร่ มูลค่าถึง 900,000 บาท ขณะที่ปี 2566 ราคาเหมาสวนอยู่ที่ 500,000 บาทเท่านั้น ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมมาตรการแทรกแซงราคา หากเกิดปัญหาในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมาก เช่น ถ้าราคาแผ่วลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากแรงซื้อในพื้นที่แผ่ว ซึ่งต้องดูช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกมามาก ถ้ากำลังซื้อถดถอย ก็ต้องดูว่าต้องมีการแทรกแซงหรือไม่
ตลาดในไทยดีมานด์พุ่ง
นายพงศ์ภัทร์ เตียวไพรัช เจ้าของ “ล้งโกดังโกเล็กพืชผล” ล้งรายใหญ่ในตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตลำไยในฤดูของจังหวัดเชียงใหม่ปีนี้ ในช่วงเดือนกรกฎาคมผลผลิตจะออกในพื้นที่โซนใต้ก่อน ได้แก่ อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง อำเภอฮอด และเดือนสิงหาคมจะออกโซนอำเภอฝาง อำเภอพร้าว และอำเภอเชียงดาว เป็นต้น
โดยล้งโกดังโกเล็กพืชผลเป็นจุดรับซื้อใหญ่ ที่ส่งผลผลิตลำไยทั้งหมดไปตลาดไทที่เดียว เป็นลําไยสด (มามัดรวมกันเป็นพวง ชาวสวนเรียก “มัดปุ๊ก”) ขายเฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น โดยมีลูกค้าทั่วประเทศที่มารับซื้อที่ตลาดไท และผู้มาซื้อจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งผลผลิตลำไยสด (มัดปุ๊ก) จากล้งโกดังโกเล็กพืชผล จะเน้นเฉพาะลำไยคุณภาพเกรด A เท่านั้น ปัจจุบันรับซื้อวันละ 10,000 กิโลกรัม ราคารับซื้อหน้าโกดังอยู่ที่กิโลกรัมละ 24 บาท และส่งไปขายตลาดไทกิโลกรัมละ 26 บาท
ทั้งนี้ ตลาดลำไยสดช่อในประเทศปีนี้มีทิศทางค่อนข้างดี ความต้องการของตลาดสูงมาก โดยเฉพาะถ้าตรงกับวันโกน ลำไยจะขายดีมากกว่าวันอื่น เพราะคนจะซื้อไปทำบุญในวันพระ ซึ่งวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ขายได้ถึง 14,000 กิโลกรัม นอกจากนี้วันแม่ 12 สิงหาคม และวันสารทจีนจะเป็นวันที่ลำไยขายดี ตลาดมีความต้องการสูงมาก
สำหรับในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ลำไยของอำเภอพร้าวออกผลผลิตเต็มที่ ทางล้งโกดังโกเล็กพืชผลได้เตรียมรับซื้อลำไยสดช่อจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลำไยคุณภาพแปลงใหญ่อำเภอพร้าว คาดว่าจะรับซื้อจำนวนราว 400,000 กิโลกรัม