ของบฯ ครม.สัญจร 1.2 หมื่นล้าน อยุธยา-สระบุรีชง “ท่าเรือบก”

กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 6 จังหวัดชง ครม.สัญจรที่อยุธยาเสนอ 41 โครงการ งบฯรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท “อยุธยา-สระบุรี” ชงตั้ง “ท่าเรือบก” ชิงความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคกลางเชื่อมอีสาน-เหนือ-ตะวันออก โดยอยุธยาเสนอที่สถานีบ้านภาชี ส่วน “สระบุรี” เสนอขอตั้งจังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแห่งอนาคต “Food Valley” พร้อมขอสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับ EEC ดันโครงการสระบุรี แซนด์บอกซ์เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ด้านลพบุรีจี้ขอค่าอาหารลิงเร่งด่วน

แหล่งข่าวจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2567 จะมีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่หรือ ครม.สัญจรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย 6 จังหวัด

ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, ชัยนาท, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี และ อ่างทอง เตรียมนำเสนอโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี กับโครงการสำคัญที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) รวมทั้งหมด 41 โครงการ รวมงบประมาณ 12,906,560,700 บาท

แบ่งเป็นโครงการที่นำเสนอในนามของ “กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน” มีทั้งหมด 4 โครงการ งบประมาณ 3,798,624,000 บาท เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนที่ต้องการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 2 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 49,024,000 บาท

ประกอบด้วยโครงการปรับปรุงและขยายช่องจราจรจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 309 ตอนอยุธยา-บางเสด็จ (ระยะที่ 6) ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 0.400 กม. งบประมาณ 30 ล้านบาท, โครงการซ่อมแซมผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 4.350 กม. งบประมาณ 19.024 ล้านบาท

ส่วนโครงการสำคัญจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.กลุ่มจังหวัด) 2 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 3,749,600,000 บาท ได้แก่ โครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าโรงสูบน้ำที่ 1 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง งบประมาณ 39.6 ล้านบาท,

Advertisment

โครงการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางกุ้ง ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณ 10 ล้านบาท รวมทั้งขอให้ผลักดันโครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 3267 สายอ่างทอง-แยกบางโขมด ระยะทาง 25.4 กม. งบประมาณ 3,700 ล้านบาท

อยุธยาชง 3 โครงการ 7 พันล้าน

สำหรับโครงการสำคัญที่แต่ละจังหวัดนำเสนอ แบ่งเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอโครงการให้พิจารณาทั้งหมด 3 โครงการ รวมงบประมาณ 7,097,821,500 บาท แบ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ทั้งหมด 2 โครงการ รวมงบประมาณ 50 ล้านบาท เป็นโครงการก่อสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกคอนกรีต ถนนสายบ้านปลายคลอง ต.ปลายกลัด อ.บางซ้าย และซอยลุงมัน ต.คลองพระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง

Advertisment

ส่วนโครงการสำคัญที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) อีก 2 โครงการ งบประมาณ 7,047 ล้านบาท อาทิ ผลักดันการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 5 ชั้น 114 เตียง โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา งบประมาณ 208 ล้านบาท, ขอให้ผลักดันการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ

จุดตัดทางหลวงหมายเลข 309 กับทางหลวงหมายเลข 347 (แยกทุ่งมะขามหย่อง) งบประมาณ 1,950 ล้านบาท, การก่อสร้างเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 356 ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ งบประมาณ 2,500 ล้านบาท และขอให้ผลักดัน โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) สถานีชุมทางบ้านภาชีของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ด้านนายชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การประชุม ครม.สัญจรถือเป็นโอกาสดีของคนอยุธยา ถ้าเป็นโอกาสที่ไม่ดีคือ ไม่สามารถเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดที่เป็นรูปธรรมภาพรวมการพัฒนาจังหวัดอย่างจริงจังได้

โครงการที่บรรจุเข้า ครม.สัญจรทั้งหมดเป็นของหน่วยงานภาครัฐที่เขียนไว้อยู่แล้ว มีความจำเป็นต้องทำเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาตัวจังหวัด “จะได้ประมาณหนึ่ง” แต่ถ้า ครม.สัญจรต้องการพัฒนาแต่ละจังหวัดอย่างจริงจังต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนมากขึ้นเพราะมีโครงการมากมายที่ถูกกลั่นกรองปัดตกไป

“ตอนนี้มีโครงการเดียวที่เห็นตรงกันคือ การผลักดันให้มีการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ที่สถานีชุมทางบ้านภาชี เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจุดเด่นเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ในเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างการขนส่งทางน้ำ ทางราง และทางบก ถ้าอยุธยาทำเรื่องเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ได้ จะทำให้ดึงดูดนักลงทุนลงมาได้ เพราะปัจจุบันวังน้อยก็เป็นแวร์เฮาส์ใหญ่อยู่แล้ว” นายชัยกฤตกล่าว

ชัยนาทชงขยายถนน-คลอง

จังหวัดชัยนาท เตรียมนำเสนอทั้งหมด 4 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 84 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการขยายช่องจราจรจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมติดตั้งไฟแสงสว่าง ทางหลวงหมายเลข 3211 ตอนทางเข้าหันคา-กะบกเตี้ย ระยะทาง 2 กม. งบประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนโครงการที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) อีก 3 โครงการ งบประมาณ 34 ล้านบาท เป็นโครงการปรับปรุง ซ่อมแซมคันคลองส่งน้ำของกรมชลประทาน

ลพบุรีขอค่าอาหารลิงเร่งด่วน

จังหวัดลพบุรี เตรียมนำเสนอทั้งหมด 7 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,090,153,000 บาท แบ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี มี 3 โครงการ งบประมาณรวม 49.9 ล้านบาท

อาทิ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการยกระดับภาคเกษตร ก่อสร้างฝายคลองหินลาง ต.กุดตาเพชร อ.ลำสนธิ งบประมาณ 30 ล้านบาท, โครงการบริหารจัดการลิงแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ สนับสนุนค่าอาหารลิงในการจัดการสวัสดิภาพลิงในสถานอนุบาลสัตว์เทศบาลเมืองลพบุรี งบประมาณ 12.41 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) อีก 3 โครงการ งบประมาณรวม 1,040 ล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก งบประมาณ 830 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างและขยายระบบแหล่งน้ำสำรองและวางท่อน้ำดิบเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง งบประมาณ 155 ล้านบาท

ตั้งเขต ศก.พิเศษสระบุรี

จังหวัดสระบุรี เตรียมนำเสนอทั้งหมด 7 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 106,620,000 บาท แบ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 50 ล้านบาท เป็นโครงการปรับปรุงผิวทางแอสฟัลท์คอนกรีต พร้อมขยายช่องจราจรและไหล่ทางจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร

ส่วนโครงการที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) อีก 5 โครงการ งบประมาณรวม 56.620 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างและยกระดับผู้ประกอบการด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร งบประมาณ 11.620 ล้านบาท, ขอให้ผลักดันโครงการ Saraburi Agriculture and Food Economic Hub (SAFE Hub) เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแห่งอนาคต งบประมาณ 45 ล้านบาท,

ขอให้ผลักดันการยกระดับรถไฟทางคู่ในเขตชุมชนเมืองสระบุรี, ขอให้ผลักดันโครงการสระบุรี แซนด์บอกซ์ (SARABURI SANDBOX) เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย รวมทั้งขอให้ผลักดันสระบุรีเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางบกและทางราง ICD

นางวรรณภา ชินชูศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า โครงการของจังหวัดสระบุรีที่เสนอของบประมาณ อาทิ 1) โครงการสร้างและยกระดับผู้ประกอบการด้านเกษตรและอุตสาหกรรม จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ให้พร้อมเข้าสู่ตลาด Modern Trade หรือธุรกิจออนไลน์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) โครงการ Saraburi Agriculture and Food Economic Hub (SAFE Hub) “เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแห่งอนาคต” Food Valley โดยจะขอสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

3) ขอเร่งรัดผลักดันโครงการสระบุรีศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางบกและทางราง เพื่อให้ภาครัฐศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการสร้าง ICD ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ท่าเรือแหลมฉบัง

และ 4) โครงการยกระดับรถไฟทางคู่ในเขตชุมชนเมืองสระบุรี พร้อมทั้งสำรวจออกแบบการยกทางรถไฟบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับเส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสระบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร โดยต้องการของบประมาณเพื่อศึกษาและออกแบบ โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

สิงห์บุรีดันเขื่อนป้องน้ำท่วม

จังหวัดสิงห์บุรี เตรียมนำเสนอทั้งหมด 10 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 200 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 50 ล้านบาท เป็นโครงการปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ต.บางพุทรา อ.เมืองสิงห์บุรี ความยาว 1,395 เมตร งบประมาณ 28 ล้านบาท กับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม ต.พระงาม อ.พรหมบุรี ระยะที่ 3 ความยาว 100 เมตร งบประมาณ 22 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) อีก 8 โครงการ งบประมาณรวม 150 ล้านบาท อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ พร้อมก่อสร้างจุดพักรถบริเวณพระพรหมเทวาลัย ทางหลวงหมายเลข 32 ตอนไชโย-สิงห์ใต้ งบประมาณ 20 ล้านบาท, ขอให้ผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน งบประมาณ 80 ล้านบาท, ขอให้ผลักดันโครงการบูรณาการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่และระบบขนส่งบริเวณฝาครอบคลอง เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ชุมชนเมืองสิงห์บุรี งบประมาณ 20 ล้านบาท

อ่างทองพัฒนาผังเมืองรวม

ส่วนจังหวัดอ่างทอง เตรียมนำเสนอทั้งหมด 6 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 529,342,200 บาท แบ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี มี 1 โครงการ งบประมาณรวม 50 ล้านบาท คือ

โครงการปรับปรุงอุทยานสวรรค์อ่างทองหนองเจ็ดเส้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง โดยก่อสร้างกำแพงกันดิน พร้อมถนนแอสฟัลติกคอนกรีต ต.หัวไผ่ อ.อ่างทอง กับโครงการที่เป็นความต้องการของภาคีการพัฒนา (กรอ.) อีก 5 โครงการ งบประมาณรวม 479.342 ล้านบาท

อาทิ โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมโพธิ์ทอง บริเวณวัดขุนอินทประมูล ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง งบประมาณ 109.9 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บางปลากด อ.ป่าโมก งบประมาณ 200 ล้านบาท