กมธ.เผยปมทุเรียน “แคดเมียม” เวียดนามสวมสิทธิเอกสารไทยส่งออกจีน

durian2410

กมธ.เผยผลสอบกรมวิชาการเกษตรชี้ชัด ทุเรียนไทยถูกเวียดนาม “สวมสิทธิ” ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด เป็นการนำเอกสารของไทยไปให้ “สวมสิทธิ” ให้ถึงเวียดนาม จี้เดินหน้าเอาผิดกับกระบวนการทุจริต

สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) แจ้งว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้ตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนสดไทยที่ส่งไปจีน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2567 จำนวน 7 ครั้ง 18 ชิปเมนต์นั้น

นายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาและสอบถามถึงปัญหาเรื่องทุเรียนสดของไทยที่ส่งออกไปพบมีการปนเปื้อนสารแคดเมียม ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มาชี้แจงในที่ประชุม ว่าผลการวิเคราะห์ผลทุเรียนไทยยังผลิตได้ตามมาตรฐาน มีปริมาณแคดเมียมไม่เกินค่ามาตรฐาน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภคตามมาตรฐานสากล

ดังนั้น การที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ตรวจพบแคดเมียมในปริมาณเกินกว่าค่ามาตรฐานสากลจึงไม่ใช่ทุเรียนไทย และไม่ต้องการให้มีการพูดถึง เพราะจะเป็นความเสียหายต่อทุเรียนไทยมากขึ้น เพราะทางจีนเฝ้าระวังทุเรียนไทย โดยที่ทางหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งไปยังสำนักงานศุลกากรให้ทราบแล้ว

“มีข้อสังเกตว่าน่าจะเกิดจากนำทุเรียนจากประเทศเวียดนามมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย โดยนำเอกสารของไทยไปสวมสิทธิในเวียดนาม คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ จะทำหนังสือให้กรมวิชาการเกษตรชี้แจงอีกครั้งถึงที่มาของสารปนเปื้อนแคดเมียม และมาตรการป้องกันตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ ๆ เพราะที่ผ่านยังไม่เคยได้รับการชี้แจง ทั้งที่ควรเป็นเรื่องเปิดเผย ไม่เช่นนั้นชาวสวนจะตกเป็นแพะรับบาป และต้องเดินหน้าเอาผิดกับขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ในอนาคตทุเรียนยังต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพจึงจะยั่งยืนจากปริมาณผลผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซียที่เพิ่มสูงขึ้น และตลาดหลักปลายทางแห่งเดียวกันคือตลาดจีน”

มติที่ประชุมจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพทุเรียนไทย โดยเลือก จ.ตราดเป็นต้นแบบ เพราะมีพื้นที่ขนาดเล็กและผลผลิตออกก่อน จากนั้นจะขยายผลไปจังหวัดอื่นในภาคตะวันออกและภาคใต้

ADVERTISMENT

เพื่อสร้างมาตรฐานให้ทุเรียนไทย เพื่อสร้างความแตกต่าง จะเริ่มจากสวนทุเรียนใหญ่ ๆ 4-5 สวนที่มีมาตรฐานใบรับรอง GAP 100% ปลอดสารปนเปื้อน โรค และแมลง ทุเรียนอ่อน สร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและมีตลาดประมูล เป็นการสร้างกลไกมาเพื่อควบคุมการผลิตทุเรียนที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ปีละ 100,000 ล้านบาท โดยคณะอนุกรรมการจะดูเรื่องทุเรียนทั้งระบบ คาดว่าจะเริ่มได้ทันในฤดูกาลนี้

ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจพื้นที่เกษตรในประเทศไทยพบแคดเมียมไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และกรมวิชาการเกษตรได้ลงตรวจสอบในแปลงเกษตรกร และโรงคัดบรรจุที่พบปัญหา สุ่มดิน น้ำ ผลทุเรียนสด สารเคมี ปุ๋ย ไปทดสอบระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน 2567 รวม 2,129 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียม 1,382 ตัวอย่าง พบแคดเมียม 747 ตัวอย่าง ในปริมาณไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ADVERTISMENT

การทดสอบดินและน้ำจากสวนที่มีปัญหาในจันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช ยะลา 18 ราย ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานสากล ทดสอบน้ำจาก 16 ราย ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน

การทดสอบดินและน้ำจากสวนใน จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ 26 สวน 66 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน

การทดสอบผลทุเรียนจาก จ.จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และยะลา 4 สวน 7 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน

การทดสอบผลทุเรียนจากโรงคัดบรรจุที่มีความเสี่ยงและสุ่มจากตู้สินค้าที่มีการเรียกกลับ 57 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน

การทดสอบสารเคมี วัตถุเจือปนอาหาร และผงขมิ้นจากโรงคัดบรรจุ สารเคมีที่ใช้ในโรงคัดบรรจุ 32 ตัวอย่าง ในผงขมิ้นสุ่ม 17 ตัวอย่าง พบค่าแคดเมียมไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเชิงรุกทุกขั้นตอน ออกยาแรง สกัด ตรวจยกระดับ ควบคุมคุณภาพ พืช/ผัก ผลไม้ ส่งออก นำเข้า

ดังนั้น จึงได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 หากมีการส่งออกสินค้าพืช/ผัก ผลไม้ที่ด้อยคุณภาพ มาใช้ในการติดตามหรือตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่แปลงการเพาะปลูกที่ได้รับการรับรองการผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) หน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการ การรวบรวมและการบรรจุหีบห่อของโรงงานผลิตสินค้าพืช/ผัก และผลไม้ จนถึงการส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้า

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างทวนสอบและลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ