จีนออกกฎคุมทุเรียนระลอก 2 สกัด “ล้ง” ไร้คุณภาพ-ราคาดิ่ง

ทุเรียน

ทุเรียนไทยยังไม่หมดอุปสรรค จีนออกกฎเหล็กระลอก 2 คุมเข้มล้ง-สวนไร้คุณภาพ ไม่ขึ้นทะเบียน “ล้งใหม่ สวนใหม่” แถมไม่ต่อทะเบียนของเก่าที่หมดอายุช่วง ม.ค. 68 ด้านชาวสวนหวั่นปัญหาสวมสิทธิ GAP แถมล้งไม่พอรับมือผลผลิตล้านตันฤดูนี้ เผยราคาทุเรียนหน้าสวนดิ่ง

หลังจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งพบทุเรียนไทยมีการใช้สารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ส่งผลให้มีการออกกฎข้อบังคับ มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 โดย GACC กำหนดให้การนำเข้าต้องแนบใบผลตรวจแคดเมียม และ BY2 โดยกรมวิชาการเกษตรได้ประกาศให้ทุเรียนผลสดที่จะส่งจีนต้องมีค่าแคดเมียมไม่เกิน 0.05 มก./กก. และ BY2 ต้องไม่พบการปนเปื้อน

จีนออกกฎคุมนำเข้าทุเรียนอีก 4 ข้อ

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้วงการทุเรียนไทยยังคงปั่นป่วน เนื่องจากทางจีนยังควบคุมทุเรียนไทยที่ส่งออกไปอย่างเข้มงวด โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกหรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ว่าทางสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชนจีน (GACC) จะควบคุมคุณภาพในการส่งออกทุเรียนของไทย โดยแจ้งว่าจะไม่ขึ้นทะเบียนสวนและล้งที่กรมวิชาการเกษตรยื่นรายชื่อขอขึ้นทะเบียนไปในช่วงเดือนมกราคม 2568 ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่

1.ไม่ขึ้นทะเบียน GAP สวนทุเรียนรายใหม่ 2.ไม่ขึ้นทะเบียนเลข DOA ให้ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหม่ 3.ไม่ขึ้นทะเบียนต่อ GAP สวนทุเรียนเก่าที่หมดอายุลงช่วงนี้ จากปกติจีนขึ้นทะเบียนให้สวนทุเรียนมีอายุ 3 ปี และต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อใหม่ทุก 3 ปี และ 4.ไม่ขึ้นทะเบียนต่อ DOA ให้ผู้ส่งออกรายเก่าที่ใบอนุญาตหมดอายุลงช่วงนี้ จากปกติจีนขึ้นทะเบียนให้ล้งเก่า ลักษณะปีต่อปี เท่ากับต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนใหม่ทุกปี

เข้มไม่ขึ้นทะเบียนล้งทุเรียน

มาตรการครั้งนี้เข้มงวดมาก ตามเอกสารที่กรมวิชาการเกษตรแจ้งมา มีแนวทางดำเนินการสำหรับล้งเป็น 2 กรณี คือ 1) ล้งที่ส่งออกทุเรียนอย่างเดียวจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน 2) ล้งที่มีการส่งออกผลไม้ชนิดอื่น ๆ ยกเว้นทุเรียนจะได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนตามปกติ ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ากรณีล้งที่ส่งออกทุเรียนอย่างดียวจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น ชื่อ ที่ตั้ง ส่วนล้งที่มีสินค้าทุเรียนและผลไม้ชนิดอื่นจะได้รับการพิจารณาให้เปลี่ยนแปลงข้อมูล แต่สินค้าทุเรียนจะถูกตัดออก จึงขอให้ล้งตรวจสอบข้อมูลก่อนผลิตเพื่อส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

เป้าหมายกำจัดล้งไร้คุณภาพ

“เท่ากับจีนระงับการจดทะเบียนทั้งล้งตั้งใหม่และล้งเดิมไม่ให้ย้ายที่ตั้ง เปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อมาขอขึ้นทะเบียนใหม่ ถือเป็นการควบคุมล้งจีน และล้งไทยหน้าใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจแบบฉาบฉวย ซื้อมาขายไป มีปัญหาก็เลิกกิจการ ไม่ได้จริงจัง

ADVERTISMENT

กับอาชีพ อยากรวยเร็ว และเจ๊งเร็วด้วย ส่วนการต่อใบอนุญาตปีต่อปี ถ้าล้งมืออาชีพรายเก่า ๆ ไม่ค่อยมีปัญหา หลายล้งจะมีการเช่าล้งและมีการขึ้นทะเบียน มีเลข DOA เจ้าของเดียวกันถึง 4-5 แห่ง ซึ่งไม่ได้หมดอายุพร้อมกัน แต่การที่ GACC ยังไม่ขึ้นทะเบียนล้งใหม่ ทำให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ ๆ ที่วางแผนที่จะขยายโรงคัดบรรจุเพิ่มขึ้นในปีนี้ เพื่อรองรับผลผลิตที่มีปริมาณมากทำได้ยากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ห่วงล้งไม่พอรับทุเรียนล้านตันปีนี้

แหล่งข่าวจากโรงคัดบรรจุใน จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระงับการขึ้นทะเบียน GAP ของชาวสวนจะทำให้เกิดปัญหาการสวมสิทธิใบรับรอง GAP ตามมา และส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและคุณภาพสินค้าที่ส่งออก โดยใบ GAP ที่มีอยู่ปกติจำแนกได้ 4 ประเภทคือ 1) ขึ้นทะเบียนแล้วพร้อมใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ 2) สวนทำ GAP ผ่านตามมาตรฐานรอขึ้นทะเบียนกับจีน 3) สวนเก่าที่มีใบ GAP ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่อยู่ระหว่างการต่ออายุ 4) สวนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนยังไม่ได้ทำใบ GAP

ADVERTISMENT

“การควบคุมโรงคัดบรรจุด้วยการขึ้นทะเบียน เป็นมาตรการทำให้ควบคุมคุณภาพได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ส่งออกที่มีปัญหาถูกระงับใบอนุญาตเดิม จะไปหาสถานที่เช่าตั้งล้งแห่งใหม่ ซึ่งเจ้าของสถานที่ให้เช่าจะมีใบอนุญาตที่ได้ขึ้นทะเบียนเลข DOA กับจีนไว้ให้เรียบร้อย ผู้ส่งออกสามารถส่งทุเรียนไปจีนได้ทันที แต่ครั้งนี้ได้ออกมาตรฐานห้ามผู้ส่งออกรายเดิมเปลี่ยนแปลงชื่อและที่ตั้ง ซึ่งจะมีผลให้ไม่มีล้งใหม่ เพราะขึ้นทะเบียนไม่ได้

ขณะที่ล้งเดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วจะเพียงพอรองรับกับปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกปีนี้ 1.04 ล้านตัน ที่เพิ่มจากปีก่อนเกือบ 400,000 ตัน ปีนี้ทุกล้งต้องระวังตัวจากการตรวจสารแคดเมียม BY2 จากมาตรการที่เข้มงวดของจีนที่ใช้เวลาตรวจอย่างเร็วที่สุดที่ด่าน 3-5 วัน และมาตรการเงื่อนไขของไทยที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้แต่การนำส่งตัวอย่างตรวจที่ห้องแล็บยังมีค่าใช้จ่ายขนส่งอีกตัวอย่างละกว่า 1,000 บาท” แหล่งข่าวกล่าว

ฉุดราคาทุเรียนดิ่ง

ด้านแหล่งข่าวผู้ประกอบการส่งออกอีกรายกล่าวเพิ่มกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติการขึ้นทะเบียนของจีนจะให้กรมวิชาการเกษตรยื่นรายชื่อสวนและล้งที่ต้องการขึ้นทะเบียนใหม่ และต่อใบอนุญาตเก่าทุก 3 เดือน หรือทุกรายไตรมาส ถ้ายื่นรอบเดือนมกราคม 2568 ไม่ทัน ก็ไปยื่นรอบหน้าเดือนเมษายน 2568 ดังนั้น ต้องรอดูว่าในรอบเดือนเมษายนจีนจะยอมปลดล็อกเพิ่มจำนวนล้งและสวนหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าจีนปลดล็อกให้ DOA ถือว่ายังทันที่จะรองรับผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลนี้ของภาคตะวันออกที่จะมีจำนวนมากสุดช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อระบายทุเรียนออกไป

“คาดว่าล้งใหม่ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะทำให้การแข่งขันน้อยลง ราคาทุเรียนจะปรับฐานลงมา จากที่เคยขายทุเรียนหน้าสวน 10 ตัน ได้ราคาเฉลี่ย กก.ละ 150 บาท ได้เงิน 1.5 ล้านบาท มาปีนี้ต้องขายเพิ่มขึ้น 15 ตัน ราคาลดลงเหลือเฉลี่ย 100 บาท ถึงจะได้เงิน 1.5 ล้านบาท ฐานราคานี้รวมค่าปุ๋ย ยา แรงงานที่เป็นต้นทุนที่ชาวสวนต้องควบคุม ต้องให้ความสำคัญกับใบ GAP และมีใบตรวจแคดเมียมเพื่อทราบ ให้ล้งเกิดความเชื่อมั่นในผลผลิต”

ชี้จังหวะดีชาวสวนอัพคุณภาพ

ด้านนายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การระงับการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุใหม่เป็นเรื่องที่ดีและปกติ ในการจัดระบบควบคุมโรงคัดบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐานทุเรียน เพราะที่ผ่านมาล้งถูกระงับเลข DOA แต่ยังย้ายล้งไปใช้เลข DOA ใหม่ส่งออกได้ และคาดว่าล้งที่มีอยู่ในภาคตะวันออกจำนวน 800-900 ล้ง น่าจะรองรับผลผลิตได้เพียงพอ และคาดว่า GACC จะผ่อนปรนเรื่องการตรวจสุ่มเข้มที่ด่าน

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ได้เกิดฝนตกทำให้ดอกทุเรียนบางส่วนร่วงไป ซึ่งปัญหาสภาพอากาศช่วงนี้อาจจะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงใกล้เคียงกับปี 2567 หรืออาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย ราคาที่โดดสูงหวือหวาในปีก่อนที่ล้งใหม่ ๆ เข้ามาแย่งซื้อแข่งขันราคากัน กก.ละ 200-300 บาทจะไม่มี จะเป็นราคาจริงตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย และคุณภาพ

“การไม่ขึ้นทะเบียนสวนใหม่น่าจะมีผลกระทบเรื่องการสวมสิทธิ GAP ที่ทำกันมานาน เพราะชาวสวนภาคตะวันออกมีใบ GAP ประมาณ 70% ปีนี้น่าจะขึ้นทะเบียนไม่ทัน เพราะที่ส่งรายชื่อสวนไปเป็นรอบเดือนมกราคม 2568 ซึ่งจะมีผลส่งออกไม่ได้ ต้องมีการสวมสิทธิแน่นอน เพราะใบ GAP ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับ ชาวสวนที่ยังไม่ได้ทำ GAP หรือต่ออายุขึ้นทะเบียนในฤดูกาลนี้จะส่งออกตลาดต่างประเทศไม่ได้ ถึงเวลาที่ชาวสวนต้องอัพเกรดราคาสินค้า ต่อไปต้องรณรงค์ให้ชาวสวนเห็นความสำคัญใบ GAP จัดทำให้ครอบคลุมทั้งหมด และต้องมีการตรวจแคดเมียม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการด้วย”

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมวิชาการเกษตรแจ้งว่า ตอนนี้โรงคัดบรรจุที่มีอยู่พยายามทำให้ดี ไม่ให้ตรวจพบสารปนเปื้อน แคดเมียม และ BY2 จะถูกระงับการนำเข้าจากจีนเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีโรงคัดบรรจุไหนได้รับการปลดล็อกจากจีน