“วิ่ง” เชียงใหม่ โต 300 ล้าน รัฐ-เอกชนแห่จัดทะลุปี”62

กระแสการรักษาสุขภาพยังแรงไม่ตก โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยการ “วิ่ง” หากโฟกัสในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเด็นที่น่าสนใจคือการขยายตัวของจำนวนนักวิ่ง ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เห็นได้จาก “ออร์แกไนเซอร์” งานวิ่งทั้งจากส่วนกลาง และท้องถิ่น การผลิตเสื้อวิ่ง เหรียญ ถ้วยรางวัล และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่องค์กรภาครัฐ เอกชนในพื้นที่แห่สร้างแบรนด์งานวิ่งของตัวเอง แข่งยึดเวลาวิ่ง prime time เสาร์-อาทิตย์ จนเบียดล้น

งานวิ่งจัดถี่คนร่วมแน่น

“วิธาน ศรีริทิพย์” ประธานเครือข่ายสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ภาคเหนือตอนบน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีเวนต์วิ่งในพื้นที่เชียงใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะ 1-2 ปีนี้ และเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะตารางการแข่งขันที่จัดถี่เฉลี่ย 4-6 รายการต่อสัปดาห์ ไม่มีเว้นวรรค และมีนักวิ่งเข้าร่วมหลักพันคน เฉลี่ย 2,000-4,000 คน บางงานสูงถึง 10,000 คน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงเขตภาคเหนือตอนบนจังหวัดอื่นด้วย

ขณะเดียวกัน ทำให้การวิ่งกลายเป็นธุรกิจที่เกิดผู้จัดหรือออร์แกไนเซอร์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโตขึ้นด้วย คาดว่ามูลค่าของตลาดงานวิ่งเชียงใหม่มีรายได้ราว 300 ล้านบาท/ปี

ซึ่งแนวโน้มตลาดวิ่งเชียงใหม่จะเติบโตขึ้นอีกและยังมีทิศทางที่ดีมาก แต่รูปแบบของการจัดงานต้องมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของนักวิ่ง เส้นทางการจราจร เส้นทางการแข่งขัน รวมถึงราคาค่าสมัครวิ่งต้องไม่แพงจนเกินไป

“มนตรี หาญใจ” นายกสมาคมกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมวิ่ง ด้วยหลายปัจจัยที่ทำให้อีเวนต์วิ่งเติบโต ทั้งจำนวนประชากร สถานที่วิ่ง สภาพภูมิประเทศ และกระแสการออกกำลังกาย-รักสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน

สำหรับกิจกรรมวิ่งที่ทางสมาคมเตรียมจัดในช่วงตั้งแต่ปลายปีนี้คือ “วิ่งมินิมาราธอน Chiangmai Run Season Change” จะมีขึ้น 3 สนาม ได้แก่ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 วันที่ 3 มีนาคม 2562 และวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 โดยจะพัฒนาให้เส้นทางนี้เป็นโครงการวิ่งประจำปีของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต

ค่าสมัครเข้าวิ่งสะพัด 120 ล./ปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า ฤดูหนาวถือเป็นช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการจัดงานวิ่ง ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม จนถึงเดือนมีนาคม โดยประเมินว่าเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจงานวิ่งได้เติบโตมากกว่า 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558-2559 ปัจจุบันมีเม็ดเงินหมุนเวียนขั้นต่ำกว่า 10 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 120 ล้านบาท/ปี ในส่วนของค่าสมัคร ไม่รวมส่วนธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งส่วนผู้สนับสนุน สปอนเซอร์ ธุรกิจด้านเหรียญ เสื้อวิ่ง อุปกรณ์การวิ่ง เช่น นาฬิกา รองเท้า ชุดวิ่ง

ในส่วนของรูปแบบการจัดงานวิ่งในปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีการประเมินจาก 2 ปัจจัย คือจำนวนนักวิ่ง และระยะการวิ่ง ซึ่งจำนวนนักวิ่งขึ้นอยู่กับองค์กร หน่วยงานที่จัดงาน จะระดมนักวิ่งมาในแบรนด์ได้ระดับใด หากเป็นสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนจะมีนักวิ่งจำนวนมาก รวมถึงงานที่จัดได้มาตรฐาน โดยใช้ออร์แกไนเซอร์มืออาชีพจากส่วนกลางเข้ามาจัดรายการใหญ่ ๆ ในพื้นที่เชียงใหม่ทุกปี

ทั้งนี้ กระแสการวิ่งทำให้องค์กรธุรกิจเริ่มมองผลลัพธ์ถึงมวลชนนักวิ่งที่สามารถจะแทรกการทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์องค์กรผ่านงานวิ่งมากขึ้น ได้เห็นภาพของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ร้านอาหาร โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงพยาบาลอีกด้วย

กลยุทธ์งานวิ่งเชียงใหม่

จากสำรวจการจัดงานวิ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ารายการต่าง ๆ จะแข่งขันในเรื่องการหาพื้นที่วิ่งที่ดึงดูดที่เป็นพื้นที่ใหม่และเป็นพื้นที่ปิด มีความปลอดภัย ซึ่งมีพื้นที่ยอดนิยม ได้แก่อุทยานหลวงราชพฤกษ์, ห้วยตึงเฒ่า, ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้การดีไซน์รูปเสื้อและเหรียญรางวัล การทำ online marketing เองเป็นจุดสำคัญ ในการเจาะกลุ่มนักวิ่งที่เป็นเป้าหมาย

นอกจากนั้นคือการอำนวยความสะดวกเองเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ระบบการรับสมัครการชำระเงิน ซึ่งมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนนักวิ่งมีหลักพันดังนั้นการจัดการทั้งการรับหมายเลขวิ่ง ขนาดเสื้อ รวมถึงประวัตินักวิ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หากประเมินแล้วธุรกิจวิ่งมาราธอนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือในอนาคต ยังสามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่องและยังขยายตัวเนื่องจากกระแสการรักษาสุขภาพผ่านการออกกำลังกาย และจะเห็นการขยายตัวของธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากออร์แกไนเซอร์ ทั้งนี้การจัดการด้านจราจรที่ไม่กระทบกับสาธารณะยังเป็นประเด็นสำคัญ


โดยปัจจุบันมีสมาพันธ์เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมวิ่งมาราธอนนานาชาติ ที่กำลังหามาตรการดูแลการจัดงานวิ่งอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น