ปิด “อ่าวมาหยา” ธุรกิจหมื่น ล.สะเทือน รัฐแผนไม่ชัด-ขายแพ็กเกจล่วงหน้าพัง

อ่าวมาหยา

ผลประโยชน์นับหมื่นล้านบาทที่ได้รับผลกระทบ หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เพื่อฟื้นฟูสภาพของระบบนิเวศ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน-30 กันยายน 2561

โดยห้ามประกอบกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมใด ๆ บนอ่าวมาหยาและอ่าวโละซามะ ต่อมาได้ขยายเวลาปิดต่ออีก 1 เดือน โดยกำหนดเปิดวันที่ 1 พ.ย. 61 เนื่องจากปะการังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมาก ทรายบริเวณหน้าอ่าวมาหยาไหลลงสู่ทะเล ก่อให้เกิดการทรุดตัวและการพังทลายของเนินทรายหน้าชายหาด แต่ต่อมาได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของกรม ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันลงความเห็นว่า เวลาปิดอ่าว 4-6 เดือน ไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของปะการัง และป่าปลูก จึงมีการประกาศเป็นทางการ “ปิดอ่าวมาหยาออกไปแบบไม่มีกำหนด” จนกว่าจะมีการฟื้นคืนสู่ภาวะปกตินั้น

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 61 ชมรมธุรกิจการท่องเทียวเกาะพีพี สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ และสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.หม่อมหลวงกิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เพื่อขอให้ทางกรมอุทยานฯประกาศเปิดอ่าวมาหยา ในวันที่ 1 พ.ย. 61

โดยให้เหตุผลว่า การขยายเวลาปิดการท่องเที่ยวแบบไม่มีกำหนด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวของเกาะพีพี และภาพรวมของจังหวัดกระบี่ เพราะผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยได้มีการทำสัญญาไว้ล่วงหน้า ยิ่งช่วงไฮซีซั่นจังหวัดกระบี่ปีนี้ มีการตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็น 80-90% พุ่งเป้าไปที่การท่องเที่ยวอ่าวมาหยา เกาะพีพี เพราะเป็นจุดศูนย์กลางในการท่องเที่ยว

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปกติธุรกิจเรือนำเที่ยวต่อวันมีไม่ต่ำกว่า 200 ลำที่วิ่งให้บริการ เฉพาะรายได้รวมคาดว่าไม่ต่ำกว่าประมาณ 2-6 ล้านบาทต่อวัน ผลประโยชน์อันมหาศาลที่สะพัดรอบอ่าวมาหยา ทำให้เกิดแรงกดดันไปยังหลายฝ่าย

ดังนั้นหลังการยื่นหนังสือ ว่าที่ร้อยตรี อภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้เชิญตัวแทนของกรมอุทยานฯ ตัวแทนภาคเอกชน อาทิ หอการค้าจังหวัดกระบี่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี และชาวบ้านเกาะพีพี เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันกว่า 3 ชั่วโมง และได้ข้อสรุปว่า ให้ทางอุทยานสร้างโป๊ะทางเดินเข้าอ่าวมาหยาชั่วคราว เริ่มตั้งแต่ปากอ่าวจนถึงแนวชายหาด และห้ามนำเรือทุกชนิดเข้าอย่างเด็ดขาด ส่วนการลงทุนสร้างโป๊ะให้อุทยานออกค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสมทบ และจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ในวันที่ 1 พ.ย. ตามที่ได้ประกาศไว้

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นักวิชาการ และที่ปรึกษาเกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดและระบบนิเวศปะการังบริเวณอ่าวมาหยา และการปลูกฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรม ประชุมชี้แจงกับผู้ประกอบการว่า การประกาศปิดอ่าวโดยไม่มีกำหนดเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร และบริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ การปิดอ่าวช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ปะการังเริ่มฟื้นตัวบางส่วน

แต่ปัญหาก่อนการปิดอ่าว คือ ทรายบริเวณหน้าหาดไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากตลอดปี และถูกคลื่นซัดทำให้ชายหาดทรุดตัว นอกจากนี้มีสารเคมีบางชนิด เช่น ครีมกันแดดที่นักท่องเที่ยวใช้ทาตัวแล้วลงเล่นน้ำ เป็นอีกสาเหตุที่เกิดปะการังฟอกขาว ส่วนปัญหาเรือรับส่งนักท่องเที่ยวที่ชายหาดทำให้เกิดฝุ่นทรายตลบทับถมก้อนปะการัง รวมทั้งการทิ้งสมอ สำรวจพบร่องรอยความเสื่อมโทรมของแนวปะการังบริเวณอ่าวมาหยา และบริเวณที่เรือวิ่งผ่าน การปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติที่รับใช้ผู้คนมานานกว่า 20 ปีจึงต้องใช้เวลา

ขณะที่ ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธ์ นักวิชาการด้านวนศาสตร์ระบุว่า หากเปรียบอ่าวมาหยาเป็นคนไข้ในตอนนี้ คือ ผู้ป่วยหนักที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดรักษา จึงจำเป็นต้องให้เวลาในการฟื้นตัว ไม่อยากให้เกิดการกดดันจากภาคท่องเที่ยว เพราะหากฝืนเปิดไปจะทำให้สภาพธรรมชาติพังพินาศในช่วงอายุของพวกเรา จนไม่สามารถจะฟื้นฟูกลับมาได้อีก

ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังคงยืนยันจะให้เปิดอ่าวมาหยาในวันที่ 1พ.ย.ต่อไป โดยนายวุฒิศักดิ์ ทองเกิด ประธานกลุ่มพิทักษ์พีพี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟู แต่ควรทำตามประกาศคือเปิดในช่วงไฮซีซั่นวันที่ 1 พ.ย.นี้ไปก่อน เพราะผู้ประกอบการได้ทำสัญญากับนักท่องเที่ยวไว้แล้ว

เช่นเดียวกับ นายวัตรพล จันทโร ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะพีพี กล่าวว่า ความเสียหายของชายหาดมาหยาไม่ได้เกิดจากการท่องเที่ยว แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และที่ผ่านมาทางอุทยานขาดการบริหารจัดการ เรือสปีดโบ๊ตจากต่างถิ่นที่มีใบอนุญาตเข้ามาจำนวนมาก แต่ไม่มีทุ่นเพียงพอและไร้การควบคุม

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของทรัพยากรทางธรรมชาติในท้องทะเลอันสวยงามของไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นที่ “อ่าวมาหยา” เป็นแห่งแรก แต่ยังคงมีให้เห็นมากมายที่ยังไม่ได้ “ล้อมคอก” ซึ่งหลายหน่วยงานของภาครัฐคงต้องบูรณาการทำงานร่วมกันวางแผนล่วงหน้า เร่งเข้าไปควบคุม ดูแล ฟื้นฟู แก้ไข ก่อนจะสายเกินแก้…

แต่เหนืออื่นใด กรมอุทยานฯคงต้องทำงานอย่างเป็น “มืออาชีพ” ที่มีประสบการณ์อันเชี่ยวชาญมากขึ้น เพราะการกำหนดวันปิด-เปิดเลื่อนไปเลื่อนมา และเลื่อนอย่างไม่มีกำหนดส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการขายแพ็กเกจทัวร์ที่ภาคเอกชนไปตกลงทำสัญญาไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ และต่อภาพลักษณ์ในสายตาชาวต่างชาติกันไปถ้วนหน้า