พ่อค้าหัวใสนำโรบัสต้าลาวสวมสิทธิ์ไทยส่งโรงงาน

สวมสิทธิ์ - ปัจจุบันตลาดกาแฟไทยและทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านหันมาปลูกต้นกาแฟจำนวนมาก และมีต้นทุนถูกกว่าไทยมาก พ่อค้าหัวใสจึงนำเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นกาแฟไทยขายเข้าโรงงานรายใหญ่

ผู้ปลูกกาแฟไทยเดี้ยง สต๊อกเหลืออื้อ เหตุพ่อค้าหัวใสนำเข้าเมล็ดกาแฟจาก “เมียนมา-สปป.ลาว-เวียดนาม” เข้ามาสวมสิทธิ์กาแฟไทยปีละกว่า 10,000 ตัน ขายให้โรงงานผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ ในราคาต่ำกว่าเมล็ดกาแฟไทย 10 บาท/กก.

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ค้ากาแฟ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งประเทศเมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม ต่างมีการปลูกกาแฟเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเวียดนาม มีผลผลิตเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย เนื่องจากพื้นที่ปลูกกาแฟเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ อัตราค่าแรงงานต่ำ ส่งผลให้สามารถขายเมล็ดกาแฟได้ราคาถูกกว่าไทยประมาณกว่า 10 บาท/กก. ดังนั้นจึงมีผู้ประกอบการไทยที่หัวใสนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นเมล็ดกาแฟไทยส่งขายให้กับโรงงานรายใหญ่ ประมาณ 10,000 ตันต่อปี ผ่านหลายจังหวัดทั้งทางภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ อุบลราชธานี ฯลฯ ส่งผลให้เกษตรกรหลายภาคมีสต๊อกเมล็ดกาแฟเหลืออยู่ในมือจำนวนมาก

“ปกติทุกปีบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการขออนุญาตนำเข้าเมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูปจากต่างประเทศจะต้องช่วยซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรไทย ดังนั้น ตอนนี้จึงมีกลุ่มพ่อค้าต่างชาติประสานงานมายังพ่อค้ากาแฟไทยว่า ต้องการเมล็ดกาแฟปริมาณเท่าใด สามารถสั่งได้ โดยใส่รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งเข้ามา และสวมสิทธิ์ไร่กาแฟของไทยที่ร่วมมือกัน เพื่อขายเข้าโรงงานขนาดใหญ่”

นายชาลี คีรีคามสุข กรรมการฝ่ายผลิต บริษัท อะเบโนะ คอฟฟี่ ดอยช้าง จำกัด เปิดเผยว่า ความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้มีเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงทะลักเข้ามาแย่งตลาดเมล็ดกาแฟไทย โดยอาศัยราคาขายที่ต่ำกว่ามาก แต่คุณภาพของเมล็ดกาแฟของประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้รับความนิยมสู้คุณภาพของเมล็ดกาแฟไทยไม่ได้

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ และงดรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกร นายชาลีกล่าวว่า คาดว่าเกิดกับพันธุ์โรบัสต้าที่นำไปเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ ที่ผลิตกาแฟพันธุ์อราบิก้าในพื้นที่เริ่มประสบปัญหาผลผลิตค้างสต๊อกในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อาจเกิดจากมีผลผลิตจากปีก่อนที่ต้นกาแฟให้ผลผลิตมากกว่าทุกปีค้างอยู่ก็เป็นไปได้

“บริษัท อะเบโนะ คอฟฟี่ ดอยช้าง จำกัด ของเราจะเน้นส่งผลผลิตขายภายในประเทศเป็นหลัก และกรณีที่เอกชนรายใหญ่ ๆ งดรับซื้อผลผลิตกาแฟภายในประเทศลงกว่า 50% นั้น พบว่ายังไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อกาแฟพันธุ์อราบิก้าในภาคเหนือ เพราะเน้นขายเข้าสู่ตลาดกาแฟสดและไม่ได้นำไปแปรรูปหรือบรรจุกระป๋องแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมาบริษัทจำหน่ายกาแฟคั่วสำเร็จบรรจุถุงกิโลกรัมละประมาณ 500 บาท และกาแฟสารกิโลกรัมละประมาณ 200 บาท

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคใต้ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าเป็นหลัก แบ่งเป็น จ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูกประมาณกว่า 120,000 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 68 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา จ.ระนอง มีพื้นที่ปลูกประมาณกว่า 50,000 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ปลูกประปราย รวมเป็นพื้นที่ปลูกในภาคใต้ทั้งหมดประมาณ 179,000 ไร่ จะให้ผลผลิตประมาณกว่า 16,800 ตัน/ปี


“การขยายตัวปลูกเพิ่มเติมจะมีไม่มาก ประมาณ 500 ไร่/ปี และขณะนี้มีการปลูกที่ จ.ยะลา อ.เบตง และ อ.ธารโต จำนวนหนึ่ง เป็นสายพันธุ์อราบิก้า”