ภัยแล้งกระหน่ำพื้นที่’อีสานใต้’ สุรินทร์-บุรีรัมย์ธุรกิจเสียหายยับ

อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง แหล่งน้ำดิบของ กปภ.อ.เมืองสุรินทร์ แห้งขอดในรอบ41ปี (ภาพ:มติชนออนไลน์)
อีสานใต้วิกฤต “สุรินทร์-บุรีรัมย์” ถึงขั้นขาดแคลนน้ำกิน-น้ำใช้ในตัวจังหวัด เหตุแหล่งน้ำดิบ-อ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห้งขอด 2 เขื่อนใหญ่ในพื้นที่ “ลำแชะ-ลำนางรอง” แทบไม่มีน้ำไหลลงอ่าง ส่งผลภาคธุรกิจบริการเสียหายไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท

ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการ การประปาภูมิภาค (กปภ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์แล้งในฤดูฝนนี้ว่า กปภ.ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกรมชลประทาน จังหวัด อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบมีสาขา กปภ. 12 สาขาที่มี “ความเสี่ยง” ถึงขั้นขาดแคลนน้ำดิบในการทำน้ำประปา ได้แก่ 1) กปภ.สาขาสุวรรณภูมิ (หน่วยบริการเกษตรวิสัย) จ.ร้อยเอ็ด 2) สาขาพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม 3) สาขาหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ 4) สาขาชนแดน จ.เพชรบูรณ์ 5) สาขาภูเก็ต 6) สาขาเกาะพะงัน 7) สาขาบุรีรัมย์ 8) สาขาสุรินทร์ 9) สาขาพิมาย จ.นครราชสีมา 10) สาขาจุน จ.พะเยา 11) สาขาเทิง เชียงราย 12) สาขาท่าตะโก จ.นครสวรรค์

น้ำขอดก้นอ่างขนาดกลาง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกลุ่มจังหวัดแถบอีสานใต้พบว่า ทุกอ่างอยู่ในภาวะวิกฤต มีน้ำใช้การได้ “ต่ำกว่า” ร้อยละ 30 ทั้ง ๆที่ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือนจึงจะเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างแท้จริงในปี 2563 อาทิ จังหวัดสุรินทร์ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนัก พบอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง แหล่งน้ำดิบของ กปภ.อ.เมือง เหลือน้ำแค่ 1.807 ล้าน ลบ.ม. (8.2%) จากอ่างที่มีขนาดความจุ 21.96 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำอำปิลที่เป็นแหล่งน้ำสำรองก็อยู่ในสภาพไม่ดีกว่ากันเท่าไหร่ กล่าวคือ เหลือน้ำใช้การได้แค่ 0.325 ล้าน ลบ.ม. (27.67%) เท่านั้น

อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จ.สุรินทร์

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งอื่น ๆ อาทิ อ่างสุวรรณาภา เหลือน้ำ 0.405 ล้าน ลบ.ม. (25.79%), อ่างห้วยตาเกาว์ 0.856 ล้าน ลบ.ม. (9.97%), อ่างห้วยด่าน 3.430 ล้าน ลบ.ม. (9.4%), อ่างบ้านจรัส 4.236 ล้าน ลบ.ม. (28.2%), อ่างบ้านเกาะแก้ว 1.408 ล้าน ลบ.ม. (23.4%)

ด้านจังหวัดบุรีรัมย์ สถานการณ์ก็ย่ำแย่พอกันและจะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในตัวจังหวัดต่อไป ปรากฏอ่างเก็บน้ำลำจังหัน เหลือน้ำใช้การได้แค่ 7.764 ล้าน ลบ.ม. (21.5%), อ่างคลองมะนาว 0.605 ล้าน ลบ.ม. (21.24%), อ่างห้วยเมฆา 0.826 ล้าน ลบ.ม. (20.29%), อ่างหนองทะลอก 0.0013 ล้าน ลบ.ม. (0.379%), อ่างห้วยขี้หนู 0.019 ล้าน ลบ.ม. (1.2%), อ่างห้วยตลาด 1.164 ล้าน ลบ.ม. (4.18%), อ่างห้วยสวาย 0.249 ล้าน ลบ.ม. (1.836%), อ่างลำตะโดง 0.540 ล้าน ลบ.ม. (7.12%)

ขณะที่เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่อีสานใต้แทบไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง กล่าวคือ เขื่อนลำแชะ ปริมาตรน้ำใช้การได้ 54 ล้าน ลบ.ม. (20%) ระบายน้ำวันละ 1.23 ล้าน ลบ.ม. กับเขื่อนลำนางรอง 15 ล้าน ลบ.ม. (13%) ระบาย 0.39 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

การจุดเจาะน้ำบาดาลในรพ.สุรินทร์

สุรินทร์ขายน้ำคันละ 4,500 บาท 

นายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร-โรงแรม-ปั๊มน้ำมันในจังหวัดเป็นอย่างมาก เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายประมาณ 100 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะ zone ชานเมืองได้รับผลกระทบหนัก เพราะการประปาสุรินทร์ไม่มีน้ำให้บริการ มีการจ่ายน้ำเพียงวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ทำให้ร้านอาหารบางรายปิดให้บริการไป มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขุดเจาะบาดาลให้กับโรงเรียนและโรงพยาบาล ส่วนภาคเอกชนแก้ไขปัญหาโดยการหาน้ำจากบ่อหินมาเติมในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง แต่ปริมาณน้ำในบ่อหินมีจำนวนจำกัด ส่วนการซื้อขายน้ำของภาคเอกชนขณะนี้ขายกันอยู่ประมาณ 3,500-4,500 บาทต่อรถ 1 คัน (10,000 ลิตร) ขึ้นอยู่กับระยะทางการขนส่ง

อ่างเก็บน้ำ (อ่างน้ำตา) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่แห้งขอด

กปภ.บุรีรัมย์ลดแรงดันน้ำ

ขณะที่นายณัฐอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้า จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เกิดสถานการณ์ภาวะฝนตกทิ้งช่วง ทางภาครัฐ-เอกชนได้ปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหา โดยการประปาบุรีรัมย์ได้มีการปรับแรงดันการจ่ายน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำและยืดระยะเวลาของการใช้น้ำ ขณะที่กรมชลประทานเร่งที่จะผันน้ำเข้ามาเติม แต่ในการผันน้ำก็มีการสูญเสียน้ำระหว่างทางจากเดิมที่ต้องได้อยู่ 100% ก็จะเหลือประมาณ 40% เท่านั้น

แต่จังหวัดยังมีน้ำสำรองใช้อยู่ที่เหมืองหินเก่าประมาณ 1 ล้านหน่วย ทั้งทางภาครัฐก็พยายามหาจุดที่จะขุดเจาะน้ำบาดาลเข้ามาเติม “แต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น” และถ้าหากสถานการณ์ภัยแล้งยืดยาวออกไปอีกโดยที่ยังไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่ ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมและภาคเกษตรของจังหวัด ซึ่งมูลค่าความเสียหายประมาณ 100 กว่าล้านบาท ขณะที่ทางจังหวัดก็กำลังจะจัดงาน Moto GP ในเดือนตุลาคมนี้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือ 1) หาแหล่งน้ำเดิมที่สามารถขุดเจาะบาดาลได้ 2) ขุดลอกน้ำเพื่อให้แหล่งน้ำลึกขึ้นที่จะสามารถกักเก็บน้ำได้ และ 3) ต้องรีบสำรวจหาพื้นที่เพื่อรับน้ำทันที

ธรรมนัสมาแล้ว

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดสุรินทร์ หลังจากเกิดปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคในโรงพยาบาลสุรินทร์ไม่เพียงพอ จนถึงกับต้องขอบริจาคน้ำดื่มให้ผู้ป่วย ล่าสุดหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ขุดเจาะบ่อบาดาลให้โรงพยาบาลจำนวน 8 บ่อจนสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้เพียงพอกับความต้องการน้ำประมาณ 1,000 คิว/วันแล้ว

“ในจังหวัดสุรินทร์ไม่ได้เดือดร้อนแค่ในโรงพยาบาล เกษตรกร ชาวบ้าน เดือดร้อนน้ำกินน้ำใช้กันทั้งนั้น หากจำเป็นต้องเจาะบ่อบาดาลเพิ่มก็ต้องทำ และผมจะนำกรมฝนหลวงและการบินเกษตรลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในแหล่งน้ำต่อไป”