“เค.ซี. ฟู้ดฯ” เพชรบูรณ์ เบอร์ 1 ส่งออก “มะขามหวาน” 40 ประเทศ

สัมภาษณ์

7 จังหวัดภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่าง ถือเป็นแหล่งผลิต “มะขามหวาน” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต้นน้ำ พ่อค้าคนกลางที่วิ่งรับซื้อผลผลิตกว่า 1,000 ราย ยันโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปปลายน้ำทั้งระบบ รวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท

โดยแหล่งปลูกใหญ่มีการกระจุกตัวใน 3 อำเภอของ จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมของดินในการปลูกมะขามหวานมากที่สุด โดยมี 4 สายพันธุ์หลักที่นิยมส่งออก ได้แก่ สีทอง สีชมพู ขันตี และอินทผลัม

ทั้งนี้ “อ.หล่มเก่า” ได้รับเลือกเป็นจุดที่ตั้งของ “โรงงานมะขาม” แปรรูปรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ หลายโรงงานมีห้องเย็นส่งออกมะขาม รวมถึงมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างอินเดียและล้งจากจีน เวียดนาม กัมพูชา ที่มารับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร เพื่อส่งกลับไปบริโภคภายในประเทศ

ตั้งไข่จากพืชไร่สู่ขิง-มะขาม

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “โกวิท กุลเศรษฐโสภณ” หรือ “เฮียหวัง” นักธุรกิจชาว อ.หล่มสัก วัย 50 ปีเศษ ในฐานะประธานกรรมการผู้จัดการ “บริษัท เค.ซี. ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด” โรงงานแปรรูปมะขามหวาน อันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งมียอดจำหน่ายมะขามหวานไป 40 ประเทศทั่วโลก

“เฮียหวัง” เล่าความเป็นมาย้อนกลับไปกว่า 30 ปีก่อนบนเส้นทางธุรกิจว่า ดั้งเดิมครอบครัวในรุ่นพ่อทำธุรกิจค้าพืชไร่ จำพวกข้าวโพด ถั่วเขียว เผือก มัน ในชื่อร้าน “กอย่งเชียง” ตั้งอยู่ อ.หล่มสัก รับซื้อและบรรทุกมาส่งที่ตลาดถนนทรงวาด กทม. จากการคลุกคลีในวงการสินค้าเกษตร ทำให้เห็นโอกาสและจังหวะในการต่อยอดธุรกิจก่อนขยายสู่ธุรกิจขิงและมะขามส่งออกในปัจจุบัน

โดยในปี 2530 ญี่ปุ่นย้ายฐานการซื้อวัตถุดิบ “ขิง” จากประเทศไต้หวันที่มีราคาแพงมายังประเทศไทย และภาครัฐมีการส่งเสริมการปลูกขิงในแถบเพชรบูรณ์นับแสนไร่ ตั้งแต่นั้นจึงเริ่มรับซื้อขิงอ่อนจากเกษตรกรตามจุดรับซื้อที่เปิดไว้ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย พิษณุโลกนับ 10,000 ตัน เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปทั่วประเทศ

และในปี 2538 ได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานแห่งนี้ที่ ต.นาซำ อ.หล่มเก่า และเริ่มรับซื้อขิงแก่ทำตลาดเพิ่ม เมื่อทำไปได้ 3 ปีเริ่มศึกษาธุรกิจ “มะขามหวาน” ซึ่งน่าจะมีอนาคตกว่าเพราะมีปลูกที่เดียวในโลกและมีจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นแหล่งปลูกใหญ่ ประกอบกับขณะนั้นตลาดขิงถูกจีนตีตลาดไปทั่วโลกทั้งปลูกเองในประเทศและส่งขายไปทั่วโลก ทำให้ราคาในตลาดผันผวนจึงหันมาสู่ธุรกิจมะขามหวานอย่างจริงจัง และทำธุรกิจขิงควบคู่กันไป โดยส่งให้ “น้องชาย” ร่วมสายโลหิตเข้ามารับไม้ต่อ

รุกส่งออก 40 ประเทศทั่วโลก

ในช่วงแรกได้ฐานลูกค้าตลาดอเมริกันที่ซื้อขิงกับบริษัทอยู่ก่อน ได้ทดลองทานมะขามหวานฝัก ปรากฏว่าตลาดคนไทยที่อเมริกาชอบ จึงได้ส่งออกมะขามหวานลอตแรก 1 ตันไปตลาดอเมริกันพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกขิง ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ทำอยู่ก่อนแล้ว

ปรากฏว่าตลาดตอบรับดีมาก สินค้าหมดภายใน 1 เดือน จากนั้นเติบโตมาเรื่อย ๆ ทำให้ปัจจุบันสามารถทำตลาดส่งออกมะขามไปยังตลาดอเมริกันกว่า 100 กว่าตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 3,000 ตันต่อปี และขยายไปอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เช่น แถบยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส แถบเอเชีย แถบแอฟริกา ออสเตรเลีย รวมยอดขายปีละหลายร้อยล้านบาท

โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกแบ่งเป็น 90% เป็นมะขามแบบฝักบรรจุกล่องขนาด 200 กรัม 400 กรัม 500 กรัม และ 10% เป็นมะขามแปรรูป ผ่าเม็ด คลุกน้ำตาล และสร้างแบรนด์กว่า 30 แบรนด์ มีแบรนด์หลัก 3-4 แบรนด์ เช่น King, Natcha, Rada โดยมีเงื่อนไขกับผู้รับไปจำหน่ายว่าต้องมีแบรนด์ของบริษัทระบุในบรรจุภัณฑ์ด้วย โดยซื้อนำไปจำหน่ายผ่าน 2 ช่องทาง คือ ออนไลน์และวางตามห้างสรรพสินค้า เป็นมะขามหวานเกรด A หรือพรีเมี่ยม

ปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 4 บริษัท แบ่งเป็นโรงงาน 2 บริษัท คือ บริษัท เค.ซี. ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด และบริษัท ไอซ์มะขามอร่อย จำกัด ส่วนอีก 2 บริษัทเป็นบริษัทส่งออก ประกอบด้วย บริษัท บางกอกมะขามหวาน จำกัด และบริษัท เค แอล อินเตอร์ฟู้ด จำกัด

7 จังหวัดผลผลิตไม่พอป้อน

“เฮียหวัง” บอกว่า ปัจจุบันพื้นที่ปลูกมะขาม 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ลำปาง เลย เพชรบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตเพียง 80,000 ตันต่อปี ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เฉพาะเพชรบูรณ์ น่านมีผลผลิตรวม 30,000 ตันต่อปี สร้างมูลค่ารวมมากกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปริมาณมะขามหวานพันธุ์ที่ปลูกได้ดีกระจุกตัวที่เพชรบูรณ์ และทุกวันนี้มีวัตถุดิบเข้าโรงงาน เค.ซี. ฟู้ดฯ 5,000-6,000 ตันต่อปี ขณะที่ความต้องการของโรงงานประมาณ 10,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามะขามหวานที่รับซื้อมา เมื่อนำมาคัดเลือกคุณภาพเกรด A ใช้ได้เพียงบางส่วน ที่เหลือต้องขายเป็นเกรดรอง ทั้งที่ซื้อมาในราคาเกรด A เพราะเนื้อข้างในไม่สมบูรณ์

ลุยตั้ง รง.แปรรูปเครื่องดื่ม-ซอส

ด้วยปัญหาอุปสรรคของวัตถุดิบที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจ ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตและวัตถุดิบเกรด A แต่ต้องนำมาขายในราคาเกรดรองที่ต่ำกว่า ดังนั้น ภายใน 1-2 ปีนี้บริษัทมีแผนขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยเตรียมเงินลงทุนไว้ประมาณ 40-50 ล้านบาท จะขยายตลาดจากที่ทำแต่มะขามหวานไปทำมะขามเปรี้ยว ซึ่งหาวัตถุดิบได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกัน เตรียมซื้อเครื่องจักรเพื่อตั้งโรงงานแปรรูปมะขามเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น น้ำมะขามพร้อมดื่ม ซอสมะขาม ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีอนาคต พร้อมเจาะตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันบริษัทส่งออกเกือบ 100% ทำตลาดภายในประเทศน้อยมาก

ปัจจุบันเริ่มทดลองแปรรูปเบื้องต้นทำ “มะขามแช่อิ่ม” ภายใต้แบรนด์ใหม่ “Ice Tamarind Aroi” (มะขามอร่อย) เป็นโปรดักต์แรกผ่านช่องทางออนไลน์

“เฮียหวัง” มองว่า การทำโรงงานแปรรูปเป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจมะขามในเชิงลึกมากขึ้น ถือเป็นการขยับอีกก้าวหนึ่งของบริษัทมากกว่าการนั่งรอลุ้นปริมาณผลผลิตที่จะซื้อได้ในแต่ละฤดูกาล

ทุ่มซื้อที่ดินพันไร่ปลูกใช้เอง

นอกจากนี้ บริษัทได้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกมะขาม จำนวน 1,000 ไร่ ที่บ้านดงทิพย์ อ.หล่มเก่า ซึ่งต้องใช้เวลาเติบโตอีกประมาณ 4-5 ปี คาดว่าจะได้ผลผลิตรุ่นแรกประมาณ 400-500 ตัน ถ้าผลผลิตเต็มที่น่าจะได้มากถึง 1,000 ตัน

และถือว่าปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมะขาม โดยนำพันธุ์มะขาม 20,000 ต้น มาขายให้เกษตรกรในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อเป็นสัญญาใจเมื่อมะขามออกผลให้จำหน่ายกับบริษัทเป็นรายแรก พร้อมปล่อยสินเชื่อเงินกู้ ฟรีดอกเบี้ยให้กับพ่อค้าคนกลาง เพื่อเป็นเงินทุนสำรองในการรับซื้อมะขามจากเกษตรกรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม “เฮียหวัง” ได้ฉายภาพทิศทางในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งเป้านำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อให้องค์กรมีการบริหารจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพ และถือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

ผู้ว่าพาชิม อุตฯพาไป

เพชรบูรณ์ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญหลายชนิด ดังนั้นทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ โดย นางไพรินทร์ กันทะวงษ์ อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้ร่วมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลิตรายการ “ผู้ว่าพาชิมอุตสาหกรรมพาไป” ขึ้น เป็นรายการนำเสนอผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน โดยมีการพาไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้า เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่สนใจได้รับทราบ ผ่านช่องทางยูทูบ โดยมีตนและนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

แนวคิดกิจกรรมรายการเกิดขึ้น เพราะเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจหลักด้านท่องเที่ยว การเกษตร และเกษตรอุตสาหกรรม มีผลิตภัณฑ์น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านเศรษฐกิจของจังหวัด ดูแลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนการเชื่อมโยง ด้านการตลาด บูรณาการการทำงานในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่น่าสนใจ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนและผู้ที่สนใจจะมาเยี่ยมเยียนจังหวัดได้รับทราบถึงสินค้าและบริการที่มีมาตรฐาน คุณภาพดีเหมาะสมกับการซื้อและการใช้บริการเป็นอย่างมาก ซึ่งจะสามารถช่วยผู้ประกอบการในการขยายตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า

“สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์จะคัดเลือกผู้ประกอบการในจังหวัดที่มีการผลิตสินค้าและบริการที่มีมาตรฐาน คุณภาพเพื่อที่ทางผู้ว่าราชการ จะได้ไปร่วมกันชิมและพบกับสินค้าและบริการที่น่าสนใจ ซึ่งจะดำเนินการเป็นประจำทุกเดือน วางไว้เดือนละ 1 รายการ ปีละ 12 ราย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และแหล่งเงินทุนผ่านกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ ตลอดจนการให้ความรู้ด้านการลดต้นทุนและการตลาดออนไลน์ ส่วนใหญ่จะผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร”

ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ให้การสนับสนุนประมาณ 200 ราย แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรแปรรูปและอาหาร จำนวน 180 ราย และสินค้าประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 20 ราย