ขนมหม้อแกงเพชรบุรีร้าง ยอดตก50% ร้านแห่ปิดตัว

ร้านขนมหม้อแกงเพชรบุรีร้าง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน-เศรษฐกิจซบหนัก ยอดขายลด 50% แห่ปิดตัวคนไม่มีกำลังซื้อ ต้องลดกำลังผลิต เผย “ร้านขนมบ้านนันทวัน” โตสวนทาง หันจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปรับลุกร้านขนมหม้อแกงดึงคนขาเข้ากรุงเทพฯเข้าร้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจร้านจำหน่ายขนมหม้อแกงในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งที่อยู่ใน อ.เมือง และริมถนนเพชรเกษม ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ร้านค้ารายใหญ่หลายรายได้ปิดตัวลง บางแห่งดูร้าง บางแห่งขึ้นป้ายว่า “ปิดเพื่อปรับปรุง” ทำให้บรรยากาศการซื้อขายขนมหวานที่เลื่องชื่อกลับดูเงียบเหงาเหนือความคาดหมาย

ส่วนร้านที่ยังเปิดขายปกติจะดูเงียบ ๆ แม้จะเป็นช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ก็ตาม ซึ่งปกติลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในเส้นทางหัวหิน-ชะอำ ช่วงขาเข้ากรุงเทพฯ จะต้องแวะซื้อของฝากอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านขายขนมหม้อแกงขนาดใหญ่ริมถนนก็แทบจะไม่มีลูกค้า จากการสอบถามผู้ขายหลายรายต่างบอกว่าเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี นักท่องเที่ยวน้อยลง รวมถึงลูกค้าได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขนมหม้อแกงไปแล้ว

นางอรุณฉาย บุญประเสริฐ เจ้าของร้านแม่กิมไล้ สาขาไร่ส้ม จังหวัดเพชรบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร้านแม่กิมไล้มีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาไร่ส้ม, สาขาท่ายาง และสาขาบ้านลาด ติดถนนเพชรเกษมในภาพรวมการขายของทุกสาขาปรากฏยอดขายขนมหม้อแกงและของฝากอื่น ๆ ในร้านแม่กิมไล้ “ลดลงถึง 50%” เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ดี จากปกติลูกค้าส่วนใหญ่จะต้องแวะซื้อขนมหม้อแกงหรือขนมอื่น ๆ กลับบ้านเป็นของฝากหรือนำกลับไปรับประทานเองที่บ้าน

“ยอดขายของเราลดลงอย่างมากและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของทางร้านแม่กิมไล้ เนื่องจากทางร้านใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ต้นทุนจึงสูงขึ้น กำไรในการขายน้อยลง ส่วนวิธีในการปรับตัวก็คงพยายามทำให้สถานการณ์เป็นปกติมากที่สุด และเรายังคงขายสินค้าในราคาเดิม” นางอรุณฉากล่าว

ด้านนางสมาน กลิ่นนาคธนกร เจ้าของร้านเพชรสมาน กล่าวว่า ภาพรวมของการขายของในปัจจุบันถือว่าอยู่ในช่วงที่ไม่ใช่หน้าเทศกาล ดังนั้น จึงส่งผลกระทบทำให้ยอดขายของร้านลดลง 10% โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาซื้อขนมและของฝากเป็นช่วงหน้าเทศกาล อาทิ ช่วงปีใหม่, เทศกาลสงกรานต์ แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงของเทศกาลเข้าพรรษาจึงทำให้ยอดขายลดลง ซึ่งเป็นปกติของทุกปี

อย่างไรก็ตาม ทางร้านได้มีการปรับตัวด้วยการจัด “โปรโมชั่น” สำหรับการขายหน้าร้านให้กับลูกค้าที่มาอุดหนุน จากปัจจุบันที่ร้านเพชรสมานมีช่องทางการจำหน่ายสินค้า 3 แบบด้วยกัน คือ การขายผ่านหน้าร้าน การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และรับออร์เดอร์จากลูกค้าโดยตรง ซึ่งทางร้านจะรับออร์เดอร์จากลูกค้าเป็นหลัก ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนมากนัก นอกจากนี้ ทางร้านได้มีขยายตลาดด้วยการไปออกบูท ตามงานเทศกาลต่าง ๆ เพื่อหาลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่คณะผู้บริหารร้านแม่บุญล้น ร้านขายขนมชื่อดังในเมืองเพชรบุรี กล่าวถึงภาพรวมของการขายขนมและของฝากในช่วงนี้ว่า ประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น เพราะ “ไม่มีกำลังในการซื้อ” โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาซื้อในช่วงหน้าเทศกาล ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายของร้านแม่บุญล้นลดลงประมาณ 50% แต่ในส่วนของต้นทุนในการผลิตนั้นก็ถือว่า “ยังไม่กระทบมากนัก” ต่อไปหากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ทางร้านแม่บุญล้นก็จะใช้วิธีการลดจำนวนการผลิต จากเดิมที่เคยผลิตขนมหม้อแกงวันละ 800-900 ถาด ก็คงต้องลดลงเหลือวันละ 300-400 ถาด เพื่อลดต้นทุนในการผลิตของร้าน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ร้านสาขาจำหน่ายขนมหม้อแกงขนาดใหญ่ริมถนนเพชรเกษมไม่ว่าจะเป็นร้านแม่กิมไล้-ร้านแม่กิมลั้ง-ร้านเพชรปิ่นแก้ว-ร้านพ่อเข่ง ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความเงียบเหงา ไม่ค่อยมีลูกค้าแวะเข้ามาอุดหนุน แต่ร้านบ้านขนมนันทวัน ถนนเพชรเกษม ฝั่งขาเข้า เยื้องกับเขาวังเพชรบุรี กลับมีลูกค้าแวะเข้าไปอุดหนุนอย่างคับคั่ง สาเหตุหลักน่าจะมาจากเป็นร้านของฝากที่ฉีกแนวแตกต่างไปจากร้านสาขาขนมหม้อแกงข้างต้น จากสถานที่และการจัดร้าน-วางสินค้าที่ดูทันสมัยเหมือนห้างสรรพสินค้ามีมุมถ่ายรูป สวนอาหาร และร้านกาแฟ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ร้านบ้านขนมนันทวันสามารถยืนหยัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของประเทศได้