ภัยแล้งทำนาใต้ล่ม 70% ดันข้าวราคาขึ้นทุกวัน

ข้าวใต้ประสบภัยแล้งหนัก ผลผลิตสูญกว่า 70% ทำราคาพุ่งรายวัน 00.10-00.30 บาท/กก. เกือบ 10,000 บาท/ตัน แถม “ทะเลสาบสงขลา” ถูกน้ำเค็มหนุนหนัก กระทบนาปีหายอีก 100,000 ไร่ สิ้นหวัง ทั้งทำนา การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ หมดกำลังซื้อ

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และเจ้าของโรงสีพัฒนโสภณเจริญพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อการทำนาและโรงสีข้าว โดยเฉพาะข้าวนาปีทางภาคใต้ ปี 2563 ข้าวนาปีได้รับความเสียหาย หดหายไปประมาณ 70% จากภาพรวม 500,000 ไร่ โดยเฉพาะแหล่งปลูกรายใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และ พัทลุง เหลือผลผลิต 30% หรือประมาณ 100,000 ไร่ และผลผลิตข้าวที่เหลือก็ด้อยคุณภาพ ส่งผลโรงสีข้าวที่เป็นสมาชิกสมาคมเกือบ 100 โรง ต้องหยุดการสีข้าวไปแล้ว ประมาณ 10-20% เนื่องจากไม่มีปริมาณข้าวเปลือกเพียงพอต่อกำลังการผลิตของโรงสี และหากว่ายังเกิดภัยแล้งต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังอีกระลอกใหญ่ต่อไป

“ปริมาณผลผลิตข้าวที่หายไป ทำให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้นรายวันที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 วันละ 00.10 บาท วันละ 00.20 บาท และ 00.30 บาท โดยขณะนี้ราคาประมาณ 9,500 บาท/ตัน จากเดิม 7,500 บาท/ตัน และข้าวขาวสำหรับแปรรูปทำขนมจีน แป้ง และเส้นก๋วยเตี๋ยว ราคาขยับขึ้น 15 บาท/กก. จากเดิม 11.70 บาท/กก. นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ส่งออกได้ออกมาหาซื้อข้าวในตลาด ราคาข้าวจึงสูงขึ้นจนราคาข้าวมีเสถียรภาพ แต่ขณะเดียวกัน ราคาที่ขยับสูงขึ้น โรงสีข้าวกลับไม่มีข้าวเปลือกที่จะนำไปแปรรูปเป็นข้าวสาร ที่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของโรงสี แต่ชาวนาที่มีผลผลิตดี ทำนาได้คุณภาพ จะได้ราคาที่ดีมาก”

นายสุทธิพรกล่าวต่อไปว่า กรณีที่มีบางคนวิตกว่า หากเกิดภัยแล้งรุนแรง ปริมาณข้าวสารภายในประเทศไทยจะมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคนั้น ขอยืนยันว่ามีข้าวเพียงพอ ไม่ต้องวิตกกังวล แม้จะเกิดภัยแล้งหนักขึ้นอีก แต่จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวที่จะขยับสูงขึ้น

นายสมศักดิ์ พานิชย์ เจ้าของนาข้าวและโรงสีข้าวทิพย์พานิช ในฐานะประธานชมรมโรงสีข้าวระโนด อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า สำหรับภาวการณ์ทำนา จ.สงขลา โดยเฉพาะคาบสมุทรสทิงพระ อ.ระโนด จ.สงขลา แหล่งทำนารายใหญ่สุด ประสบความเสียหายมากจากภัยแล้ง แหล่งน้ำทำนาทะเลสาบสงขลาเกิดภาวะน้ำเค็ม ที่ทำนาประมาณ 100,000 ไร่ ได้รับผลกระทบ ทั้งที่ส่วนหนึ่งได้ปลูก หว่าน ไถไปแล้ว เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนช่วยเหลือสูบน้ำมาจากแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ในที่สุดได้รับความเสียหาย เมื่อผลผลิตน้อย ส่งผลให้ราคาขยับสูงขึ้น จาก 6,500 บาท/ตัน เป็น 7,800 บาท/ตัน แต่ชาวนาไม่มีข้าวเปลือกส่งให้โรงสีข้าวแปรรูป

ตอนนี้ทางจังหวัดสงขลาได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เกษตรกรได้รับรายละไม่เกิน 20 ไร่ โดยรัฐช่วยเหลือประมาณ 500 บาท/ไร่ และพักหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฤดูกาลข้าวนาปี ข้าวยืนต้นตาย และฤดูกาลถัดไปประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 จะเป็นฤดูกาลข้าวนาปรัง หากสภาพภัยแล้งยังยืนหยัดอยู่เช่นนี้ ความเค็มของทะเลสาบอยู่ในระดับสูงจะไม่สามารถทำนาได้อีก จ.สงขลาจะไม่มีข้าวทั้งนาปีและนาปรัง ยกเว้นต้องให้ฝนตกลงมาอย่างหนัก

“สภาพเกษตรกรพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ตั้งแต่ อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ประสบปัญหาหนักมาก ทั้งภาคการเกษตร ประมง และภาคปศุสัตว์ เพราะน้ำในทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำใหญ่ที่ใช้ในการบริโภคอุปโภค เมื่อเกิดน้ำเค็มหนุนสูงก็ประสบปัญหา เฉพาะเม็ดเงินในส่วนของชาวนาหายไป ประมาณ 100,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตไร่ละ 700 กก. หรือประมาณ 7 บาท/กก. เป็นเงินกว่า 490 ล้านบาท ยังไม่นับถึงภาคเกษตรอื่น ๆ และการเลี้ยงปศุสัตว์ เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จ.สงขลา พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ แหล่งทำนารายใหญ่ จ.สงขลา และภาคการเกษตร ภาคปศุสัตว์ ประมง จะต้องอาศัยน้ำทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะ ไม่มีแหล่งน้ำอื่น ๆ ต่างกับที่อื่นที่สามารถใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติ และน้ำประปา บาดาล จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องแปลงน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา ให้เป็นน้ำจืดเพื่อการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของ จ.สงขลา และภาคใต้ ตลอดจนถึงประเทศมาเลเซีย

“ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สามารถสร้างประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก อย่าให้น้ำต้องสูญเสียเปล่า เสนอให้รัฐบาลดำเนินการ ยกตัวอย่างโมเดลมาจากประเทศอิสราเอล อยู่ท่ามกลางทะเลทราย” นายสมศักดิ์กล่าว