ปิดฉาก 36 ปี “ปากพนังห้องเย็น” จากคอนเน็กชั่น “พิศสุวรรณ” สู่ “ไทยยูเนี่ยน”

PAKFOOD ปากพนังห้องเย็น

ขณะที่รัฐบาลเตรียมคลายล็อกเฟส 4 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ภายในประเทศคลี่คลายลง แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังก่อตัวรุนแรงหนักหน่วงขึ้นทีเดียว

หนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู ผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของโลกและเจ้าของแบรนด์อาหารทะเลอันดับ 1 ของโลก ได้ประกาศปิด “โรงงานปากพนังห้องเย็น” ซึ่งผลิตภัณฑ์เนื้อปูพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋องและถ้วย

โรงงานปากพนังห้องเย็น ตั้งอยู่ที่ ต.ปากพนังฝั่งตะวันตก อ.ปากพนังจ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ มีพนักงานประจำและลูกจ้างรายวัน 400 คน โดยให้เหตุผลเบื้องต้นว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่พร้อมจ่ายเยียวยาพนักงาน 7 เดือน และประกันสังคมจ่าย 6 เดือน

ADVERTISMENT

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ช็อกโลกธุรกิจพอสมควร เนื่องจาก “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ถือเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่ไปผงาดในตลาดโลก มียอดขายกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เหตุใดจึงไม่สามารถอุ้มบริษัทเล็ก ๆ ในเครือต่อไปได้

เปิด 36 ปี “ปากพนังห้องเย็น”

หากเอ่ยชื่อ “บริษัท ปากพนังห้องเย็น จำกัด” ของ “ยง อารีเจริญเลิศ” เมื่อกว่า 36 ปีที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมห้องเย็น น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะเป็นบริษัทส่งออกอาหารทะเลอันดับต้น ๆ ของไทย โดยมียอดรายได้จากการส่งออกทั้งกลุ่มระดับ 8,000 ล้านบาท

“โรงงานปากพนังห้องเย็น” ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ที่ “ยง” ก่อตั้งขึ้น จากแรกเริ่มที่เข้าสู่ธุรกิจห้องเย็นในปี 2515 “ยง” ก่อตั้ง “โรงงานเจ้าพระยาห้องเย็น” ที่กรุงเทพฯ เป็นโรงงานแปรรูปปลาหมึกแห่งแรก มีกำลังการผลิตเพียง 20 ตันต่อวัน

ADVERTISMENT

หลังจากนั้น มีการตั้งบริษัทลูกในเครืออีก 2 แห่ง โดยปี 2522 ตั้งโรงงานโอคินอส จ.สมุทรสาคร ผลิตกุ้งกุลาดำ และปี 2525 ตั้งโรงงานทักษิณสมุทร จ.สงขลา ผลิตกุ้งทะเล และในปี 2527 ได้ก่อตั้ง “โรงงานปากพนังห้องเย็น” จ.นครศรีธรรมราช เพื่อผลิตกุ้งและปลาหมึก

การเลือกฐานที่มั่นใน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่เมื่อ 36 ปีก่อน นอกจากเป็นทำเลที่อยู่ใกล้แหล่งอาหารทะเล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักแล้ว ในสมัยนั้นการไปทำธุรกิจใน “เมืองคอน” ถือเป็นดินแดนที่เรียกว่า “ดุ” สำหรับคนต่างถิ่นที่ไปเปิดโรงงานห้องเย็นใหญ่โต แต่ “ยง” กล้าไปลุยเพราะมี “เพื่อนสนิทที่เป็นนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน AFS ด้วยกันที่” ชื่อ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช 7 สมัย ของพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าถิ่นภาคใต้นั่นเอง

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวในวงการประมงให้ข้อมูลตรงกันว่า ในสมัยยุคก่อร่างสร้างตัว “ยง” น่าจะทาบทามให้ “ดร.สุรินทร์” ร่วมถือหุ้นจำนวนหนึ่งในโรงงานปากพนังห้องเย็นด้วย เพราะต้องอาศัยอำนาจ บารมีของเจ้าถิ่นในพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจให้ราบรื่น

ต่อมาการค้าเติบโตขึ้น ชื่อเสียงของ “ปากพนังห้องเย็น” ได้รับการยอมรับจากทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ดังนั้น ในปี 2533 ได้ก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงได้เปลี่ยนชื่อ จาก”เครือเจ้าพระยาห้องเย็น” เป็น “บริษัท ปากพนังห้องเย็น จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และเพิ่มทุนเป็น 300 ล้านบาทในปี 2536

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ บมจ.ปากพนังห้องเย็น เป็นบริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด (มหาชน) PAKFOOD PUBLIC COMPANYLIMITED ซึ่งได้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 330 ล้านบาท

แหล่งข่าวคนเก่าแก่ในบริษัท เล่าย้อนอดีตให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อ บมจ.ปากพนังห้องเย็นเป็น บมจ.แพ็คฟู้ด แต่ยังใช้รหัสในตลาดหลักทรัพย์ฯเหมือนเดิมคือ PPC เพราะชื่อเดิมเมื่อเขียนภาษาอังกฤษ Pakpanang Coldstorage ฟังไม่เป็นภาษาไทย และฝรั่งอ่านแล้วเข้าใจว่าปากพนังทำโรงงานห้องเย็นรับฝาก หากตัดหางออกหมดเหลือ Pak เติม food เข้าไปเป็นชื่อใหม่ จึงเป็นที่มาของชื่อ “PAKFOOD” จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 2555 บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ หรือกลุ่มไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปในปัจจุบันได้เข้าเทกโอเวอร์ บมจ.แพ็คฟู้ด(PPC) ของตระกูลอารีเจริญเลิศ และกนกวัฒนาวรรณ ที่มียอดขายปีละ 8,000 ล้านบาท โดยเริ่มจากเข้าถือหุ้นเพียง 35% ขยับขึ้นมาเป็น 55%, 85% และปัจจุบันเป็นถือหุ้น 100% และนำออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

TU แจ้งเบื้องลึกตัดสินใจปิด รง.

การปิดโรงงานปากพนังห้องเย็นของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือทียู ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก และเจ้าของแบรนด์อาหารทะเลอันดับหนึ่งของโลก โดยเป็นผู้ผลิตทูน่า กุ้ง และปู กระป๋องรายใหญ่ โดยมีฐานการผลิตหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมี 12 โรงงานประกอบด้วย โรงงานในกรุงเทพฯ 2 โรงงาน ในจังหวัดสมุทรสาคร 7 โรงงาน และที่จังหวัดสงขลา 3 โรงงาน มีพนักงานรายวันทุกโรงงานรวม 33,000 คน ดังนั้นการปิด 1 โรงงานจึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย

ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือทียู ได้เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงที่มาที่ไปในการตัดสินใจปิด “โรงงานปากพนังห้องเย็น” ว่า โรงงานปากพนังห้องเย็นแห่งนี้ทำปูม้าพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋องและใส่ถ้วยพลาสติกปีละ 2,000 ตัน โดยส่งออกไปตลาดอเมริกา และขายตลาดภายในประเทศ โดยโรงงานสามารถผลิตได้เต็มที่ 3,000 ตัน

สาเหตุที่ตัดสินใจปิดโรงงานเหตุผลหลักประการแรกคือ การขาดแคลนวัตถุดิบ ไม่มีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการผลิต ปัญหานี้ทียูพยายามแก้ปัญหามาหลายปี ระยะหลังปูม้าในประเทศไทยไม่เพียงพอที่จะผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและราคาสูงด้วย ทำตลาดไม่ได้จึงได้เปลี่ยนมาเป็นปูนำเข้าจากต่างประเทศ แต่วัตถุดิบจากต่างประเทศผลิตไปก็ไม่คุ้ม และวัตถุดิบจากต่างประเทศมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีต้นทุนที่ควบคุมลำบาก

ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ
ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ

ประการที่ 2 ผลกระทบเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดทำให้ลูกค้าในต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ เช่น ร้านอาหารถูกสั่งปิด ซื้อไปก็ขายไม่ได้ ต้องแบกสต๊อกสินค้าไว้ และประการสุดท้าย ที่ตัดสินใจปิดบริษัทได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อกลุ่มไทยยูเนี่ยนมากน้อยเพียงใด โรงงานปากพนังห้องเย็นปี 2562 มียอดขาย 129 ล้านบาท เทียบเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 0.2% ของรายได้รวมของไทยยูเนี่ยนฯ

“เรื่องปิดโรงงานปากพนังเราคิดตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เราพยายามประคอง ไม่ใช่เพิ่งเริ่มคิด แล้วพอมาช่วงนี้ค่อนข้างชัดเจน ก็มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 โรงงานปูเจ้าอื่นในประเทศไทยปิดไปหลายแห่งแล้วเพราะไม่มีวัตถุดิบจะทำ ไม่ใช่เราปิดเพราะโควิด-19 ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นมานานหลายปี โดย 2-3 ปีที่ผ่านมาเราพยายามหางานให้พนักงานทำโดยการใช้วัตถุดิบนำเข้า แต่วัตถุดิบนำเข้ามีบ้าง ไม่มีบ้าง”

“เราก็รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถจะเปิดดำเนินการได้ การปิดโรงงานสิ่งที่ห่วงและคำนึงถึงก่อนคือ พนักงานมีประมาณ 400 คน ซึ่งอยู่ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นบริเวณใกล้โรงงาน ก็มีความผูกพันกับโรงงานมายาวนานพอสมควร พนักงานหลายคนก็เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การตัดสินใจคิดหลายรอบมาก สุดท้ายผู้บริหารบริษัทปากพนักเองก็ตัดสินใจเสนอเรื่องขอปิดโรงงานเพราะทำไปก็ไม่ได้อะไร ทั้งวัตถุดิบและเรื่องตลาดเราให้ทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายบุคคล ทางบริษัทมีการจ่ายชดเชยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้มากกว่ากฎหมายแรงงาน มีเรื่องเกษียณอายุ มีเรื่องอายุงาน”

จริง ๆ ไม่มีผู้บริหารเจ้าของโรงงานที่ไหนอยากปิดธุรกิจของตัวเอง เพราะปิดไปก็กระทบเยอะ นอกจากคนงานแล้ว ธุรกิจก็กระทบ หากถามว่าถ้าเปลี่ยนโรงงานไปผลิตสินค้าอย่างอื่น เช่น กุ้ง ผมว่าในภาวะนี้เรายังมองไม่เห็น โรงงานผลิตกุ้งกลุ่มไทยยูเนี่ยนก็มีอยู่แล้วที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีจำนวนคนงานถึง 2,000 คน ทุกวันนี้ก็ยังผลิตกุ้งได้ไม่เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบกุ้งปีนี้มีไม่เพียงพอ”ฤทธิรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ฤทธิรงค์บอกว่า ในตลาดอเมริกาทียูมีบริษัทลูกคือ บริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท ไทยยูเนี่ยน นอร์ธ อเมริกา อิงค์ เราเป็นผู้นำเข้าปูและกุ้งแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ส่วนทูน่าครองตลาดเป็นอันดับ 3

สำหรับเรื่องธุรกิจปูพาสเจอไรซ์ บริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซีฯ นำเข้าเนื้อปูมาจากทั่วโลก เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม เพราะเป็นบริษัทเทรดดิ้งไม่จำเป็นต้องมีโรงงาน สามารถหาแหล่งวัตถุดิบได้จากทั่วโลก

เสียงสะท้อนคนปากพนัง

เนื่องด้วยโรงงานปากพนังห้องเย็นตั้งมาเกือบ 40 ปี ทำให้ชาวบ้านลูกหลานคนปากพนังต่างเข้าทำงานที่โรงงานแห่งนี้กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ลงมาถึงรุ่นลูก เพราะถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวใน จ.นครศรีธรรมราช ดังนั้น หลายครอบครัวจึงพึ่งพิงรายได้หลักจากโรงงานแห่งนี้มาตลอดชีวิต

ดังที่ นายสมคิด พจน์จำเนียร ชาวตำบลปากพนังฝั่งตะวันตกบอกว่า แรงงานทั้งหมด 400 คนเป็นคนในชุมชนชายขอบของปากพนัง หรือเท่ากับคนใน 400 ครัวเรือน แต่ละคนไม่มีพื้นที่ทำกิน เป็นผลกระทบอย่างมาก และยังมีคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับโรงงานเป็นลูกโซ่ทั้งพ่อค้าแม่ค้า แต่ผู้บริหารสามารถดูแลคนงานได้ดีเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเข้าใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริหารไม่สามารถแบกรับสภาพได้ไหว

ด้าน นายนิติ แก้วปลายคลอง ตัวแทนของแรงงานซึ่งเป็นคนในต.ปากพนังฝั่งตะวันตกระบุว่า การเลิกจ้างที่เกิดขึ้นทุกคนยอมรับสภาพได้เพราะโควิดสร้างความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สิ่งสำคัญอยากให้หน่วยงานของรัฐส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลช่วยเหลือลูกจ้างให้สามารถช่วยเหลือการดำรงชีวิต เพราะทุกคนมีครอบครัวต้องดูแล คนงานส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ปากพนัง