จังหวัดตรังถูกยกย่องว่าเป็น 1 ใน 12 เมืองยุทธจักรความอร่อย มีชื่อเสียงด้านอาหารไม่เป็นรองใคร และมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางทะเลไม่แพ้เมืองท่องเที่ยวหลักซึ่งนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักแล้ว แต่ยังจำกัดจำนวนและเน้นมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเช่นกัน ททท.ตรังได้นำเสนอ
“เกาะสุกร” ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน ชูควายทะเลหนึ่งเดียวในประเทศไทยขึ้นมาเป็นจุดขาย โดย “ลดาวัลย์ ช่วยชาติ”ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง บอกว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดตรังถือว่ามีชื่อเสียงโดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล
“เกาะสุกรถือว่ามีความสวยงาม บรรยากาศสุดโรแมนติก ทั้งทะเล หาดทรายนาข้าว สวนแตงโม มีเส้นทางจักรยาน ที่สำคัญคือมีฝูงควายพื้นบ้านกว่า 300 ตัว บริเวณตลอดแนวชายหาดแตงโม หมู่ที่ 2 บ้านแหลม และหมู่ที่ 3 บ้านทุ่ง หรือทางด้านทิศใต้ของเกาะสุกร มีอยู่ประมาณ 5 ฝูง สามารถพบเห็นได้เพียงแห่งเดียวของไทย จะทยอยกันลงไปเล่นน้ำทะเลวันละ 2 รอบ คือ ตอนเช้าตรู่ตั้งแต่เวลา 05.30 น. และตอนเย็นพลบค่ำตั้งแต่เวลา 18.00 น. หรือช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตก ควายตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่จะเดินลงทะเลเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบเล่นน้ำทะเลอย่างสนุกสนาน เป็นอีกมนต์เสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนหลงใหล”
“ลดาวัลย์” บอกว่า เกาะสุกร หรือเกาะหมู ได้ชื่อว่าเป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.ตรัง ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะสุกรส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นชาวมุสลิม มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ทุกปีในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดแล้ว ชาวบ้านบนเกาะสุกรจะมีพิธีเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและถือเป็นหนึ่งเดียวในโลก นั่นคือ “ประเพณีวันปล่อยควายเกาะสุกร” หรือที่เรียกกันว่า “ฤดูปล่อยควาย” ถือเป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้ว จะทำในช่วงฤดูกาลหยุดทำการเกษตรปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ควายได้อยู่ร่วมกันเป็นอิสระตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ ควายแต่ละตัวจะเลือกเข้าฝูงของตัวเองตามธรรมชาติ โดยมีจ่าฝูงในแต่ละฝูง และถือเป็นโอกาสให้ควายได้ผสมพันธุ์กันโดยไม่ต้องไปจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจากที่อื่น ระยะเวลาการปล่อยควายจะนานไปจนกว่าจะเริ่มทำการเกษตรรอบใหม่ หรือเริ่มฤดูทำนา แล้วจะมีประกาศให้เจ้าของนำควายของตนกลับไปเลี้ยงตามเดิม และยังมีฝูงวัวปะปนอยู่กับฝูงควายบ่อยครั้งบริเวณริมทะเล ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของเกาะสุกรในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเกาะสุกรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“องอาจ ภัทรดำรงเกียรติ” ชาวบ้านจากบ้านทุ่ง ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เล่าว่า เกาะสุกรเป็นเกาะแบบวิถีชุมชนชาวบ้าน ในความหมายคือเกาะหมู แต่ไม่มีหมู มีแต่ควาย ชาวบ้านจะปล่อยควายลงทุ่งนาในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวและแตงโมประมาณปลายเดือนเมษายน หลังจากนั้นควายแต่ละตัวจะเริ่มรวมตัวกันเป็นฝูง
แล้วลงเล่นน้ำบริเวณชายทะเลในช่วงเช้าตรู่ประมาณ 06.00 น. หรือในช่วงพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 17.00-18.00 น.บ้างก็เดินเล็มหญ้า ฉะนั้นระหว่างเดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม จะถือว่าเป็นฤดู “ควายทะเล” นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถมาจากตัวเมืองตรัง ประมาณ 1 ชั่วโมง จนถึงท่าเรือตะเส๊ะ และนั่งเรือลงมายังเกาะสุกรคนละ 30 บาท โดยใช้เวลานั่งเรือประมาณ 15 นาที ก็ถึงที่ท่าเรือเกาะสุกร
นอกจากนี้ “ชัยวัฒน์ พรหมจันทร์” เจ้าของร้าน โรตีบังจอน@เกาะสุกร บอกว่าภาพรวมการท่องเที่ยวถือว่าซบเซา แต่เมื่อมาตรการควบคุมโควิด-19 ถูกปลดล็อกนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาพักบนเกาะสุกรได้แล้ว แต่ก็มีการจำกัดจำนวนอย่างเคร่งครัด เช่น โฮมสเตย์เคยรับ
นักท่องเที่ยว 10 คน อาจจะเหลือประมาณ 4-5 คน ส่วนร้านค้า ร้านอาหารต่าง ๆ ก็เริ่มเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่รองรับนักท่องเที่ยวแบบ new normal อย่างร้านโรตีบังจอนสไตล์วินเทจ ปัจจุบันมีบรรดานักท่องเที่ยวทั้งจากบนเกาะ และนักท่องเที่ยวจากภายนอกที่นั่งเรือข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเดินทางวัยรุ่นที่มานั่งสั่งโรตีและพูดคุยกันแบบสบาย ๆ ตอบโจทย์ความชื่นชอบของลูกค้ามาก นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ทางเพจ “โรตีบังจอน”