“ซันสวีท” ทุ่ม 50 ล้าน ทำไบโอแก๊สจากซังข้าวโพด

ซันสวีททุ่ม 50 ล้าน จ้าง “ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี”วางระบบผลิต “ไบโอแก๊สจากซังข้าวโพด” วางเป้าลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า เผยทุกวันนี้โรงงานผลิตไบโอแก๊สจากน้ำเสียผลิตกระแสไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ใช้เอง ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 10% คาดหลัง 2 ระบบเดินเครื่องลดต้นทุนเฉลี่ยได้ 4 ล้านบาทต่อเดือน หรือเกือบ 50 ล้านบาทต่อปี คาดภายใน 3 ปี ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในโรงงานได้ถึง 30%

นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาโครงการผลิต biogas จากซังข้าวโพดให้กับบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน)

โดยยูเอซีเป็นผู้รับจ้างให้ออกแบบและวางระบบการผลิตไบโอแก๊ส (biogas) จากซังข้าวโพด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงานของซันสวีท ซึ่งวัตถุดิบหลักในการผลิต biogas เป็นซังข้าวโพด 100% ซึ่งเป็น waste จากการผลิตข้าวโพดหวานที่สามารถนำมาผลิต biogas ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลงนาม – บมจ.ซันสวีท ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวาน ลงนามว่าจ้าง บจ.ยูเอซีเอ็นเนอร์ยี ในเครือ บมจ.ยูเอซี โกลบอล ออกแบบและวางระบบผลิตไบโอแก๊ส

ทั้งนี้ ในการออกแบบ วางระบบ และก่อสร้างการผลิต biogas ให้กับซันสวีทในครั้งนี้ จะใช้ระยะเวลาราว 8 เดือน คาดว่าจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ได้ราวกลางปี 2564 ซึ่งแนวทางของซันสวีทถือเป็นต้นแบบของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรที่ให้ความสำคัญต่อการจัดการของเสีย (waste) ภายในโรงงาน ที่จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย ซึ่งเมื่อนำมาผลิต biogas และต่อยอดผลิตกระแสไฟฟ้า จะยิ่งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้มาก และก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ กล่าวว่า โครงการผลิต biogas จาก waste (ซังข้าวโพด) ครั้งนี้ บริษัทซันสวีทได้ใช้เงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท โดยว่าจ้างบริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี จำกัด ให้เป็นผู้วางระบบ ออกแบบระบบการผลิต biogas ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทมีโรงงานผลิต biogas จากน้ำเสียภายในโรงงานอยู่แล้ว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองขนาด 1 เมกะวัตต์ ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 10%

ทั้งนี้ เมื่อมีการผลิต biogas จากซังข้าวโพดเกิดขึ้น ก็จะทำให้กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนราว 4 ล้านบาท หรือเกือบ 50 ล้านบาทต่อปี คาดว่าภายใน 3 ปี จะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในโรงงานได้ถึง 30%