ลุ้นสิ้นปี ราคายางกิโลละ 100 พ่อค้าแย่งซื้อขายล่วงหน้า

ราคายางพุ่งรอบ 60 ปี
ภาพโดย Abhilash Jacob จาก Pixabay

ชาวสวนลุ้นราคายางกิโลละ 100 พ่อค้าแย่งซื้อขายล่วงหน้า หลังเดือนเดียวดีดขึ้น 20-25 บาท เหตุพายุถล่มประเทศผู้ผลิต ยางออกน้อย กรีดไม่ได้ จีนผู้ซื้อรายใหญ่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 ออร์เดอร์เพิ่ม โรงงานถุงมือเร่งซื้อน้ำยางตุน จนราคาสะวิง “ผู้ส่งออก” จ่อขาดทุนขายล่วงหน้า แค่ 50 บาท/กก. รัฐบาลยิ้มรับ ไม่ต้องจ่ายเงินประกันรายได้ กังวลไม่มียางส่งมอบ

หลังจากที่ราคายางภายในประเทศตกต่ำลงเหลือแค่ 3 กก. 100 บาทในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดราคายางได้ดีดกลับขึ้นมาอย่างร้อนแรงท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 โดยในช่วงเพียงแค่เดือนเดียว ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ในประเทศได้พุ่งขึ้นมาถึง กก.ละ 82 บาท ส่วนน้ำยาง ณ หน้าโรงงานราคาก็ขยับขึ้นไปถึง กก.ละ 70.50 บาท สอดรับกับความต้องการของโรงงานผลิตถุงมือยางมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มตั้งความหวังที่ว่า ในปลายปีนี้อาจจะได้เห็นราคายาง 1 กก. 100 บาทก็เป็นได้

ตีกัน 5 เสือถล่มราคาลง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคายางมาจากสภาพอากาศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางที่มีฝนตกชุก ยางของทุกประเทศออกสู่ตลาดน้อย หากเทียบสต๊อกยางปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 441,000 ตันหรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และในช่วงนี้ยังตรงกับกำหนดส่งมอบยางตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทำให้ผลลิตยางที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยคาดว่าผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 3-6% ต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราโลกจะขยายตัวถึง 4-5% ต่อปี

“มีการใช้รถยนต์ขนาดเล็กในจีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปกติ เศรษฐกิจจีนก็เติบโต 4.9% คำสั่งซื้อยางจากจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่สุดในโลกฟื้นตัวกลับมาแล้ว ปกติช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปีผลผลิตยางพาราของไทยจะออกสู่ตลาดจำนวนมากประมาณ 550,000 ตัน แต่ปีนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพียง 441,000 ตันเท่านั้น หมายความว่าความต้องการใช้ยางสูงกว่าผลผลิตอยู่ประมาณ 50,000 ตัน เกิดการไล่ซื้อราคาก็พุ่งขึ้น ผู้ส่งออกเองกลัวว่ายางจะไม่พอส่งออก มากกว่า 90% มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้แล้ว” นายณกรณ์กล่าว

ด้านนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กทย.) กล่าวว่า กยท.เตรียมเชิญผู้ส่งออกยางพารารวมถึง กลุ่ม 5 เสือส่งออกมาหารือในสัปดาห์หน้า เพื่อไม่ให้ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยางพารามีปัญหา เกิดการกดราคายางจากผู้ส่งออก

หลังจากที่ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้กลุ่มผู้ส่งออกยางได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีได้ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับมาตรการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับผู้ส่งออกยาง วงเงิน 20,000 ล้านบาท จากเดิมจะปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% เฉพาะปริมาณส่งออกนยางพาราที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเพิ่มทางเลือกเป็นให้สินเชื่อดอกเบี้ยเพียง 2%

รัฐไม่ต้องจ่ายเงินประกันยาง

นายหลักชัย กิตติพล กรรมการ บริษัทไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่า ราคายางที่สูงขึ้นรวดเร็วมาจากปริมาณผลผลิตยางลดน้อยลงทั้งในและต่างประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ราคา กก.ละ 76-80 บาท ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินประกันรายได้ยาง ซึ่งจะประหยัดงบประมาณไปได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

“ราคายางสูงขึ้นรวดเร็วมาก เรียกว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี แม้จะผันผวนแต่เป็นผลดีต่อเกษตรกร ขอให้รัฐยืนระดับราคาอยู่ที่ 80 บาท/กก.ให้ได้ ผมมองว่าเมื่อผลผลิตน้อยก็เป็นปกติที่ราคาสูง ผู้ซื้อก็จะเก็งกำไร ในส่วนของไทยฮั้วคาดว่าทั้งปียอดขายยางจะเพิ่ม 20% จากปัจจุบันไทยฮั้วมีสัดส่วนตลาดส่งออก 90% และตลาดในประเทศ 10%”

ขณะที่บริษัทศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี กล่าวว่า เวียดนามประสบปัญหาน้ำท่วมจากพายุที่เข้ามาก่อนหน้านี้หลายลูก ทางอินโดนีเซียก็หยุดกรีดยาง คาดการณ์ว่าปี 2020 ตลาดส่งออกโลกจะติดลบ -5.2% มีปริมาณ 12.9 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 มีสัดส่วน 33% ขณะที่อินโดนีเซียมีสัดส่วน 20% ส่วนเวียดนามปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 8% ขณะที่มาเลเซีย จีน อินเดีย มีสัดส่วนเท่ากันคือประเทศละ 5% ตอนนี้ราคายางมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่ต้องรอดูสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ถ้าฝนตกหนักกรีดไม่ได้ก็จะหนุนให้ราคาขยับขึ้นไปอีก แต่จะถึง กก.ละ 100 บาทหรือไม่ “ขอไม่ให้ความเห็น” แต่ยอมรับว่า ราคายางกระทบต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง

ลุ้น 1 กิโล 100 บาท

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ภาคใต้ เชื่อว่า แม้ราคายางจะมีความผันผวนตามภาวะกลไกตลาด แต่มีแนวโน้มทยอยไต่ขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/2564 และคาดว่าราคายางจะขึ้นไปถึง 100 บาท/กก. มีผลทำให้กลุ่มผู้ส่งออกที่ทำสัญญาซื้อขายตลาดล่วงหน้าที่ราคาต่ำประสบภาวะขาดทุนมากทีเดียว

“ราคายางวันที่ 29 ตุลาคมสะวิงมากกว่า 1 บาทตามการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า แต่มาวันนี้ (30 ต.ค.) ราคากลับมาดีดขึ้น ผมมองว่าถ้าราคายางเคลื่อนไหวที่ 60-80 บาท/กก. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก”

อย่างไรก็ตามตลาดต้องการปริมาณยางมาก แต่ปริมาณยางผลิตในประเทศไทยมีปริมาณน้อย นอกจากนี้ในภาคใต้ยังเกิดโรคยางใบร่วง ทำให้น้ำยางสดขาดแคลนไปประมาณ 50% ด้านตลาดกลางยางของการยางแห่งประเทศไทยทั้ง 3 ตลาด (สงขลา-นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี) ในช่วงยางพีกปรากฏมีปริมาณซื้อขายประมาณ 500,000 กก.ถึง 1 ล้าน กก.หรือประมาณ 500-1,000 ตัน/วันทีเดียว ทำให้พ่อค้ากลุ่มที่มียางเก่ายางเสื่อมขึ้นรา-ค้างสต๊อกทั้งยางก้อนถ้วย-ยางแท่งที่มีประมาณ 10,000 ตัน กลับมาขายทำกำไรได้อีก 10-20 บาท/กก. เพราะขณะนี้ตลาดรับซื้อทั้งหมดเพื่อนำไปปรับปรุงใหม่

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า ผู้ค้ายางต้องหายางมาส่งมอบในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จะครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายนจึงมีการแข่งขันกันไล่ซื้อยาง

“ราคายางจะสูงต่อเนื่องไปถึงช่วงไตรมาส 1/2564 ซึ่งเป็นช่วงยางพีก แล้วราคาจะดัมพ์ลงอีกระลอก คาดว่าจะปรับมาอยู่ที่ 30-40 บาท/กก. ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคายางมีเสถียรภาพอยู่ในระดับราคาที่ไม่มีความเสี่ยงคือ 60 บาท/กก.”

ขณะที่นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เห็นว่า ราคายางที่ขยับสูงขึ้นมาจากยางสังเคราะห์ราคาสูง เนื่องจากยางสังเคราะห์แปรรูปมาจากปิโตรเคมี

อีสานช็อก 100 ปีไม่เคยมี

ด้านนายธนากร จีนกลาง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงสถานการณ์ยางในภาคอีสาน โดยชาวสวนยางสงสัยว่า “ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น” น้ำยางสดกับยางแผ่นรมควันมีความต้องการในตลาดสูงใกล้เคียงกันมาก ราคาไต่ระดับขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเรียกว่า “ใน 100 ปีไม่เคยเกิดแบบนี้” จากปกติราคาขึ้นครั้งละ 10-20 สตางค์ แต่มาวันนี้ราคาตลาดกลางที่สงขลาบวกขึ้นไปกว่า 7-10 บาท/กก. ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากเหตุผล 3 ประการคือ

1) พายุเกิดขึ้นค่อนข้างถี่ทางฝั่งประเทศเวียดนาม ทำให้ผลผลิตยางของเวียดนามหายไป 2) การระบาดของโควิดในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่มีแรงงานกรีดยางเข้ามาในประเทศไทย 3) มีความต้องการน้ำยางไปทำถุงมือยางในหลายเดือนที่ผ่านมาเรียกว่ายอดทะลัก “ตอนนี้ที่ราคาไม่ค่อยขยับขึ้นไปเท่าไหร่ก็คือ ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ในภาคอีสาน กก.ละ 23 บาท ผมยกตัวอย่าง จาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 56 บาท เป็น 66 บาท และเพียง 3 วันขยับขึ้นมาอีกเป็น 80 บาท/กก.

ส่งผลให้พ่อค้าหรือผู้ประกอบการจากจีน สิงคโปร์ มีสัญญาที่ซื้อขายยางล่วงหน้านับล้านสัญญาเพื่อแย่งสินค้ากันถือเป็นการซื้อขายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นายธนากรกล่าว

อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวเข้ามาว่า กลุ่มพ่อค้ายาง-สถาบันเกษตรกร-กลุ่มยาง-สหกรณ์ยาง-วิสาหกิจชุมชนยาง ตอนนี้ต่างแข่งขันแย่งกันรับซื้อยาง โดยมีการเสนอซื้อ “สูงกว่า” ราคาท้องตลาดทั่วไปประมาณ 00.50- 1 บาท/กก. เช่น ยางราคา 82.50 บาท ก็จะให้ราคา 83-83.50 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคานอกตลาด เพราะกลัวผิดสัญญาไม่มียางส่งมอบให้กับผู้ซื้อ

“เชื่อกันว่ากลุ่มค้ายางจำนวนมากมีการซื้อขายล่วงหน้าไว้ที่ราคาแค่ 50 บาท/กก. มาถึงตอนนี้ไม่มียางส่งมอบตามสัญญาต้องเร่งหาซื้อยางกันจ้าละหวั่น ราคาสูงกว่า กก.ละ 80 บาทก็ต้องซื้อ ทำให้ต้องประสบภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมาก”

ธ.ก.ส.มองปีหน้าราคายังพุ่ง 60%

นายสัชชา โยชน์ชัยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงราคายางในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า จะอยู่ที่ 57-67 บาท/กก. โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 57.63 บาท/กก. และหากเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 ราคายางจะอยู่ที่ 57.05 บาท/กก. หรือเพิ่มสูงขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคายางอยู่ที่ระดับ 36.95 บาท/กก.เท่านั้น

“แรงสนับสนุนทางด้านราคาจะมาจากพายุเข้า กรีดยางได้น้อยลง ตลาดโลกมีความต้องการยางเพิ่มขึ้นจากการคลี่คลายของโควิด-19 ความต้องการน้ำยางไปทำถุงมือยางด้านการแพทย์ และรัฐบาลสนับสนุนให้มีการนำยางมาทำหลักนำทางตามแผนที่ต้องใช้ยางถึงปีละ 350,000 ตัน

ส่วนแนวโน้มราคายางพาราในปี 2564 ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยมองว่าครึ่งปีแรกของปี 2564 ราคายางจะเพิ่มสูงขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากปัจจัยความต้องการซื้อยางพาราของจีน แต่ยังต้องจับตาทิศทางราคายางพาราในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของโตเกียวที่ยังเคลื่อนไหวในทิศทาง 250-300 เยน/กก. ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ