หอการค้าอุดรตั้ง 7 ทีมฟื้นฟูธุรกิจ โควิดระลอก 3 เดือนเดียวสูญกว่าพันล้าน

โควิดระลอก 3 ทำเศรษฐกิจอุดรฯซบหนัก เมษายนเดือนเดียวสูญกว่า 1,000 ล้านบาท “หอการค้าอุดรธานี” ตั้ง 7 คณะทำงานช่วยฟื้นธุรกิจ ทั้งด้านท่องเที่ยว-การเงิน-การคลัง-ธุรกิจ SMEs-เกษตร-แรงงาน-แก้ปัญหาด้วยดิจิทัล

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบในจังหวัดอุดรธานีทันที เฉพาะเดือนเมษายน 2564 ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวสูญรายได้ไปกว่า 1,000 ล้านบาท คิดจากอัตราเฉลี่ยคนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในอุดรธานีวันละ 10,000 คน

ยังไม่ได้นับรวมทั้งภาคอีสาน จังหวัดใกล้เคียง คนจาก สปป.ลาว ที่จะเข้ามา และปกติเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์คนจะกลับบ้านมีการจับจ่ายใช้สอย ตอนนี้ห้างสรรพสินค้าเงียบ โควิดรอบนี้หนักกว่ารอบแรก

ด้านนายวีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการค้าในเดือนเมษายน 2564 ซบเซาจากโควิด-19 รอบ 3 และมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวด

ทำให้ทุกคนลดการเดินทาง ไม่มีกิจการค้าขาย การอุปโภคบริโภค ทำให้ร้านค้าเงียบลง มีผลกระทบต่อห่วงโซ่ ค้าปลีกค้าส่ง เกษตรกร แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การส่งสินค้าในลักษณะบีทูบี

โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร หรือส่งออกไปประเทศจีน ไม่ได้รับผลกระทบ แต่การค้าลักษณะบีทูซี ได้รับผลกระทบโดยตรง ทุกคนไม่อยากออกมาซื้อสินค้า ประกอบกับเดือนเมษายนมีวันหยุดสงกรานต์ เท่าที่สอบถามยอดขายหายไป 50-70% ในกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง

“มาตรการของจังหวัดกระทบทุกคนแต่ยังพอประคับประคองตัวเองไปได้ระยะหนึ่ง ประมาณการเหมือนปีที่แล้ว ทุกคนตุนเงินสำรองไว้ 2-3 เดือน ขาดทุนทุกราย ตอนนี้สิ่งสำคัญต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว

ถ้าถึงปลายปีจะช้าขณะเดียวกันเริ่มลงไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีมาตรการแบงก์ชาติพักหนี้ พักดอกเบี้ยน่าสนใจ”

ด้านนายวันชัย อนุตรชัชวาลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หอการค้าจังหวัดอุดรธานีได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 ชุด เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชน

ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1.คณะทำงานมาตรการ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจใหม่ และเพื่อการท่องเที่ยว 2.คณะทำงานมาตรการเพื่อการเงิน-การคลัง

3.คณะทำงานมาตรการเพื่อธุรกิจ SMEs 4.คณะทำงานมาตรการเพื่อการเกษตร 5.คณะทำงานมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาแรงงาน 6.คณะทำงานมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (digital solution) และ 7.คณะทำงานฝ่ายเลขานุการ

“อยากได้วัคซีนมาเพื่อเปิดเมืองค้าขายเป็นเมืองปลอดภัยได้ เชื่อว่าคนสปป.ลาวอยากเข้ามาในเมืองไทย”

สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจอุดรธานี ประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นสำคัญ

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชนปรับตัวลดลง ตามการบริโภคและการใช้จ่ายของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่

ด้านต้นทุนผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับสูง สำหรับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภาพรวมในรอบ 6 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่จะคลี่คลายลง

ประกอบกับการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ โครงการคนละครึ่งเราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน

ผลผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญในเดือนนี้

สำหรับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคามันสำปะหลัง ความต้องการทั้งตลาดในและต่างประเทศมีต่อเนื่อง สอดคล้องกับกำไรเกษตรกรขยายตัว สำหรับการจ้างงานยังหดตัว

เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก สำหรับดัชนีแนวโน้มภาคเกษตรมีทิศทางขยายตัว ราคาสินค้าเกษตรภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

และคาดว่าสภาพอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อและกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศปรับตัวลดลง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

สอดคล้องกับผลประกอบการที่ลดลงจากการชะลอการผลิตและการลงทุนของผู้ประกอบการ ส่วนรายได้และการจ้างงานยังคงหดตัวจากการปรับลดชั่วโมงการทำงานและมีการปรับตัวค่าจ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อีกทั้งมีการนำเครื่องจักร และเทคโนโลยี เข้ามาใช้ในขบวนการผลิตแทนแรงงานคน สำหรับดัชนีแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณขยายตัว เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลง

รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนมากขึ้น

ผลประกอบการภาคบริการลดลงจากการบริโภคและกำลังซื้อของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและชะลอการเดินทางท่องเที่ยวสอดคล้องกับรายได้

และการจ้างงานที่ปรับตัวลดลงจากการปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาและไม่มีการจ้างงานเพิ่มสำหรับดัชนีแนวโน้มภาคบริการมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

จะคลี่คลายจากการทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชากร อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน

และโครงการเราชนะ ส่งผลให้มีการบริโภคและกำลังซื้อของประชาชนในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ ในส่วนของราคาค่าจ้างแรงงานลดลง

เป็นผลจากการปรับลดชั่วโมงการทำงานเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ สูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนในการผลิตอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้น

“แนวโน้มการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงจากการทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจการค้าและบริการโดยรวมปรับตัวดีขึ้น

ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวและมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น”