ผู้ว่าฯ สมุทรสาครถก “ปิดเมือง-ปิดโรงงาน” หาก 1 สัปดาห์โควิดไม่ลด

ผู้ว่า สมุทรสาคร

สมุทรสาครโควิดทะลุ 1,057 ราย ผู้ว่าฯ สั่งโรงงานที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไปตั้งโรงพยาบาลสนามแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ FAI 10% ภายใน 1 สัปดาห์ โรงงานใดฝ่าฝืนพร้อม “สั่งปิดทันที” หากยอดติดเชื้อยังไม่ลดลงเตรียมถก “ปิดเมือง – ปิดโรงงาน”

วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 รายงานข่าวจากสมุทรสาคร เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เวลา 24.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,057 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 224 ราย ในโรงงานและเรือนจำ 6 ราย ภายในโรงพยาบาล 827 ราย แบ่งเป็นในจังหวัด 678 ราย และนอกจังหวัด 149 ราย เสียชีวิต 7 ราย เสียชีวิตสะสม 89 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 40,452 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 12,099 ราย รักษาหาย 10,967 ราย

ขณะที่ วานนี้ (23 ก.ค.) นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ณ ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีการถกประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ เรื่องของการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบว่า ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นต่อวันอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคนี้ คือ การหยุดความเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุดเป็นเวลา 14 วัน และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่จะต้องบังคับใช้อย่างเข้มข้นสูงสุด

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธาน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากการประชุมในวันนี้ได้มีข้อสรุปออกมา 3 เรื่องที่สำคัญๆ เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ประกอบไปด้วย เรื่องของตลาดนัด,ปิดเมือง และการดำเนินการกับโรงงาน โดยในส่วนของ “ตลาดนัด” นั้น ก็มีการถกเถียงกันค่อนข้างมากแต่สรุปได้ว่า ให้เปิดขายได้เฉพาะอาหาร หรือเครื่องบริโภค และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนเท่านั้น ซึ่งถ้าตลาดไหนไม่มีมาตรการเข้มงวดต่อการคัดกรองบุคคลหรือการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง หากพบก็จะต้องถูกดำเนินการพิจารณาสั่งปิดโดยเด็ดขาด

ขณะที่ประเด็น “การปิดเมือง” และการสั่งปิดการประกอบกิจการทั้งหมดนั้น ก็เป็นแนวความคิดที่มีการพูดในที่ประชุม แต่ยังไม่มีมติออกมาที่ชัดเจน เพราะว่าจะเกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย แต่ทว่านับจากนี้ภายใน 1 สัปดาห์ ก็ต้องดูกันว่าตัวเลขหรือทิศทางจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ จึงอยากให้ทุกคนในจังหวัดสมุทรสาคร ช่วยกันปฏิบัติตนตามมาตรการบังคับอย่างเข้มงวด

โดยเฉพาะเรื่องของการเคลื่อนไหวที่น้อยลง ซึ่งถ้าตัวเลขยังคงสูงขึ้นและทุกคนยังคงใช้ชีวิตกันตามปกติเห็นว่าตนเองสำคัญไม่ร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 แล้วนั้น ก็จะต้องนำไปสู่การพิจารณาปิดเมืองต่อไปในการประชุมครั้งหน้า

สุดท้ายคือเรื่องของ “โรงงานอุตสาหกรรม” ที่ทางจังหวัดพยายามส่งเสริมในการดำเนินการเป็นสถานประกอบการที่ดีมี FAI หรือ FQ หรือสถานที่กักตัวพนักงานของสถานประกอบการนั้นๆ นำไปสู่การบังคับโดยปริยายเลยว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไปภายใน 1 สัปดาห์ สถานประกอบการที่มีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จะต้องทำสถานที่กักตัวเตรียมไว้รองรับผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพนักงานทั้งหมด หรือต้องให้เพียงพอต่อการรองรับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ภายในสถานประกอบการนั้น

ซึ่งสถานที่กักตัวนี้จะทำภายในหรือภายนอกโรงงานก็ได้ โดยให้เวลา 1 สัปดาห์นับจากนี้จะต้องแล้วเสร็จ หากสถานประกอบการใดไม่ดำเนินการจะต้องถูกสั่งปิดทันที หรือสถานประกอบการใดดำเนินการแล้ว แต่ไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นก็จะต้องถูกสั่งปิดเช่นเดียวกัน

ส่วนที่ตอนนี้อาจจะมีบางคนถามว่า ทำไมไม่สั่งปิดโรงงานไปเลยทั้งๆ ที่คนในโรงงานมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมากนั้น ก็เนื่องจากเห็นแก่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา จึงได้ให้เวลา 1 สัปดาห์แก่สถานประกอบการโรงงานต่างๆ ให้ได้จัดทำ FAI หรือ FQ ให้แล้วเสร็จ

“การติดเชื้อที่พบมากกว่า 1,000 รายต่อวันนั้น ตนอยากจะบอกว่า โควิดนั้นอยู่ใกล้ตัวมากขึ้นทุกที อย่างเช่นในส่วนตัวของผู้ว่าฯ เองนั้น เมื่อคืนที่ผ่านมาทางลูกสาวก็ได้โทรศัพท์มาบอกว่า “เป็นห่วงพ่อ อย่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิดอีก หนูดูไม่ไหว” ซึ่งผู้ว่าฯ ก็อยากจะบอกจังเลยว่า “พ่อก็ไม่อยากเป็นหรอก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร” ซึ่งในภาวะอย่างนี้ต้องให้ทุกคนช่วยเหลือกัน และดูแลตนเองให้ดีมากที่สุดเลย ส่วนวัคซีนนั้นจะเป็นคำตอบสุดท้ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ประชุมก็ได้มีการหารือถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ส่วนความพร้อมของศูนย์พักคอยคนสาคร หรือโรงพยาบาลสนามในชุมชน CI Community Isolation วันนี้ก็ต้องยอมรับว่าดีขึ้น แต่จะดีขึ้นแค่ไหนต้องติดตามโดยใกล้ชิด แต่ดีขึ้นจากเมื่อวาน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระศักดิ์ตอบคำถามเรื่องความพร้อมของศูนย์ CI นี้เอง ก็มีหยดน้ำตาไหลลงมาจากหางตา ก่อนที่ท่านจะบอกทิ้งท้ายด้วยว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงมีขวัญกำลังใจที่ดี เพราะต่างคนก็ต่างเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน

หลังจากนั้นนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกประกาศคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร 3 ฉบับ พอสรุปสาระสำคัญได้ว่า

คำสั่งจังหวัดสมุทรสาครที่ 2013/2564 เรื่องให้โรงงานหรือสถานประกอบการ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม(Factory Accommodation Isolation : FAI) เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครยังพบผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีการแพร่ระบาดในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และมีอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งอัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เต็มศักยภาพทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน จึงทำให้มีข้อจำกัดในการรับผู้ป่วยรายใหม่เข้าสู่กระบวนการรักษาในสถานพยาบาล ประกอบการกับจังหวัดสมุทรสาครถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และถูกต้องตามแนวทางของการสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีคำสั่ง 1.ให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปหรือมีกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป จัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับแยกกักผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานหรือสถานประกอบการ โดยจะต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานและต้องเพียงพอต่อการแยกกัก ตามแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยอาจพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลภายในหรือภายนอกสถานประกอบการ

หรือร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อเป็นการควบคุมโรคในโรงงานหรือสถานปรากอบการ ตามแนวทางแนบท้ายคำสั่งนี้ และต้องดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

2.ให้แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ตรวจตราและกำกับให้เป็นไปตามสั่งนี้ หากพบว่า โรงงานหรือสถานประกอบการใดดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครเพื่อพิจารณาปิดโรงงานหรือสถานประกอบการทันที

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามนัยมาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สั่ง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

นอกจากนี้ มีคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 2012/2564 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับที่ 70 เพิ่มเติม สรุปใจความสำคัญ 1.ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนยวิทยาศาสตร์ เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนยวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือหอศิลป์, ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชน บ้านหนังสือ, พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน, ร้านทำเล็บ, สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ต่าง ๆ ตลาดนัดให้เปิดเฉพาะส่วนที่ขายอาหารหรือวัตถุดิบเพื่อการบริโภคเท่านั้น

รวมถึงคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 1989/2564 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งจังหวัดสมุทรสาครที่ 1974/2564 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในชุมชน หรือศูนย์พักคอยคนสาคร (เพิ่มเติม) ฉบับที่ 71 และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในชุชน หรือศูนย์พักคอยคนสาคร (เพิ่มเติม) ฉบับที่ 72 สรุปในความสำคัญให้โรงเรียนวัดบางน้ำวน (รอดพิทยาคม)เป็นศูนย์พักคอยคนสาคร (เมือง ศูนย์ 15) และให้ใช้สนามฟุตซอล โรงเรียนเทศบาลตำบลนาดี อ.เมืองสมุทรสาครเป็นศูนย์พักคอยคนสาคร (เมือง ศูนย์ 16)


รวมถึงห้ามมีการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงห้ามบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนดหรือออกจากโรงพยาบาลสนามในชุมชนหรือศูนย์พักคอยคนสาคร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค