ชลประทาน ยันอ่างฯ ลำเชียงไกร นครราชสีมาไม่แตก แต่ยังต้องเฝ้าระวัง

นครราชสีมา ยันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรไม่แตก แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง
ภาพจากเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา

นครราชสีมา เผยสถานการณ์น้ำ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ไม่แตก แต่ปริมาณน้ำยังสูง เฝ้าระวังต่อเนื่อง

วันที่ 27 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 ก.ย.) เฟซบุ๊กเพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา แจ้งสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง ระบุว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา แจ้งเตือนการระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ฉบับที่ 2
ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งจากโครงการชลประทานนครราชสีมา

ว่าเนื่องจากปริมาณน้ำจากลำเชียงไกร ตอนบน และลำน้ำสาขามีปริมาณป็นจำนวนมาก และได้ระบายลง อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเป็นจำนวนมาก (ข้อมูล ณ เวลา 14.09 น.วันที่ 26 ก.ย.64) ระบายน้ำลงลำน้ำเดิม 66.43 ลบ.ม. ระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน 101.72 ลบ.ม. รวมการระบายน้ำ 168.15 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกร และลำน้ำสาขา มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝังลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่ง

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วขอให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ให้อำเภอด้านท้ายอ่างฯ ได้แก่ อำเภอโนนไทย พระทองคำ เมืองนครราชสีมา โนนสูง พิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และอำเภอเมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ในระดับสีส้ม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง

2. ประสานท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทราย ให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัดรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชนให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทาน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่

3. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด

4. กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง จะมีการจัดชุดลาดตระเวนตรวจตรา ตลอด๒๔ ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน

6. รายงานสถานการณ์ และผลการดำเนินการ ตามแบบรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยพร้อมภาพถ่ายให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมาทราบทันที จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด

ต่อมาเวลา 21.23 น. เฟซบุ๊กเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอในสื่อโซเชียลปรากฏเนื้อหาอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรแตกแล้ว ระบุว่า ยืนยัน ลำเชียงไกรไม่แตก สถานการณ์น้ำบริเวณก่อสร้างประตูระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ช่วงเย็นวันที่ 26 กันยายน 2564 ที่เห็นในคลิปเป็นเพียงคันดินกั้นน้ำเพื่อการก่อสร้างถูกน้ำเซาะเท่านั้น ล่าสุดจังหวัดออกหนังสือแจ้งเตือนเรื่องน้ำล้นอ่างและเพิ่มการปล่อยน้ำแล้ว

จากกรณีสื่อโซเชียล ส่งข้อความประกาศเตือนว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรแตกขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ท้ายอ่าง เร่งขนของขึ้นที่สูง นั้นไม่เป็นความจริง

เมื่อเวลา 21.00 น. ผู้สื่อข่าว NBT ได้สัมภาษณ์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ถึงสถานการณ์ที่ลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา โดยรองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า “ ลำเชียงไกร ไม่ได้แตก” จุดที่เกิดปัญหา คือ จุดที่มีไซต์งานก่อสร้าง อาคาร และทางระบายน้ำ โดยผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70

แต่ขณะก่อสร้าง มีฝนตกหนัก และน้ำจากตัวอ่างลำเชียงไกร มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง ทำให้น้ำล้นสปินเวย์ มาสมทบกับตรงจุดก่อสร้าง ประกอบกับ ช่วงก่อสร้างใช้ทำนบดินกั้นขวางทางน้ำ เมื่อน้ำมากจึงกัดเซาะทำนบดินไซต์ก่อสร้าง ชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางระบายน้ำ ซึ่งทำให้ดูเหมือนตัวอ่างชำรุด จริงๆ แล้วไม่ใช่

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า ตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร มั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่าง จึงทำให้น้ำล้น โดยทางจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ท้ายอ่าง ให้ระมัดระวัง น้ำมากที่ล้นอ่าง และอาจท่วมได้ แล้ว

เช้านี้ (27 ก.ย.) เวลา 09.20 น. เฟซบุ๊กเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยสถานการณ์อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ระบุว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างระดับน้ำเริ่มลดลง

โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานว่า เช้าวันนี้ ระดับน้ำในอ่างลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ลดลง 30 ซม. (เริ่มลดลงเวลา 01:00 น.) และเหลือถึงระดับสันทำนบดิน อ่างฯ 60 ซม. นั่นหมายถึง ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 400 – 500 ลบ.ม.ต่อวินาที น้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลออกจากอ่างฯ ทุกช่องทาง (ช่อง river outlet ซ้าย/ขวา , กาลักน้ำ /สูบน้ำ ,รถสูบซิ่ง ,ทางระบายน้ำฉุกเฉินขวา (Emergency Spillway) , และช่องบ่อก่อสร้าง ประตูระบายน้ำ(Service Spillway) จึงยังไม่ต้องตัดคันทำนบดินอ่างฯจุดอื่นเพิ่มการระบายอีก

เมื่อระดับน้ำในอ่างฯ ทรงตัวและลดลง ทำให้ ไม่เกิดน้ำล้นข้ามทำนบดินสันของอ่างฯ ในลักษณะพังทลาย
ณ เวลานี้สามารถบริหารน้ำออกจากอ่างฯให้มากกว่าหรือเท่ากับน้ำเข้าอ่างฯ รักษาความปลอดภัยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พ้นวิกฤติ และบรรเทาความเสียหายด้านท้ายน้ำ แต่ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ยังคงไหลลงมาจากตอนบน ห้วยสามบาท ที่ไหลลงมาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ล่าสุด เวลา 09.52 ได้เปิดเผยสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ระบุว่า โครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีน้ำเต็มอ่าง และเกิน 100% จำนวน 15 อ่างฯ ได้แก่

1.อ่างฯลำเชียงไกร(ตอนบน) 113%
2. อ่างฯลำเชียงไกร(ตอนล่าง) 164%
3. อ่างฯหนองกก 115%
4. อ่างฯห้วยปราสาทใหญ่ 107%
5. อ่างฯลำฉมวก 131%
6. อ่างฯลำเชียงสา 102%
7. อ่างฯบะอีแตน 109%
8. อ่างฯบ้านสันกำแพง 108%
9. อ่างฯห้วยยางพะไล 120%
10. อ่างฯห้วยน้ำเค็ม 104%
11. อ่างห้วยตะคร้อ 123%
12. อ่างฯห้วยบง 107%
13. อ่างฯลำสำลาย 102%
14. อ่างฯห้วยเพลียก 102%
15. อ่างฯลำปลายมาศ 102%

อีกทั้งยังแจ้งเพิ่มเติมว่า แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 รายงานว่า ยังคงมีน้ำท่วม 5 เส้นทาง จำนวน 11 จุด ดังนี้

บนทางหลวงหมายเลข 2217 ตอน ด่านขุนทด – หนองกราด

  • จุดที่ 1 กม.0+700 – กม.2+500
  • จุดที่ 2 กม.5+970 – กม.6+200
  • จุดที่ 3 กม.10+000 – กม.12+150
  • จุดที่ 4 กม.15+200 – กม.16+000
  • จุดที่ 5 กม.17+050 – กม.17+200
  • จุดที่ 6 กม.19+960 – กม.20+460 เขตพื้นที่อำเภอด่านขุนทด

 

บนทางหลวงหมายเลข 2256 ตอน ปางโก – กุดม่วง

  • จุดที่ 7 กม.72+100 – กม.72+300 เขตพื้นที่อำเภอด่านขุนทด

บนทางหลวงหมายเลข 2148 ตอนด่านขุนทด-โคกสะอาด

  • จุดที่ 8 กม.3+500 – กม.4+200 เขตพื้นที่อำเภอด่านขุนทด

ขบนทางหลวงหมายเลข 201 ตอน หินหล่อง – ด่านขุนทด

  • จุดที่ 9 กม.37+500 -กม.40+200
  • จุดที่ 10 กม.57+100 – กม.58+000 เขตพื้นที่อำเภอด่านขุนทด

บนทางหลวงหมายเลข 2 ตอน ไร่โคกสูง – โคกกรวด

  • จุดที่ 11 กม.124+500 – กม.124+900 เขตพื้นที่อำเภอสูงเนิน

ทั้งนี้สาเหตุ เกิดจากฝนตกหนัก การจราจร ทล.2217 ผ่านไม่ได้ ส่วนเส้นทางอื่นผ่านได้แต่ไม่สะดวก เจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงในพื้นที่ ได้ดำเนินการติดตั้งป้ายเตือนน้ำท่วมข้างทาง และวางกรวยยาง พร้อมอยู่ประจำพื้นที่เพื่อคอยอำนวยความสะดวก