ดัน “จันท์ฟูดส์&ฟรุตวัลเลย์” หนุนยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกสู่ครัวโลก

จันทบุรีร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ ท้องถิ่น ม.บูรพา จัดทำแผนพัฒนาระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (EFFC) นำร่อง “โครงการจันทบุรี ฟูดส์แอนด์ฟรุตวัลเลย์” พร้อมขยายผลไปในจังหวัดภาคตะวันออกกลุ่ม 2 ให้เป็นครัวของประเทศและครัวของโลก

นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ ท้องถิ่น สถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำแผนพัฒนาระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (EFFC) และได้รับบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดจันทบุรี 5 ปี(2566-2570)กำหนดเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดจันทบุรีพร้อมที่จะขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือของส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยกำหนดให้จังหวัดจันทบุรีเป็นต้นแบบนำร่อง “โครงการจันทบุรี ฟูดส์แอนด์ฟรุตวัลเลย์” (Chanthaburi Foods and Fruits Valley) คาดว่าจากนั้นจะขยายผลไปในจังหวัดภาคตะวันออกกลุ่ม 2 พัฒนาเป็นภาพรวมระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (EFFC)

“โครงการระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Food and Friut Corridor : EFFC) ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกกลุ่ม 2 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นคร นายก เป็นโครงการที่เชื่อมโยง มติ ครม.ปี 2561 ที่จะพัฒนาภาคตะวันออกเป็นมหานครผลไม้โลก

แต่ยังไม่เห็นผลเชิงรูปธรรม ส่วนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีโครงการพัฒนาไม้ผลตามโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) ที่จ.ระยอง

ขณะที่ภาคตะวันออก กลุ่ม 2 เป็นแหล่งผลิตผลไม้ สมุนไพร พืชอาหาร แหล่งประมงเห็นความสำคัญของการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ภาคเอกชนและรัฐรวมถึงสถาบันการศึกษาของจังหวัดจันทบุรี จึงจึงผลักดันให้จันทบุรีเป้นจังหวัดนำร่องต้นแบบเขตเขตพัมนาเกษตรและอุตสาหอาหาร”

ด้วยศักยภาพจันทบุรีคือ 1) มีตั้งภูมิศาสตร์เหมาะสม มีระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อทั้งท่าเทียบเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา ชายแดนติดกัมพูชา เวียดนาม และทะลุไปจีนได้ 2) เป็นตลาดกลางผลไม้ขนาดใหญ่ มีล้งรับซื้อผลไม้ ทุเรียน ลำไย จำนวนมากถึง 800 ล้ง และ 3) เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญ โดยเฉพาะทุเรียนปีนี้ส่งออกไปจีนถึง 500,000 ตัน ยังไม่รวมตลาดต่างประเทศอื่น ๆ และตลาดภายในประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรม พัฒนามาตรฐาน สร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าและแข่งขันกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาภาคตะวันออกกลุ่ม 2 มีแนวทางที่จะพัฒนาโครงการ EFFC ประเภทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารให้เป็นครัวของประเทศและครัวของโลก เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยได้จัดโซนนิ่งไม่ให้มีผลกระทบกับการท่องเที่ยว และส่งเสริมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เติบโตไปด้วยกัน และเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EECในจังหวัดชลบุรีที่มีโครงการ BCG เกษตรอุตสาหกรรมที่เป็น zero waste

ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้สนับสนุนให้จัดตั้งสำนักงานเป็นศูนย์รวมบริหารจัดการ bic data ให้เกิดประโยชน์ มีสถาบันการศึกษา 3 แห่งที่เป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (agritech and innovation center : AIC) สนับสนุนต่อไปเป็นกระบวนการที่จะต้องผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและให้บรรลุเป้าหมายคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างรายได้ให้ประชากรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตจันทบุรี และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี และประธานยุทธศาสตร์ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของโครงการ EFFC คือการแปรรูปเพิ่มมูลค่าและเน้นอุตสาหกรรมสีเขียว เพราะที่ผ่านมาด้านเกษตรกรรมขายผลไม้ในรูปวัตถุดิบได้ค่าการตลาดค่อนข้างต่ำ ไม่ได้พัฒนาเพิ่มมูลค่า

ขณะที่จันทบุรีมีศักยภาพด้านการผลิตสูง แต่บุคลากรขาดวิธีการในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ หากวัตถุดิบ 20% เมื่อนำมาสร้างโปรดักต์เพิ่มขึ้นจะได้มูลค่าเพิ่มมากกว่าขายวัตถุดิบ 80%

นอกจากนี้ งานวิจัยที่สถาบันการศึกษาจะช่วยสนับสนุนควรมาจากผู้ประกอบการตั้งโจทย์ และตอนนี้มหาวิทยาลัยบูรพาได้เตรียมโรงงาน OEM เพื่อให้เกษตรกรมาเรียนรู้หรือรับผลิตสินค้าด้วย

“เรามีงานวิจัยที่จะพัฒนานวัตกรรมได้หลากหลาย โอกาสที่ จ.จันทบุรีจะบรรลุเป้าหมายเป็นไปได้สูง เพราะมีผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่เข้มแข็ง มีความรู้กลับมาทำธุรกิจ และมีเงินทุนหนา มีรากฐานมั่นคง ถ้า 3 ฝ่ายบูรณาการร่วมกัน ทั้งจังหวัด นโยบายรัฐ เอกชน

จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะในยุคปัจจุบันปลาเร็วกินปลาช้า ควรผลักดันให้เริ่มจากกลุ่มผู้สมัครใจ กลุ่มนักธุรกิจที่เห็นโอกาสและต้องการที่จะปรับเปลี่ยนต่อยอดก่อน ถ้าจันทบุรีเป็นแซนด์บอกซ์สำเร็จเห็นผลจะขยายต่อไปจังหวัดข้างเคียงได้”