ห้างภูธร-ขนส่ง-รถบัสอ่วม ต้นทุนพุ่ง-ผู้ผลิตเก็บสต๊อกรอขยับราคา

ศิริมงคลโลจิสติกส์

ราคาน้ำมันแพงทำหลายธุรกิจภูธรป่วน ค้าปลีก-ค้าส่งชี้ราคาสินค้าขยับแน่ เหตุค่าขนส่งพุ่ง ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม พร้อมเผยไต๋เล็งโรงงานผลิตบางรายเล่นเกมไม่ขยับราคาสินค้า แต่ปรับลดปริมาณลง ขณะที่บางรายเริ่มสต๊อกสินค้ารอราคาขึ้นสูง ทำสินค้าขาดตลาด ด้านธุรกิจรถบัสอ่วม แบกต้นทุนพุ่ง 60% ผู้โดยสารน้อย ต้องลดเที่ยววิ่งลง ส่วนธุรกิจขนส่งวอนรัฐบาลยกเว้นภาษี ณ ที่จ่าย 1% จนกว่าสถานการณ์น้ำมัน-เศรษฐกิจ-โควิด-19 ดีขึ้น

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (กรีนบัส) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการเดินรถโดยสารของบริษัท โดยพบว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 60% แล้ว ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากรายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกัน แต่ไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสารได้

ทั้งนี้ บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งการดำเนินกิจการขาดทุนมาโดยตลอด จำนวนผู้โดยสารเดินทางลดลง บางเส้นทาง load factor ไม่ถึง 50% โดยที่ผ่านมาได้เร่งปรับตัว อาทิ ลดเที่ยววิ่งรถโดยสารจากเดิม 120 เที่ยวต่อวัน ปัจจุบันเหลือ 30 เที่ยวต่อวัน ลดค่าจ้างพนักงานทุกระดับ โดยได้รับค่าจ้าง 30% จากอัตราค่าจ้างเดิมที่เคยได้รับ

ซึ่งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จึงเป็นวิกฤตที่เข้ามาซ้ำเติมบริษัทอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อยากเสนอข้อเรียกร้องจากรัฐบาลให้ผู้ประกอบการเดินรถโดยสาร สามารถเคลมภาษีคืนได้ จากกรณีที่ได้จ่ายค่าน้ำมันไปในแต่ละครั้ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย

ค้าปลีก-ค้าส่งจ่อขยับราคา

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจการค้า ทำให้ราคาสินค้าค่อย ๆ ปรับขึ้น แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมาตรการมาควบคุมราคา แต่เมื่อราคาน้ำมันขึ้นจะมีกลไกการขึ้นราคาของสินค้าอยู่หลายรูปแบบ ปกติบริษัทซัพพลายเออร์นั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งรวมกับค่าสินค้าที่จะส่งให้ผู้ค้า

เมื่อราคาน้ำมันขึ้นค่าขนส่งและค่าสินค้าจะเพิ่มขึ้นด้วย บางรายราคาเท่าเดิม แต่สินค้าถูกลดปริมาณลง เพราะต้นทุนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น นอกจากนี้บางบริษัทอาจมีการสต๊อกของไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อรอราคาสูงสุดก่อนส่ง ทำให้สินค้าขาดตลาด

“ผลกระทบจากราคาน้ำมันขึ้นนั้น บริษัทซัพพลายเออร์หลายรายก็พยายามช่วยเราอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์ราคาน้ำมันไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 เดือนนี้ ราคาสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก อยากฝากถึงรัฐบาลอย่าบิดเบือนกลไกแก้ปัญหาที่ปลายทาง อย่าด้นสดอย่างเดียว ควรบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพราะตอนนี้เอกชนดิ้นสู้ด้วยตัวเองตลอดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มา 2 ปีแล้ว ตอนนี้หลายปัญหาที่เข้ามาทั้งเรื่องวัคซีน เรื่องเปิดประเทศ และเรื่องน้ำมัน ทุกคนไม่ไหว มันสิ้นหวังทั้งภาคธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจ อยากขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาออกมาให้เร็วที่สุด”

ขนส่งขอเว้นภาษี ณ ที่จ่าย 1%

นายปรีดา เยี่ยมสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศิริมงคลโลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้ารายใหญ่ที่สุดในจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมา ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายของพนักงาน แต่บริษัทก็ไม่เคยมีการปลดพนักงาน หรือลดเงินเดือนพนักงาน ผู้บริหารยอมต้องควักกระเป๋าตัวเองเพื่อช่วยพนักงานไปก่อน

โดยปัจจุบันบริษัท ศิริมงคลฯ มีรถขนส่งสินค้าทั้งรถ 22 ล้อ รถ 18 ล้อ รถ 12 ล้อ และรถ 10 ล้ออยู่ประมาณ 200 กว่าคัน จึงอยากให้รัฐบาลช่วยยกเว้นการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 1% ที่ต้องส่งให้สรรพากร กรณีไม่มี VAT อยากให้ผ่อนผันไปก่อนจนกว่า สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องบริษัทมีการปรับตัวตามราคาขึ้น-ลงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.ทุก ๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน ซึ่งยึดน้ำมัน B7 และ B10 เป็นหลัก ยกตัวอย่าง เช่น หากน้ำมัน ราคาลิตรละ 20-25 บาท ค่าขนส่งก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท หากน้ำมันราคาลิตรละ 25-30 บาท ค่าขนส่งก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท หรือถ้าน้ำมันราคาลิตรละ 30-35 บาท ค่าขนส่งสินค้าก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 600 บาท

นายปรีดาตอบว่า เท่าที่ตามข่าวอธิบดีกรมพลังงานให้สัมภาษณ์ เห็นว่ามีเหตุผลชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งกระทรวงพลังงานก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรเองได้ เพราะต้องขึ้นกับมติ ครม. ดังนั้น เราควรเคารพหลักเกณฑ์นี้กันไปก่อน เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้


สิ่งที่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในขณะนี้ก็คือ เรื่องสวัสดิการของพนักงานซึ่งรัฐบาลก็กำลังช่วยเหลือในส่วนการประกันสังคมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องภาษีค่าขนส่งที่กำหนดว่าค่าขนส่ง 100 บาท ต้องหัก 1 บาท ส่งให้สรรพากรทันที (กรณีไม่มี VAT ถือเป็นค่าขนส่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1%) อยากให้ผ่อนผันไปก่อน เมื่อโควิดคลี่คลาย ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น ค่อยมาว่ากัน