จี้รัฐหนุนเชื่อม “ไฮสปีดจีน-ลาว” ดัน “หนองคาย” สู่ Hub อาเซียน

รถไฟลาว-จีน

เมื่อเร็ว ๆ นี้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ร่วมกับ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนา “โอกาสทางธุรกิจและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย กับโครงการเส้นทางรถไฟจีน-สปป.ลาว” ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 2 ธันวาคม 2564

“มงคล วิศิษฎ์สตัมภ์” กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจีนต้องการสร้างโครงข่ายการขนส่งเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง และไปถึงยุโรป โดยฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนต้องการเชื่อมผ่านไทยลงไปถึงสิงคโปร์ในอนาคต ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจข้ามแดน และภาคบริการ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีน-สปป.ลาวใช้เวลาก่อสร้างอีก 5-7 ปี และโครงการรถไฟทางคู่ที่จะไปเชื่อมต่อใช้ระยะเวลาพัฒนาอีก 4-5 ปี จะเกิดการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และไทยจะเป็นประตูการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค

“ผู้ประกอบการไทยควรฉวยโอกาสนี้ขนส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงจาก สปป.ลาว ไปจีน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 6.4% มีประชากรกว่า 1,412 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อคนนับหมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่”

การเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง จีน-สปป.ลาว ถือเป็นการพลิกโฉมภาคการขนส่ง ทั้งคนและสินค้าได้ภายใน 1 วัน ลดเวลาการขนส่งสินค้าทางถนนและทางเรือที่ใช้เวลามากกว่า ปัจจุบันสินค้าไทยที่ส่งไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและผลไม้ ถัดมาคือสินค้าสุขภาพและความงาม การขนส่งทางรางเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการส่งสินค้าที่ราคาถูกลง สะดวกและรวดเร็ว ภาครัฐต้องผลักดันเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ด้วย

“ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ถือเป็นโอกาสดีของไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น โดยเอกชนของประเทศไทยเก่งในการสร้างธุรกิจสร้างประโยชน์จากโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะจีนและ สปป.ลาว ชื่นชอบสินค้าไทยอยู่แล้ว ส่วนทางรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ มีการเตรียมความพร้อมสำหรับแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนี้ 1.การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น รวมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับปริมาณการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

2.การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน เป็นการบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานเดิม (ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ

3.การพัฒนาพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ระยะเร่งด่วนและระยะยาว การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาพัฒนาพื้นที่รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่และเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของลานขนถ่ายสินค้า สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่าง ๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน, คลังสินค้า และอาคารประกอบอื่น ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงศูนย์การเอกซเรย์ (X-ray) ตู้สินค้า

เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One-Stop Service โดยจะพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) และย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี

“มนนิภา โกวิทศิริกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า โครงการที่เกิดขึ้นอยากให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในจังหวัดหนองคายมากขึ้น เพราะมีโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน เพราะมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน อ.สระใคร พื้นที่ 718 ไร่ ที่มีค่าสัมปทาน ค่าเช่าและค่าธรรมเนียมถูกมาก ทุกอย่างพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งมีการตื่นตัวของผู้ประกอบการที่ได้มีการขยายตัวไปยังฝั่ง สปป.ลาวบ้างแล้ว

ด้าน “วัลภา สถิรชวาล” ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ หลังรายได้หลักจากการท่องเที่ยวหยุดชะงักไป อยากให้ภาคโลจิสติกส์ไทยมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ สร้างมาตรฐานกลุ่มอาชีพสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับกรอบวุฒิแห่งชาติ 8 ระดับ แม้โครงสร้างพื้นฐานในประเทศอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี แต่เราสร้างมาตรฐานได้ตามกรอบวิชาชีพ สามารถมาสอบและนำไปเทียบเคียงขยายความก้าวหน้าได้ในกลุ่มอาเซียน

“อย่างไรก็ตาม อยากเห็นหนองคายโมเดล หรือศูนย์กลางขนส่งสินค้าระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ที่มีเอกลักษณ์ ความแตกต่าง มีลักษณะเฉพาะที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่ผ่านเส้นทางโลจิสติกส์นี้เป็นรายได้ให้กับประเทศ อยากให้ทุกคนให้โอกาสตัวเองทั้งระดับบุคคลและระดับองค์กร ร่วมกันรีสกิลและอัพสกิลกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อรองรับการเติบโตของโลจิสติกส์ในระบบรางที่จะเกิดขึ้นสู่มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ”