ดันรถไฟอุดรฯ-หนองคาย-เวียงจันทน์ พัฒนาเมือง-เชื่อมการค้าอีสานตอนบน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการขนส่งมวลชนไทยและกฎบัตรคมนาคมขนส่งเขียว จัดเสวนา “พลิกอุดรธานีเชื่อมโลก ทางอากาศและทางราง ข้อเสนอกลยุทธ์เร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถ อีสานตอนบนด้วยคมนาคมขนส่งเขียว” เพื่อพัฒนาการขนส่งมวลชนทุกระบบของพื้นที่ภาคอีสานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

“วีรพงษ์ เต็งรังสรรค์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กฎบัตรไทยได้ผนึกภาครัฐและเอกชนของจังหวัดอุดรธานี เพื่อเร่งเพิ่มศักยภาพโครงข่ายการคมนาคมอุดรธานี-ขอนแก่น เชื่อมไทยเชื่อมโลก

โดยอุดรธานีเป็นเป็นพื้นที่ศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งในด้านเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ ทั้งทางบกทางราง และทางอากาศ สามารถยกระดับไปสู่เวทีระดับโลกได้ สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว

ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 หลายภาคส่วนในอุดรธานีเห็นควรมีแผนปฏิบัติการมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ให้เกิดการเชื่อมต่อทางการค้าเป็นระเบียงเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม” รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารทุนการพัฒนาระดับพื้นที่ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดอุดรธานี มุมมองการบูรณาการงานวิจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งกับการสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับจังหวัดใกล้เคียง

ถือว่าเข้าสู่ยุคที่ทางรถไฟจีน-สปป.ลาว จะเข้ามามีบทบาทในอีกมิติของการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง ถัดมาอุดรธานีจะเป็นประตูไปเชื่อมกับ สปป.ลาว โยงกับหนองคาย ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถคิดแยกส่วนได้

“พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” ประธานกฎบัตรไทยและนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า บทบาทของไทยในการยกระดับขีดความสามารถพื้นที่ทางอีสานตอนบน

ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงของจีนผ่านสิบสองปันนามาถึงบ่อเต็นแล้ว กำลังข้ามมายังหนองคายที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญมายังอุดรธานี และขอนแก่น ขณะเดียวกัน ขอนแก่นเซ็นสัญญากับจีนเตรียมออกแบบสร้างรถรางวางแผนไว้นานมาก

ถือเป็นจุดเริ่มของอาชีพและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นแต่ละเมืองถือโอกาสเดินหน้าโครงการสอดรับกันให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจโดยมีแบบแผนชัดเจน โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกันพัฒนาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาติดขัดในภายหลัง

“ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเรากำลังแข่งกัน เราต้องทำงานให้สอดคล้องกับภาครัฐ ระบบรางที่มาถึงไม่ใช่แค่การขนส่งเท่านั้น เราต้องมองมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงขนส่งทางบก ทางอากาศ เรือ

สำหรับการพัฒนาอุดรธานีต้องเชื่อมโยงในระดับภาค และเป็นโอกาสดีที่จังหวัดอื่นในภาคอีสานจะจับมือกันไปต่อ ทำให้เกิดความคุ้มค่าและต้องจูงใจให้นักลงทุนด้วย”

“ดร.ธนดร พุทธรักษ์” นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า ต้องเตรียมความพร้อมเมืองอุดรธานี และวางแผนสร้างโอกาสใน 4-5 ปี จะเป็นไปในทิศทางใด ด้วยการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้กว่า 10 ล้านคน ที่จะเข้ามาในปี 2569

“อยากสร้างความเชื่อมโยงในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ (TOD) หลักไปยังสนามบินอุดรธานี มีผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) งบประมาณ 28 ล้านบาท

เป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพสามารถสร้างให้เกิดรายได้ด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ต้องเสนอโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณของเทศบาลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น”

“ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร” อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อุดรธานีถือเป็นสนามบินอันดับหนึ่งของภาคอีสานที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทาง

แต่หากอยากเห็นอุดรธานีความเป็นฮับสำหรับการเดินทาง ปัญหาหลักที่ต้องขบคิดคือการขยายขีดความสามารถและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการร่วมกันขับเคลื่อนเมืองกับการพัฒนาเส้นทางการบินต้องคิดตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากรับส่งผู้โดยสารแล้วยังต้องพัฒนาให้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางอื่นได้ด้วย ซึ่งจะทำให้การลงทุนต่าง ๆ คุ้มค่า

ด้าน “จิรวัฒน์ จังหวัด” ผู้ก่อตั้ง FB.Fanpage: โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย Thailand Intrastructure กล่าวว่า การเชื่อมต่อทางรางของรถไฟจีน-สปป.ลาว มีโครงการระบบรางของไทยที่เกี่ยวข้องกับอุดรธานี คือ

โครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 โครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน ช่วงที่ 2 โคราช-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ซึ่งกำลังจะเริ่มทำ

ถัดมาคือโครงการสะพานมิตรภาพทางรถไฟใหม่ และโครงการ ICD2DRY Port นาทา (หนองคาย) แล้วการพัฒนาของนิคมอุสาหกรรมอุดรธานีจะดึงความได้เปรียบจากโครงการในพื้นที่ของจีนและ สปป.ลาวมาได้

ทั้งนี้ หากอุดรธานีจะก้าวนำหน้า เพื่อการพัฒนาระบบรางเชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว-จีน 1.ต้องพึ่งหน่วยงานภาครัฐการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขยายเส้นทางระหว่างประเทศ เส้นทางอุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์

2.เร่งพัฒนาลานคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าทางรถไฟ เชื่อมโยงนิคมอุดรธานี-เวียงจันทน์ Logistic Park ลดการขนย้ายหลายขั้นตอน เพิ่มโอกาสการในแข่งขัน

สำหรับมุมมองเรื่องการท่องเที่ยว “ธนากร วีรชาติยานกูล” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ภาพรวมทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐ

ขณะที่พื้นที่ต้องนำเสนอไปตามขั้นตอนเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ และต้องเรียนรู้จากความสำเร็จของประเทศอื่นที่ใช้ระบบรางเชื่อมโยงกัน เช่น ยุโรป นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย

หากหน่วยงานของไทย-สปป.ลาว-จีน สามารถคุยกันรู้เรื่องจะเป็นโอกาสขยายตัวด้านการท่องเที่ยวไทย ที่จะไปทดแทนอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลงบางส่วน ซึ่งไปเติบโตอยู่ที่เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย

“การขนคนเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยวหน่วยงานรัฐอย่าง ททท. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกลับไปขบคิดว่าจะสนับสนุนอย่างไร เพราะอุดรธานีเคยมีสายการบินเวียดนามมาแต่ไปไม่รอดเพราะมีข้อจำกัดและต้นทุนสูง

ขณะที่กลางปี 2562 เคยมีชาร์เตอร์ไฟลต์จากจีนมาทดลองตลาด และไปต่อยังสปป.ลาว ผลคือสามารถไปได้ เอเย่นต์ทัวร์อยากจะทำต่อเมื่อโควิด-19 หาย ฉะนั้นหากรถไฟความเร็วสูงมาก การท่องเที่ยวไม่น่าจะมีปัญหา”