“หมาก” ไทยส่งออกพุ่ง 5 พันล้าน ทุนจีนเล็งตั้งโรงงานแปรรูปที่ “พัทลุง” ซื้อไม่อั้น

‘หมาก’ไทยส่งออกพุ่ง 5 พันล้าน ทุนจีนเล็งตั้งโรงงานแปรรูปที่‘พัทลุง’ซื้อไม่อั้น

พัทลุงเร่งส่งเสริมปลูกต้นหมาก หลังต่างประเทศแห่ซื้อผล “หมาก” ไทยไม่อั้น ทำยอดส่งออกพุ่งเฉียด 5 พันล้านบาท โดยเฉพาะตลาดหลัก “เมียนมา” อัตราขยายตัว 215% จากปีก่อน 1,714 ล้านบาท แค่ 10 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ขรี จ.พัทลุง เผยจีน-อินเดีย มากว้านซื้อทั้ง “หมากอ่อน-หมากสุก-หมากแก่” ไม่อั้นกว่า 1,000 ตัน/เดือน ล่าสุดปลายเดือน พ.ย.นี้ ทุนจีนดอดเช่าที่ดินตั้ง “โรงงานผลิตช็อกโกแลต-สแน็ก” จากหมาก

ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ เจ้าของตลาดและอดีตนายกเทศมนตรีตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ประเทศจีนและประเทศอินเดียมีความต้องการผลผลิตหมากของประเทศไทยจำนวนมากแบบไม่จำกัดจำนวน

โดยเฉพาะประเทศจีนต้องการผลหมากอ่อน เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ช็อกโกแลต สแน็ก

ส่วนอินเดียต้องการหมากแก่ หมากสุก ประมาณ 600 ตันต่อเดือน นำไปแปรรูปเป็นเครื่องฟอกย้อมเสื้อผ้าส่าหรีปริมาณมากหลากหลายสี และนำไปสกัดเป็นยารักษาโรคได้

แต่ปัจจุบันผลผลิตในประเทศไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการหารือกับ น.ส.ณัฐฐิญา ชำนาญ พาณิชย์จังหวัดพัทลุง พร้อมลงพื้นที่ อ.ตะโหมด อ.กงหรา จ.พัทลุง เพื่อหารือร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกหมากไปต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมการปลูกหมากและแนวทางการตลาด

“เดิมมีการปลูกหมากตามบริเวณพื้นที่บ้านแนวเขต แนวริมถนน แนวริมสวน โดยบรรพบุรุษปลูกไว้เป็นประจำในครัวเรือนจนสืบทอดมาถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันหลายพื้นที่มีการโค่นหมากออกไปพอควร เราจึงต้องหาแนวทางส่งเสริมการปลูกหมาก เพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดส่งออกที่มีสูง

“ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เห็นสมควรทำการวิจัยสายพันธุ์หมาก เพื่อไม่ให้ลำต้นสูงจนเกินไป โดยให้ได้ประมาณ 5 เมตร จึงเหมาะสม

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหมากถือเป็นพืชที่ได้รับการวางเฉยกันมาตลอด แต่เมื่อมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นชัดเจน ควรวางแนวทางการวิจัย พัฒนาส่งเสริมให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

แนวทางการดูแลบำรุงรักษา วางแนวการปลูกเพิ่ม เช่น แซมตามสวนผลไม้ต่าง ๆ สวนยางพารา สวนทุเรียน สวนปาล์มน้ำมัน และตามแนวเขต ซึ่งมีพื้นที่อยู่จำนวนมาก”

ดร.สมบัติกล่าวต่อไปว่า ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นักลงทุนจากประเทศจีน ที่เข้ามารับซื้อหมากจากเกษตรกรในภาคใต้ของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว เตรียมเข้ามาทำสัญญาเช่าพื้นที่ 3 ไร่ บริเวณเขตเทศบาลตำบลแม่ขรี หมู่ 1 อ.ตะโหมด จ.พัทลุง

เพื่อลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปหมากอ่อน ซึ่งเป็นโกดังและตลาดการค้า พร้อมขนอุปกรณ์เครื่องจักรมาลงผลิตทันที โดยมีแผนทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ช็อกโกแลต และสแน็ก

ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุนจีนกลุ่มนี้สามารถรับซื้อหมากได้ประมาณ 15 ตัน/วัน หรือประมาณ 400 กว่าตันต่อเดือน จากพื้นที่ทางภาคใต้ ได้แก่ จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศจีน

ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปหมากอ่อนของนักลงทุนจีน ส่งผลให้ราคาหมากในพื้นที่ดีขึ้น โดยจีนรับซื้อหมากอ่อนอยู่ที่ 25 บาท/กก. จากค่าส่งหมากตามพื้นที่ต่าง ๆ ประเมินเบื้องต้น

คาดว่าเงินหมุนเวียนประมาณ 370,000 บาท/วัน จากหมากอ่อนที่รับซื้อจำนวน 15 ตัน/วัน หรือประมาณ 15,000 กก. และยังไม่รวมหมากแก่ หมากสุก อีก 600 ตัน/เดือน ที่เป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท/เดือน จะส่งผลให้ในพื้นที่เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจที่ดี

ดร.สมบัติกล่าวต่อไปว่า การที่นักลงทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปหมากอ่อนเป็นผลิตภัณฑ์ ที่เขตเทศบาลตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เนื่องจากใกล้แหล่งวัตถุดิบ

ถือเป็นศูนย์กลางการตลาดสินค้าหมากในพื้นที่จากหลายอำเภอและหลายจังหวัดใกล้เคียง และอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกสงขลา ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และการขนส่ง

รายงานข่าวจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตร จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ทุกหมู่บ้านใน 11 อำเภอ ของ จ.พัทลุง มีต้นหมากแทบจะทุกครัวเรือน และต้นหมากมีทั่วภาคใต้

เนื่องจากมีสภาพอากาศความชื้นสูง มีฝนตกประมาณ 2,000 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งมีความเหมาะสมกับการปลูกหมาก สำหรับ จ.พัทลุง พื้นที่ปลูกมากบริเวณริมภูเขาบรรทัดเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า เช่น อ.ตะโหมด ป่าบอน กงหรา ศรีนครินทร์ เป็นต้น

โดยต้นหมากที่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตประมาณ 6-8 ทะลาย/ต้น/ปี หรือประมาณ 60 กก./ต้น/ปีส่วนต้นหมากที่ไม่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตประมาณ 2 ทะลาย/ต้น/ปี

ทั้งนี้ หมากนิยมนำไปแปรรูปใน 3 ประเภทธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง และรับประทาน

สำหรับการตลาดภายในประเทศไทยยังมีการบริโภค นำไปประกอบการพิธีการต่าง ๆ เช่น งานแต่ง งานบุญฯลฯ และตลาดต่างประเทศ โดย จ.พัทลุงมีการส่งไปยังไต้หวันปริมาณมาก จากเดิมส่งออกไปประเทศเมียนมา และอินเดีย ฯลฯ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า หมากถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 2,029.17 ล้านบาท ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 2,286.41 ล้านบาท ปี 2564 (ม.ค.-ต.ค. 64) เพียงช่วง 10 เดือน ตลาดส่งออกเติบโตสูงกว่าเท่าตัว มีมูลค่า 4,714.18 ล้านบาท

โดยประเทศที่ส่งออกหมาก 15 อันดับแรกของไทย ได้แก่ 1.เมียนมา 2.บังกลาเทศ 3.เวียดนาม 4.ซาอุดีอาระเบีย 5.สหราชอาณาจักร 6.อินเดีย 7.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 8.เยเมน 9.จีน 10.สหรัฐอเมริกา 11.ไต้หวัน 12.โอมาน 13.มัลดีฟส์ 14.ลาว และ15.เดนมาร์ก

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี ระบุว่า แรงงานอินเดียยังนิยมบริโภคหมาก และในเชิงธุรกิจ ใช้หมากเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย ทำยารักษาโรค

รวมถึงการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร คือ นำไปสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยางและสารอัลคาลอยด์ ชื่อ ARECOLINE มีแทนนินสูง สามารถใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีต่าง ๆ ใช้ย้อมแหและอวน ซึ่งทำให้นิ่มและอ่อนตัวและยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว


นอกจากนี้ สามารถใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คันน้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น