คนไทยอ่วม “หมู” แพงข้ามปี ต้นทุนพุ่ง-โรคระบาดทุบซ้ำ

หมู

วงการปศุสัตว์ระส่ำ ผู้เลี้ยงหมูอ่วมเจอโรคระบาดตายยกฟาร์ม หวั่นแจ็กพอต “ASF” อหิวาต์แอฟริกันในสุกร แม่พันธุ์ 1.2 ล้านตัวลดวูบ 40% กระทบอุตสาหกรรมการเลี้ยงทั้งระบบสูญแล้ว 2 แสนล้าน แถมต้นทุน “วัตถุดิบอาหารสัตว์-ยา-เวชภัณฑ์” พุ่ง ชี้คนไทยต้องบริโภคหมูแพงข้ามปี ราคาจ่อ กก.ละ 200 บาท

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้วงการปศุสัตว์ไทยกำลังเผชิญวิกฤตทั้งปัญหาโรคระบาดทำให้หมูลดลง 40% ผู้เลี้ยงหมูต่างวิตกกังวลว่าสาเหตุของการตายมาจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ขณะที่การเลี้ยงไก่ปีนี้ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H5N8 ในฟาร์มไก่เนื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน และฟาร์มไก่ไข่บางส่วนที่ฉีดวัคซีนไม่ดีพอ รวมถึงโรคลัมปิสกินในโคเนื้อที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในแถบภาคกลาง

หมูราคาพุ่ง กก.ละ 200 บาท

“ปีนี้หนักทั้งหมู และไก่ แต่หมูหนักสุดหายไปจากระบบ 40% หรือ 1.2 ล้านแม่ ทำให้ราคาเนื้อหมูจึงอาจทะลุ 200 บาท/กก. เนื่องจากเกษตรกรรายย่อย 2 แสนรายหายไปหมดแล้ว เหลือแต่รายใหญ่ โชคดีที่โรค ASF ไม่ติดคน ส่วนไก่น่าเป็นห่วงเรื่องไข้หวัดนก เพราะเป็นโรคที่ติดต่อสู่คนได้ แต่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องบอกยังควบคุมโรคได้อยู่ ไม่รุนแรง เพราะเกรงจะกระทบต่อการส่งออก”

นายพิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบหนัก กรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประกาศให้ชัดเจนว่า เป็นโรคระบาด ABCD หรือ ASF เพราะโรคระบาดแพร่เข้ามาในไทยแล้ว ทำให้อุตสาหกรรมเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท

โอด “อาหารสัตว์-ยา” แพง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาต้นทุน วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การเลี้ยงที่ต้องลงทุนทำระบบไบโอราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนคนเลี้ยงหมูเฉลี่ยอยู่ที่ 80 บาท/กก. แต่ขายได้ 75-85 บาท/กก.

กระทุ้งรัฐเร่งแก้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา 1.เยียวยากับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ประสบปัญหา พบการระบาดของโรคก็ต้องทำลาย ฝังกลบ และจ่ายเงินชดเชย 2.มีวิธีแก้ไขที่ถูกต้องชัดเจน โดยให้เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอชี้แจงทำความเข้าใจให้กับผู้เลี้ยง 3.กรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์ ต้องร่วมมือแก้ไขปัญหา ให้ปริมาณหมูกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลโดยเร็ว 4.สนับสนุนให้มีการศึกษา ทดลองการใช้วัคซีน

“ถ้าไทยยังไม่แก้ไขปัญหา โอกาสราคาหมูจะยิ่งพุ่งสูงขึ้น”

ผู้เลี้ยงหายจากระบบ 70%

ด้านนายพัฒนพงศ์ การุณยศิริ เจ้าของบริษัท การุณ ฟาร์ม จำกัด ผู้เลี้ยงสุกร จ.สิงห์บุรี เปิดเผยว่า ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากโรคระบาด ASF ซึ่งร้ายแรง ไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษา ส่งผลให้แม่หมูที่เลี้ยงอยู่ 2,000 แม่ ตายหมดแล้ว ที่กรมปศุสัตว์ไม่ยอมรับว่าไทยมีโรค ASF ส่งผลกระทบทำให้ผู้เลี้ยงสุกรเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และคนไทยอาจต้องบริโภคหมูกิโลกรัมละ 300 บาท เนื่องจากหมูตายเกือบหมดประเทศ เหลือเพียงผู้เลี้ยงรายใหญ่ ผู้เลี้ยงทั้งระบบน่าจะหายไป 70% แล้ว

นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด เปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า สหกรณ์มีสมาชิกผู้เลี้ยงหมูรวม 130 ฟาร์ม มีแม่หมู 6,000 แม่ ปัจจุบันโดนโรคระบาดเหลืออยู่ไม่ถึง 10 ฟาร์ม มีแม่หมูรวมกันไม่ถึง 1,000 ตัว

เช่นเดียวกับ นายยุทธนา นวมนิ่ม เจ้าของฟาร์มสมยศ ต.หนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยจังหวัดราชบุรี ที่ระบุว่าปัจจุบันฟาร์มได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ASF อย่างมาก ตนเองเลี้ยงหมูอยู่ 200 ตัว แบ่งเป็นแม่หมู 50 ตัว หมูขุน 150 ตัว เลี้ยงหมูมากว่า 20 ปี ตอนนี้เหลือแม่หมูอยู่ 6 ตัว เสียหายกว่าล้านบาทแล้ว

ปศุสัตว์ลุยแก้โรค

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีทั้งแผนการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำในสัตว์เลี้ยง ฟาร์มเลี้ยงมาโดยตลอด

โดยปีนี้เราสามารถควบคุมการระบาดโรคลัมปิสกินในวัว คาดว่าจะหยุดการระบาดได้ในปีนี้แน่นอน

ขณะเดียวกันกาฬโรคในม้า ไม่พบการระบาดมากว่า 1 ปีแล้ว จะสามารถคืนสถานะได้ในปี 2566

ส่วนประเด็นหมูแพงต้องยอมรับว่า 1.ปีนี้ราคาอาหารสัตว์สูงมากเป็นประวัติการณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและไก่ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น 20-30% ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนหลัก 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ และยังมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานปลายทางคือราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจผู้เลี้ยง และกรมก็มีการช่วยเหลือให้นำข้าวเปลือก หรือข้าวแดงราคาถูกมาบด ประยุกต์ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอัตราที่เหมาะสม

ในขณะเดียวกันทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการควบคุมราคาอยู่ และโครงการต่าง ๆ เพื่อดูแลราคาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 2.ในนามปศุสัตว์สิ่งหนึ่งที่จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนั้นคือต้องเร่งรัดยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งตามที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เห็นชอบกำหนดให้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวนเป็นมาตรฐานบังคับ

ขณะนี้นั้นอยู่ระหว่างรวบรวมสรุป ซึ่งมีฟาร์มเข้าร่วม 4,531 ฟาร์ม ที่จะเข้าเกณฑ์มาตรฐานบังคับ นับเป็นร้อยละ 61.9 จากจำนวนฟาร์มสุกรทั้งหมดที่จะต้องเข้าสู่มาตรฐานบังคับรวม 7,314 ฟาร์ม หลังจากนั้นจึงแจ้งเวียนหนังสือต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยคาดว่าจะมีผลบังคับเร็วสุดคือกลางปีหน้า 2565

“ขณะนี้มีฟาร์มหมูขอบข่ายบังคับเข้าร่วมเพียงแค่ร้อยละ 40% ถือว่ายังน้อยกว่าเป้า กรมเองก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง เรื่องมาตรฐานสำคัญมาก ๆ อย่างฟาร์มหมูปัจจุบันมีทั้งโรคเพิร์ส หรือพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ซึ่งมีมาหลายปีแล้ว เราก็มีมาตรการเต็มที่ และเพื่อป้องกันโรคอหิวาห์หมู หรือ ASF ให้รัดกุมที่สุดเช่นกัน”

ข้อสุดท้าย กรมปศุสัตว์ต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวด ในการเฝ้าระวังตามแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกัน โดยเฉพาะการลักลอบนำสัตว์เข้ามาในไทย และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในฟาร์มที่เกิดการระบาดของโรคออกนอกพื้นที่