ปลัด สธ.บินด่วนลงภูเก็ต จี้คุมโควิด ชง ศบค.ระงับ Test & Go ถึง 31 ม.ค.

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ปลัด สธ. กำชับ จ.ภูเก็ต ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ใกล้ชิด ให้เตรียมเตียง-ยารองรับ เน้นจัดระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน เตรียมเสนอ ศบค.ระงับลงทะเบียน Test & GO ถึง 31 ม.ค. 65

วันที่ 6 มกราคม 2565 ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมรับฟังสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามระบบ Sandbox และระบบ Test & GO จากตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน จ.ภูเก็ต

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่เริ่มพบสัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวและที่ทำงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข เร่งสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ขอให้ประชาชนกลับจากต่างจังหวัดให้เฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างน้อย 14 วัน และ WFH ในสัปดาห์แรกพร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน

โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะนานกว่า 4 ชั่วโมง หรือไปในสถานที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก และได้แจ้ง คกก.โรคติดต่อจังหวัด ในพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เน้นบังคับใช้กฎหมายกรณีพบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงกับการดื่มสุราในร้านอาหารกึ่งผับ รวมทั้งร้านที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting มีผู้ใช้บริการแออัด ขาดการควบคุมกำกับของเจ้าของร้าน

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเตือนภัยประชาชนจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ซึ่งจะมีมาตรการตามมา เช่น การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เพิ่มมาตรการต่าง ๆ ให้ปลอดภัยในสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด การจำกัดจำนวนการรวมกลุ่ม งดกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค และเน้น 4 มาตรการเปิดประเทศ V-U-C-A ได้แก่

1. Vaccine ฉีดครบ ลดป่วยหนัก

2. Universal Prevention ป้องกันตนเองตลอดเวลา สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง

3. Covid Free Setting Area, District, Community สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ 4.ATK (Antigen test kit) พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้ชิด คนติดเชื้อ/มีอาการทางเดินหายใจ

ขณะที่ จ.ภูเก็ตเริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ และเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 150 รายต่อวัน ส่วนใหญ่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย ทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน รวมถึงผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยว โดยผู้ติดเชื้อร้อยละ 98 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเล็กน้อย และไม่พบผู้เสียชีวิตมากว่า 2 สัปดาห์

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้กำชับให้ติดตามประเมินสถานการณ์การติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากร

ทั้งด้านเตียง ยาและเวชภัณฑ์รองรับ โดยให้เน้นการจัดระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (Home Isolation : HI / Community Isolation : CI) เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย พร้อมมีระบบติดตามอาการ และสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ติดเชื้อและครอบครัว

ทั้งนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับการรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง รวมถึงให้บริการผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ได้ให้เพิ่มการจัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด รวมทั้งจะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ให้มีการปรับพื้นที่สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วประเทศ มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มข้นมากขึ้น ส่วนพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวยังคงไว้ตามเดิม แต่ให้ระงับการลงทะเบียนระบบ Test & GO ต่อไปจนถึง 31 มกราคม 2565