เบื้องหลัง ทีมเล็บเหยี่ยว-สายลับ ตรวจ 258 ล้งทุเรียนอ่อน สกัดโควิด

ชลธี นุ่มหนู

“ปัญหาทุเรียนอ่อน” เป็นปัญหาสืบเนื่องมาร่วม 30 ปีที่ใคร ๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แก้ยาก แก้ไม่ได้ แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เมื่อการส่งออกทุเรียนสร้างรายได้ให้ประเทศนับแสนล้านบาท ในปี 2564 “ชลธี นุ่มหนู” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) ได้ก่อตั้งชุดปฏิบัติการ “ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร” ขึ้นมาลุยตรวจจับแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างจริงจัง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ชลธี” หัวหน้าทีมพญาเหยี่ยว ถึงเบื้องหลังการทำงานที่ประสบความสำเร็จท่ามกลางปัญหาอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

ทีมเล็บเหยี่ยวกรมวิชาการเกษตร

“ชลธี” เล่าว่า เมื่อย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวพ.6 ช่วงเดือนเมษายน 2563 ปัญหาทุเรียนอ่อนหนักกว่าทุกปี ถือเป็นปัญหาใหญ่ ทำลายตลาด เมื่อหมดฤดูกาลจึงนัดหารือทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บางคนมองว่าไม่มีทางแก้ได้ เพราะมีมานานร่วม 30 ปี และได้ข้อสรุปว่า ทุเรียนอ่อนเกิดจากบุคคล 3 กลุ่ม คือ เจ้าของสวน ล้ง มือตัด ต่างโยนกันไปโยนกันมา

ในที่สุด ประสาทพร ศรีสกุลเดช รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียน ได้เสนอแนวทางแก้ไขกำหนดวันตัดทุเรียน แต่ละสายพันธุ์เพื่อไม่ให้ตัดทุเรียนอ่อน จากนั้น นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รับลูกส่งต่อให้อัยการ และตำรวจช่วยกันเรื่องกฎหมายและออกคำสั่งกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน จ.จันทบุรี ต่อมา จ.ระยอง จ.ตราด มีคำสั่งเช่นเดียวกัน

โดยกำหนดให้ผู้ตัดทุเรียนก่อนกำหนดแจ้งเจ้าหน้าที่และตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้งให้ได้ตามมาตรฐาน เมื่อมีกฎหมายรองรับ จึงมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในภาคตะวันออกอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้ชื่อ “ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร” ซึ่งชื่อทีมมาจากทุเรียนพันธุ์ “กบเล็บเหยี่ยว” ที่มีหนามแหลมคม แต่ตัดชื่อ กบ ออกไป เพื่อให้ดูน่าเกรงขาม

ทีมงานประกอบด้วย สวพ.6 ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ปฏบัติงานครอบคลุม 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี และตราด ภารกิจคือ ตรวจสอบความอ่อนแก่ของทุเรียนทุกตู้ หรือทุกชิปเมนต์ที่ส่งออกตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด

ภารกิจหนักตรวจ 258 ล้งส่งออก

“เราปฏิบัติงานผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่เริ่มฤดูกาลทุเรียนถึงวันสิ้นสุดเก็บเกี่ยว (24 เม.ย. 65) มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและความอ่อนแก่ทุเรียนทุกโรงคัดบรรจุ (ล้ง) 258 แห่งที่ส่งออก เป็นภารกิจที่หนักและเหนื่อยมาก”

หลักเกณฑ์ใช้สุ่มตรวจคือ สุ่มเลือกลูกที่ 1 ถ้าทดสอบเปอร์เซ็นต์เนื้อได้ตามมาตรฐาน ถือว่าผ่าน ถ้าอ่อน เลือกลูกที่ 2 ตรวจวัดผ่านให้เจ้าของล้งคัดทุเรียนอ่อนออก และทดสอบลูกที่ 3 ถ้าไม่ผ่านคืออ่อน ถ้าอ่อนเกิน 10% ฝ่ายปกครองจะแจ้งความดำเนินคดี แล้วถูกพ่นสีห้ามนำไปขายหรือแปรรูป ต้องทำลายทิ้ง

ชุดปฏิบัติการแบ่งเป็น 2 ชุด คือ 1) ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร ที่เป็นน้อง ๆ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนใน สพว.6 ที่ผ่านการอบรมและแบ่งสายกันทำงาน 2) ชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และมีทีมอาสาสมัครตรวจสอบทุเรียน (อตท.) ที่เป็นจิตอาสาเครือข่ายภาคประชาชนร่วม 70 คน

เมื่อได้รับแจ้งจาก “สายลับ” ให้ไปตรวจล้งที่น่าสงสัยว่าจะมีทุเรียนอ่อน ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติ ชุดปฏิบัติการทีมเล็บเหยี่ยวน้อง ๆ จะเข้าไปก่อน แต่ถ้าสถานการณ์ตึงเครียดให้ถอนตัวออก ทีมพญาเหยี่ยวระดับผู้อำนวยการ ผอ.กลุ่มจะเข้าไปตรวจสอบแทน ถ้ายังมีปัญหาอีกจะเรียกชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครองมาช่วย

“ชลธี” บอกว่า เคสแรง ๆ ที่พบเคสแรกเดือดระอุ เมื่อทีมเล็บเหยี่ยวเข้าตรวจสอบในล้งพบทุเรียนหมอนทองอ่อน 2 ครั้ง (% เนื้อแห้งต่ำกว่า 32%) ลูกแรกวัดได้ 29% ลูกที่ 2 วัดได้ 28% จึงขอให้ล้งคัดแยกทุเรียนอ่อน แต่เจ้าของล้งไม่ยอมรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ความร่วมมือ แถมเอารถมาจอดปิดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ออกจากล้ง

ทีมพญาเหยี่ยวจึงรีบไปรับงานต่อและแจ้งชุดปกครอง ขอให้ล้งเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ชุดแรก ได้วัดเปอร์เซ็นต์แป้งซ้ำจากลูกเดิม เพราะเจ้าของล้งไม่เชื่อผลการตรวจวัด ผลวัด 29% เท่าเดิม และวัดทุเรียนที่กองอยู่ที่ล้งแจ้งว่าคัดแล้วอีกลูก เปอร์เซ็นต์เนื้อแห้งได้ 27% จึงให้ล้งคัดใหม่และตรวจหลายรอบ สรุปผลตรวจทั้งหมด 6 ลูกอ่อน จึงเข้าตรวจยึดทุเรียนอ่อนจำนวน 1,908 กก. และชุดฝ่ายปกครองได้แจ้งความดำเนินคดี

อีกเคสเป็นการตรวจพบทุเรียนอ่อนลอตใหญ่ที่สุดของปีนี้ ล้งทำผิดกติกาแพ็กทุเรียน 960 กล่อง ขึ้นตู้ไม่รอตรวจ สั่งรื้อตู้ลงมาสุ่มตรวจ 200 กล่อง พบทุเรียนอ่อนปะปนอยู่มาก จึงให้ล้งคัดออกและสุ่มตรวจอีกครั้งพบว่าอ่อน ต้องให้นำทุเรียนออกจากตู้ทั้งหมด และคัดแยกทุเรียนอ่อนออกเป็นครั้งที่ 3 ในล้งมีทุเรียนกองอยู่ 5 ตัน สุ่มตรวจพบทุเรียนอ่อนล้งมากกว่า 3 ตัน เมื่อรวมกับที่อยู่ในตู้พบทุเรียนอ่อนถึง 4,847 กก. ซึ่งเจ้าของล้งให้ความร่วมมือดีและยอมรับข้อผิดพลาด

“เกือบ 3 เดือน ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร ทำงานอย่างทุ่มเท ต้องตรวจทุเรียนทุกตู้ ออกตรวจกันตั้งแต่เช้า กลับบ้าน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ได้รับทั้งเสียงก่นด่าและคำชื่นชม หลายครั้งที่จับกุมคนที่ทำผิด เสียผลประโยชน์ โทร.มาต่อว่า อ้างผู้ใหญ่ขออะลุ้มอล่วย คณะทำงาน ชุดปฏิบัติการที่ตั้งกันขึ้นมาให้ปฏิบัติตามหน้าที่ ถ้าละเลยเลือกปฏิบัติ สิ่งที่เราพยายามทำกันมาก็ไม่มีความหมาย หาความชอบธรรมไม่ได้ ทุกอย่างพังหมด

2 ปีที่ทำงานอย่างหนัก เรามีทีมงานที่ดี ปี 2565 ทุเรียนอ่อนน้อยลง คุณภาพทุเรียนไทยที่ตลาดปลายทางได้รับคำชื่นชมราคามีเสถียรภาพขึ้นลงตามกลไกตลาด ไม่มีทุเรียนอ่อนป่วนตลาด ที่ทำให้พ่อค้าคนกลางใช้เป็นข้ออ้างกดราคา สุดท้ายผลประโยชน์กลับมาสู่เกษตรกร อนาคตลูกหลานชาวสวนทุเรียนระยอง จันทบุรี ตราด จะมีอาชีพที่มั่นคง”

หลังสิ้นสุดวันประกาศเก็บเกี่ยว ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร ยังสุ่มตรวจอยู่ เพื่อควบคุมคุณภาพให้จบฤดูกาล การตรวจสอบโรงคัดบรรจุ แบ่งเป็น 3 สี (ประเภท) คือ สีเขียวจำนวน 176 ล้ง ไม่พบทุเรียนอ่อน วางใจได้สีเหลือง 50 ล้ง พบทุเรียนอ่อนบ้าง ต้องเฝ้าระวังตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และล้งสีแดง จำนวน 32 ล้ง พบทุเรียนอ่อนบ่อยเคยถูกดำเนินคดี ตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ ล้งส่วนใหญ่ทำคุณภาพต้องการรักษาแบรนด์ มีจำนวนน้อยที่หวังทำกำไรระยะสั้น ไม่สนใจคุณภาพ

เพิ่มงานตรวจโควิดปนเปื้อน

ปัญหาการตรวจโควิดเข้มงวดของจีน ที่ต้องเป็น Zero COVID เดือนเมษายน 2565 จีนแจ้งเตือนระงับการส่งออกชั่วคราว 2 ครั้ง จำนวน 10 ล้ง ทีมเล็บเหยี่ยวกรมวิชาการเกษตร แท็กทีมร่วมกับด่านตรวจพืชจันทบุรี ฝ่ายปกครอง เกษตรอำเภอ และสาธารณสุขอำเภอ เปลี่ยนภารกิจจากตรวจทุเรียนอ่อน เป็นตรวจเชื้อโควิด-19 เพราะจุดที่จีนตรวจพบเชื้อปนเปื้อนคือ ผลทุเรียน บรรจุภัณฑ์และรถขนส่ง ผลการสอบทวนสรุปได้ว่า ล้งจำนวนมากยังบกพร่องในมาตรการป้องกันโควิด-19 และยังพบผู้ติดเชื้อในโรงคัดบรรจุ


สำหรับปริมาณทุเรียนภาคตะวันออกปีนี้ 740,000 ตัน ส่งออกไปแล้ว 120,000 ตัน หรือ 15% ยังเหลืออยู่อีกมากขณะที่จีนยังเข้มงวด Zero COVID แต่ไทยจะผ่อนปรนประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งอาจทำให้ขาดความระมัดระวังและติดเชื้อมากขึ้น โอกาสที่จะถูกระงับการนำเข้ามีสูงทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง