“พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” เคว้ง ธนารักษ์ไม่เพิ่มสิทธิ SEZ ตราด

เขตศก.พิเศษตราด

ธนารักษ์ยันไม่สามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์เทียบเท่า EEC ให้ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด” ของ “บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” ได้ เหตุมีกฎหมายไม่เหมือนกัน

นายสมมาตร มณีหยัน รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด (SEZ) กรณีที่บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูลโครงการมีการยื่นขอสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีกฎหมายไม่เหมือนกัน ซึ่งก่อนการประมูลทางบริษัททราบเงื่อนไขอยู่แล้ว

ส่วนความคืบหน้าด้านการลงทุนของแต่ละโครงการในพื้นที่ต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 2,900 ไร่ ที่ยังติดปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่อยู่ประมาณ 900 ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดไฮไลต์ในการก่อสร้างอาคาร ถนน ทางบริษัทที่ชนะการประมูลก็อยากให้ทางกรมส่งมอบพื้นที่ให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน ซึ่งก็ผิดหลักเกณฑ์ทางกรม

“ตอนนี้พื้นที่ที่ติดปัญหาทางกรมก็พยายามดำเนินการตามกฎหมายอยู่ ซึ่งต้องรีบดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2566 เพราะถ้าหากดำเนินการไม่สำเร็จกรมจะโดนฟ้อง เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลจ่ายค่าธรรมเนียมให้เช่าครบตามจำนวนแล้ว พื้นที่ชาวบ้านบางส่วนที่เข้าไปซื้อสิทธิต่อจากผู้อยู่อาศัยเดิมเขามองว่าผลประโยชน์ที่ภาครัฐจ่ายให้ไม่เพียงพอ”

นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสขึ้นอีก 1 แห่ง ขณะเดียวกันยังติดปัญหาเรื่องจัดตั้งงบประมาณการซื้อที่ดิน เพราะเป็นพื้นที่เอกชนซึ่งแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ โดยมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ งบประมาณ 300 กว่าล้าน

ในส่วนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ที่ผ่านมา บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ได้เซ็นสัญญากับกรมธนารักษ์เช่าที่ดินราชพัสดุ 895 ไร่ 44 ตารางวา อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 เสนอทำโครงการ GOLDEN GATEWAY เปิดประตูการค้าและท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค มูลค่า 3,000 ล้านบาท และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 บริษัทยื่นเรื่องขอเพิ่มสิทธิประโยชน์เทียบเท่า EEC พร้อมขอปรับแผนลงทุน จึงยังไม่ได้พัฒนาพื้นที่ แต่จ่ายค่าเช่าตามสัญญา

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องที่บริษัทยื่นขอปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอขยายเวลาสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% จาก 10 ปี เป็น 20 ปี หรือปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 0% ใน 10 ปีแรก 2.ขอสิทธิพิจารณาเป็นรายแรกในการต่อสัญญาเช่าพื้นที่โครงการอีก 50 ปี 3.ขอยกเลิกเงื่อนไขสิ้นสุดการเช่า ข้อ 19 ที่ต้องรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างปรับสภาพดินภายใน 30 วัน

4.ขอรับสิทธิสนับสนุนการก่อสร้างสนามบินนานาชาติ หรือท่าเทียบเรือท่องเที่ยวแห่งใหม่ 5.พื้นที่โครงการ ความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงและจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับโครงการ 6.ขอผ่อนผันค่าเช่าที่ดิน 7.ขอสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เขตไฟเบอร์ออปติก และวางผังเมืองให้สอดคล้องกับแนวพัฒนาโครงการ