ตลาด “เนื้อจระเข้” ฟื้น อานิสงส์หมูแพง-ดันส่งจีน-ฮ่องกง

ตลาดจระเข้

การค้าจระเข้นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ซึมต่อเนื่องเพราะพิษโควิด-19 ผู้ประกอบการชะลอการเลี้ยงเพิ่ม เพราะลูกค้าหลักชาวจีนหาย ส่งออกยาก แม้หันมาทำตลาดภายในประเทศ แต่ไม่สามารถทดแทนกันได้ กระทั่งเนื้อหมูแพง 200 บาท/กก. คนหันสนใจบริโภคเนื้อจระเข้ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งราคาถูกกว่า ทำให้ตลาดเนื้อจระเข้กระเตื้องขึ้นมา

ฟาร์ม จ.ลำพูนโอดราคาตก

“ณัฐพากย์ คำกาศ” เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ณัฐพากย์ฟู้ด ผู้ผลิตแปรรูปเนื้อจระเข้ จังหวัดลำพูน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดค้าจระเข้ซบเซา และราคาซื้อขายตกลงไปมาก เริ่มตั้งแต่การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ มาถึงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนหายไป และเป็นตัวเร่งทำให้ตลาดค้าจระเข้แย่ลงเรื่อย ๆ โดยจระเข้ขนาดมาตรฐานที่นิยมซื้อขายความยาวที่ 1.80 เมตร อายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักเฉลี่ย 30 กิโลกรัม/ตัว ราคาขายปกติ 7,000-10,000 บาท/ตัว ลดลงมาเหลือเพียง 400-1,000 บาท/ตัว

“ฟาร์มที่ขายจระเข้ในช่วงโควิด-19 ไม่มีใครได้กำไรเลย เพราะต้นทุนในการเลี้ยงสูงสวนทางกับราคาขาย เริ่มตั้งแต่ซื้อลูกพันธุ์ราคา 1,000-2,000 บาท/ตัว ก็ขาดทุนแล้ว ไม่นับรวมกับค่าอาหารอีก ถ้าครบอายุขายแล้วไม่ขายก็จะต้องเพิ่มต้นทุนการเลี้ยงและขาดทุนไปเรื่อย ๆ คนที่ทำธุรกิจนี้อยู่ได้เพราะการแปรรูป ส่วนคนที่เลี้ยงแล้วขายอย่างเดียวจะขาดทุนสูงมาก”

ทั้งนี้ ณัฐพากย์ฟู้ดเพาะพันธุ์จระเข้ เลี้ยง แปรรูป และส่งขายเองด้วย โดยการแปรรูปถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอด เพราะราคาขายส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยยังประคองตัวไปได้ กระดูกอ่อนหรือกระดูกชายโครง ราคาขายที่ 100 บาท/กก. เศษเนื้อเหลือจากการตัดแต่งเนื้อชิ้นใหญ่ราคา 120 บาท/กก. เนื้อลำตัว 180 บาท/กก. ส่วนเนื้อบ้องตันหรือเนื้อบริเวณเส้นกล้ามเนื้อโคนขา เทียบได้กับสันในวัวราคา 230 บาท/กก. ซึ่งราคานี้ฟาร์มตั้งราคาขายด้วยตัวเอง ไม่ใช่ราคาทั่วไปตามท้องตลาดที่อาจจะแพงกว่าหรือต่ำกว่า

“เรามีผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้สดตัดแต่ง เนื้อแปรรูปสำเร็จรูป เช่น เนื้อจระเข้ปรุงรสผัดพริกไทยดำ ส่งขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นในเชียงใหม่ ส่งไป สปป.ลาว เล็กน้อย และผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์ มีซากอย่างกะโหลกส่งออกไปโซนยุโรปอีกราคา 1,000-2,000 บาท/ตัว”

“นอกจากนี้ยังทำจระเข้หันต่อเนื่องมาตั้งแต่บุกเบิกตลาดเมื่อ 8-9 ปีที่ผ่านมา ขนาดธุรกิจยังถือว่าเล็กมาก เป็นฟาร์มจระเข้ขนาดเล็กรายย่อยเลี้ยงจระเข้อยู่ประมาณ 300 ตัว ได้ลูกเพิ่มทุกปี แต่ก็ขายออกไปเรื่อย ๆ ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้อยากได้ลูกจระเข้เพิ่มขึ้นสัก 800-1,000 ตัว พร้อมพัฒนามาตรฐานฟาร์มให้ดีเพื่อให้สามารถส่งออกเนื้อจระเข้ได้ในอนาคต”

“ณัฐพากย์” บอกว่า ก่อนเกิดโควิด-19 สัดส่วนทางการตลาดของณัฐพากย์ฟู้ดจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 80% คนไทยเพียง 20% แต่ปัจจุบันเมื่อนักท่องเที่ยวจีนหายไปก็หันมาทำตลาดในประเทศเกือบ 70% โดยรับอานิสงส์จากราคาเนื้อหมูแพง ทำให้คนไทยหันมาสนใจเนื้อจระเข้เพิ่มขึ้น ราคาเนื้อจระเข้จึงกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ส่วนที่เหลืออีก 30% คือส่งออกเนื้ออบแห้ง และเนื้อแปรรูปไปขายฮ่องกง จีน

“ตลาดเนื้อจระเข้ถ้าเทียบกับตลาดเนื้อหมูถือว่าสัดส่วนยังน้อยมาก แม้ว่าคนไทยจะเปิดใจกินมากขึ้น แต่เรายังคาดหวังว่าลูกค้าจีน ฮ่องกง จะเป็นพระเอกกลับเข้ามาได้อีกครั้ง เพราะไม่สามารถดึงลูกค้าต่างชาติกลุ่มอื่นได้อีกแล้ว อย่างฝรั่งอเมริกาก็ไม่นิยมการกินเนื้อจระเข้”

ใต้หวังฟื้นตัวปลายปี’65

ด้าน “วิเชียร รัตนกาญจน์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทรายขาวเลี้ยงจระเข้ขุน จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด เนื้อจระเข้ราคาตกมากจนทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้เลี้ยงจระเข้ชะลอการเลี้ยงเพิ่มมานานกว่า 3 ปีแล้ว โดยการซื้อขายจระเข้มีชีวิตจะใช้การวัดขนาดรอบอกราคา 145 บาท/เซนติเมตร เฉลี่ยราคาประมาณ 8,700 บาท/ตัว

ส่วนราคาจระเข้ชำแหละแบ่งเป็น เศษเนื้อราคา 100 บาท/กก. ซี่โครงอ่อน 140 บาท เนื้อสันนอก 200 บาท/กก. เนื้อหาง 250 บาท/กก. เนื้อบ้องตัน 400 บาท/กก. และอุ้งมือ-ตีน 700 บาท/กก. ขณะเดียวกันราคาเนื้อจระเข้ที่ส่งขายต่างประเทศจะเฉลี่ยราคา 145 บาท/กก.

“ปกติเนื้อจระเข้สดราคาเฉลี่ยทั้งหมดประมาณ 400 บาท/กก. เมื่อราคาตกมาเหลือประมาณ 140 บาท/กก. ทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามลำดับไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ หลายคนหันมากินเนื้อจระเข้แทนเนื้อหมูที่ราคาแพงขึ้น ฟาร์มใหญ่ที่ส่งออกไม่ได้เพราะติดสถานการณ์โควิด-19 ก็หันมาทำการตลาดภายในประเทศมากขึ้น โดยแปรรูปขายเป็นผลิตภัณฑ์จระเข้เนื้อย่าง จระเข้อบแห้ง จระเข้ลูกชิ้น จระเข้แหนม”

สำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านทรายขาวจะเลี้ยงจระเข้ขายอยู่ 2 รูปแบบ คือขายเนื้อและหนัง ราคาที่ขายทั้งเนื้อและหนังในบ่อรวมส่วนใหญ่ที่ผิวมักมีตำหนิและเป็นแผล ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท/ตัว ถ้าเลี้ยงเดี่ยวในบ่อตัวเดียวจะเป็นจระเข้เกรดเอ ราคา 8,000-10,000 บาท/ตัว ตลาดหลักส่งออกไปจีน ถัดมาเป็นเกาหลี และญี่ปุ่น และลูกค้าอยู่ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (EU)

“วิเชียร” บอกว่า พอเกิดโควิด-19 ผู้ประกอบการหลายรายลดจำนวนการเลี้ยงลง ภาคใต้เคยมีการเลี้ยงจระเข้ประมาณ 20,000 ตัว ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 15,000 ตัว ส่วนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทรายข้าวมีผู้เลี้ยงจำนวน 10 ราย เคยมีจระเข้เลี้ยงรวมกันอยู่ประมาณ 3,500 ตัว ปัจจุบันเหลือเพียง 1,400 ตัวรอที่จะขาย โดยยังไม่มีใครลงทุนใหม่เพราะรอตลาดฟื้นตัวกลับมา

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทรายขาวเคยส่งออกจระเข้คราวละประมาณ 30 ตัว มูลค่ารวม 230,000-250,000 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีกำไรประมาณ 1 แสนบาท มีเงินหมุนเวียนในวิสาหกิจเกือบ 10 ล้านบาท โดยใช้โรงชำแหละตัดแต่งของตัวเอง ซึ่งยังคงเป็นโรงงานขนาดเล็กเชือดได้ประมาณ 500-750 ตัว/เดือน โดยรับชำแหละให้กับผู้เลี้ยงรายอื่นทั่วภาคใต้ด้วย ทั้งสุราษฎร์ธานี กระบี่ สตูล พัทลุง และสงขลา ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำเงินได้ถึงขนาดนั้น แต่สถานการณ์กำลังฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นแล้ว 40% คาดว่าสิ้นปีนี้สถานการณ์จะดีขึ้น 70% ซึ่งถือว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก”